นักวิทยาศาสตร์ชี้ การใช้วิธีลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกเราเผชิญอยู่อีกต่อไป
คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษเตรียมก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาหนทางใหม่ ๆ ในการฟื้นฟูสภาพอากาศโลก
ศูนย์วิจัยที่ว่านี้จะศึกษาและทดสอบวิธีการ "สุดขั้ว" ต่าง ๆ เช่น การทำให้ขั้วโลกกลับมาเย็นยะเยือกอีกครั้ง และการดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากชั้นบรรยากาศโลก
ศูนย์เพื่อการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศโลก (Centre for Climate) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Carbon Neutral Futures Initiative ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่มุ่งให้โลกมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นกลางในอนาคต ที่นำโดย ดร.เอมิลี ชัคเบิร์ก ซึ่งถือเป็นศูนย์วิจัยแรกของโลกในด้านนี้ และอาจนำไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล
ศูนย์นี้มีขึ้นจากความวิตกกังวลว่าการใช้วิธีแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งภัยพิบัติ และความเสียหายต่อโลกที่ไม่อาจย้อนกลับคืนมาดังเดิมได้
ศาสตราจารย์ เซอร์ เดวิด คิง อดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการนี้ กล่าวกับบีบีซีว่า
"สิ่งที่เราทำในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของมนุษยชาติในอีก 10,000 ปีข้างหน้า" เขาชี้ว่า ปัจจุบัน "ยังไม่มีศูนย์วิจัยขนาดใหญ่เช่นนี้ในโลกที่มุ่งศึกษาในประเด็นปัญหาใหญ่นี้"
เซอร์ เดวิด ชี้ว่า แนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเช่นนี้เรียกโดยรวมว่า "วิศวกรรมโลก" (Geoengineering) ซึ่งมนุษย์ใช้เทคโนโลยีเข้าแทรกแซงและควบคุมระบบภูมิอากาศของโลกในวงกว้าง เพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในทุกปี
ขณะที่ ดร.ชัคเบิร์ก ภารกิจของโครงการนี้คือการ "แก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำและไม่อาจล้มเหลวได้ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมนักวิทยาศาสตร์ กับทีมวิศวกร และนักสังคมศาสตร์
"นี่คือหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่สุดในยุคของเรา และเรารู้ดีว่าเราต้องแก้ไขมันโดยใช้ความพยายามทั้งหมดที่มีอยู่" ดร.ชัคเบิร์ก กล่าวกับบีบีซี
หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจที่สุดของการทำให้ขั้วโลกหยุดละลายและกลับมาเย็นยะเยือกอีกครั้งคือการทำให้เมฆ "สว่างและสะท้อนแสงได้มากขึ้น"
แนวคิดนี้ทำโดยการสูบน้ำทะเลขึ้นสู่เสากระโดงเรือไร้คนขับ และฉีดพ่นน้ำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วยหัวฉีดพ่นละอองน้ำขนาดเล็ก
วิธีการนี้จะช่วยให้อนุภาคเกลือขนาดจิ๋วถูกฉีดพ่นเข้าสู่เมฆเป็นวงกว้าง และทำให้เมฆสะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สภาพอากาศบริเวณนั้นเย็นลงด้วย
อีกหนึ่งแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage - CCS)
วิธีนี้เป็นการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหรือแก๊ส หรือโรงงานผลิตเหล็ก แล้วกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ดิน
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ สไตริง จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ กำลังพัฒนาโครงการนำร่องในการดักจับและนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ (carbon capture and utilisation - CCU) กับทาทาสตีล บริษัทผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ ซึ่งสามารถรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.สไตริง ระบุว่า โครงการนี้ทำโดยตั้งโรงงานที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งโรงงานเหล็กปล่อยออกมาให้กลายเป็นเชื้อเพลิงโดยใช้ความร้อนที่ได้จากกระบวนการผลิตของโรงงาน
"เรามีแหล่งกำเนิดไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ความร้อน และกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากโรงงาน" ศ.สไตริง กล่าว "เราจะใช้สิ่งเหล่านี้มาผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์"
อีกแนวคิดที่ศูนย์วิจัยแห่งนี้ ตั้งเป้าทดลองก็คือ การทำให้พืชในมหาสมุทรเจริญเติบโตแล้วดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ในการสังเคราะห์แสง
วิธีการนี้ทำโดยการใส่เกลือของเหล็ก (iron salt) ลงสู่ทะเลเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายทะเล
แม้ผลการทดลองในอดีตจะบ่งชี้ว่าวิธีการนี้ไม่ได้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ และอาจรบกวนระบบนิเวศ แต่ศาสตราจารย์คัลลัม โรเบิร์ตส์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ก ระบุว