27 พฤษภาคม 2562 นางจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง กรมการข้าว กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนถือว่ามีความเจริญเติบโตมากและเป็น smart farmer อย่างแท้จริง แม้ในพื้นที่ ต.เชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จะมีผืนนาไม่มาก
แขนขากรมการข้าว
แต่มีศูนย์ข้าวชุมชนที่ผลิตพันธุ์ได้ตรงความต้องการของเกษตรกรและใช้หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์รวมทั้งการปลูกข้าวที่เน้นการตลาดนำการผลิต ทั้งนี้กรมการข้าวไม่สามารถผลิตพันธุ์ข้าวได้ทันต่อความต้องการของเกษตรแต่ให้การสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนที่เปรียบเสมือนเป็นแขนขา อีกทั้งการปลูกข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหาร ทำอย่างไรให้มีข้าวได้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องตระหนัก การที่เรามีผืนนาเพียงน้อยนิดทำอย่างไรจะให้มีมูลค่าซึ่งเกษตรกรได้หันมาทำนาแปลงใหญ่ทำให้การปลูกข้าวในพื้นที่ภาคใต้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์พื้นเมืองและรักษาผืนนาไว้
"บุญชอบ ทองดี"ประธานศูนย์ข้าวชุมชนต.ควนรู อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนถือเป็นหน่วยงานที่ดีและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานหรือด้านอื่น ๆ รวมทั้งมีการต่อยอดของสถาบันการศึกษาโดยเป็นแหล่งวิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการใช้ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นแหล่งอค์ความรู้ ที่จะมีการพูดคุยปรึกษาหารือ ประชุมและวางแผนการผลิต แต่การทำการเกษตรหรือการปลูกข้าวยังมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามถือว่าศูนย์ข้าวชุมชนเป็นศูนย์กลางต่าง ๆ ในการช่วยเหลือขณะเกิดเหตุการณ์หลายอย่างเช่นน้ำท่วม สึนามิ ได้รวมกลุ่มและส่งข้าวไปช่วยเหลือ พร้อมกันนี้ตนได้นำเอาความรู้ที่ได้อบรมจากกรมการข้าวหรือจากที่ต่าง ๆ มาถ่ายทอดและเป็นวิทยากรให้เกษตรกร อาทิขั้นตอนพัฒนาการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ย รวมทั้งน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติ รวมทั้งการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
"เราจะดูว่าตลาดต้องการข้าวแบบไหน เช่นการปลูกข้าวพื้นนุ่มแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวให้เหมาะสม จะสร้างความมั่นคงให้ตนเอง สร้างความมั่นใจ ทำให้รายได้ดีขึ้น รวมถึงนำซังข้าวไปให้วัวกิน แกลบใช้ในคอดเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุน ให้เครื่องหยอดพันธุ์ข้าวเดิมใช้เมล็ดพันธุข้าว 10 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่แต่ลดลงเหลือ 7 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะนี้ได้ติดต่อประสานงานกับประเทศมาเลย์เซียที่นิยมทานข้าวข้าวแข็งว่าจะให้เราดำเนินการผลิตและส่งข้าวอย่างไร"
ดันข้าวตันละแสน
"สมนึก หนูเงิน" รองประธานศูนย์ข้าวชุมชนต.ควนรู อ.รัตภูมิ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนแห่งนี้แม้จะเป็นที่พึ่งของชาวนาแต่ความเข้มแข็งยังอยู่ในระดับปานกลางเพราะการรวมกลุ่มอยู่ที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ กระนั้นศูนย์ข้าวชุมชนถือว่ามีบทบาทในการส่งเสริมให้ชาวนามีพันธุ์ข้าวที่ดีเพื่อนำไปเพาะปลูกและส่วนมากจะทำนาปีละ 2 ครั้ง แต่ทำนาปีเป็นหลักและทำเพื่อบริโภคแต่หากเหลือจะจำหน่าย อย่างไรก็ตามในอนาคตเราวางเป้าหมายให้ชาวนาขายข้าวได้ ตันละ 100,000 บาท แม้รัฐบาลจะรับประกันที่ตันละ 15,000 บาท แต่กลุ่มวิสาหกิจข้าวบางแห่งสามารถขายได้ตันละ 60,000 บาท ตรงนี้จึงเป็นประเด็นว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถเพิ่มมูลค่าข้าวซึ่งนั่นเราต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการทำข้าวคุณภาพดี ปลอดเคมีและก้าวไปสู่การปลูกข้าวแบบสู่อินทรีย์ โดยที่นี่จะปลูกพันธุ์เล็บนกปัตตานี ทับทิมชุมแพ ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมใบเตย กข 43 เป็นต้นส่วนตลาดข้าวซื้อที่วางจำหน่ายที่เช่นที่โรงสี ออกบูธตามงานอีเวนท์ต่าง ๆ และขายที่ธกส.
ไวน์ข้าวสังข์หยด
"ที่ผ่านมาโดยทั่วไปมีการนำข้าวสารมาแพคใส่ถุงจำหน่ายหรือทำผลิตอื่น ๆ อาจดูเป็นเรื่องปกติแต่เราจะอยากทำให้ข้าวมีคุณภาพและแปรรูปได้อย่างหลากหลาย เพิ่มเติมผลิตภัณฑ์จากข้าวให้เพิ่มมากขึ้น และจะทำนาข้าวอินทรีย์ให้ได้ รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพกระบวนการผลิตตั้งแต่ดิน เมล็ดพันธุ์ข้าว การทำนาแบบแปลงใหญ่ เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงการมองไปยังทำผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่นกลุ่มแม่บ้านได้ใช้แป้งจากข้าวมาทำขนมต่าง ๆ เช่นคุ้กกี้ธัญพืช ขนมเจาะหู ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน ที่มีคุณค่าทางอาหาร รวมถึงไวน์ข้าวสังข์หยด น้ำส้มสายชู้หมัก ที่ม.ทักษิณทำการวิจัย แป้งขนมจีน ม.ศรีวิชัยทำการวิจัย ตลอดจนเครื่องสำอางค์ ขนมขบเคี้ยว ต่าง ๆ
รับซื้อข้าวคืน
"ปัญญา แก้วทอง"ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา กล่าวว่า เกษตรกรที่นี่จะปลูกข้าวหลายสายพันธุ์อาทิ ดอกมะลิ 105 กข.43 ข้าวไรท์เบอร์รี่ ข้าวขาวทั่วไป รวมทั้งการปลูกข้าวอินทรีย์ 12 ไร่ แบบแปลงใหญ่ มีมาตรฐานจีเอพีที่นี่จะเน้นผลิตแปรรูป(ใส่ถุง)จำหน่ายเอง แต่มีข้อจำกัดคือมีโรงสีกำลังการผลิต 1 ตันข้าวเปลือกได้ข้าวสาร 500- 600 กิโลข้าวสาร ซึ่งในอนาคตจะเสนอสร้างโรงสีข้าวขนาด 10 ตัน งบประมาณ 5 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการทำนาที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงไปคือเราต้องการพึ่งพาตนเองรวมทั้งการจำหน่ายผ่านโซเชียล ตลาดชุมชน วัด บริษัทไปรษณีย์ไทย จุดเด่นของที่นี่คือข้าวมีความปลอดภัย รับซื้อคืนหากมีปัญหาข้าวไม่มีคุณภาพเช่นข้าวมีมอด เชื้อรา หากรับประทานไม่หมดแต่ทั้งนี้สามารถทานภายใน 15 วัน เป็นเวลาที่เหมาะสม
โรงสีชุมชนยกระดับรายได้ชาวนา
"โกวิทย์ ทะลิทอง กำนันตำบลเชิงแส อ.กระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ศูนย์ข้าวชุมชนของที่นี่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและข้าวสารเพื่อการบริโภคภายใต้การดำเนินการในรูปแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและศูนย์ข้าวชุมชน(ศพก.)และขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนการทำนาแบบแปลงใหญ่ทำให้ลดต้นทุนแต่ผลผลิตได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งต่อยอดทำนาแบบอินทรีย์ และได้ผ่านระยะเวลาของการปรับเปลี่ยนมาแล้วโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 17 คน แต่ไม่สามารถนำข้าวเปลือกที่ได้มาแปรรูปได้เองต้องพึ่งพาโรงสีนอกพื้นที่ทำให้ถูกกดราคา ส่งผลให้ราคาข้าวสู้ที่่อื่นไม่ได้ จึงอยากให้ชุมชนมีโรงสีหรือธุรกิจของตนเอง
"การทำนาที่นี่จะอาศัยน้ำฝนและทำนาปีนอกเขตชลประทาน และได้ทำนาแบบแปลงใหญ่ให้ชาวบ้านได้รวมตัวเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จากที่ราคาตกต่ำมากกว่ากว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากโรงสีกดราคา ประกอบกับศูนย์ข้าวได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับเกษตรกรทำให้เพิ่มผลิตและบรรจุขายเองเราอยากมีโรงสีเป็นของตนเองเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นแม้ว่าจะไร่นาสวนผสมแต่ราคาไม่ดีเท่ากับการปลูกข้าว"
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 29 พ.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.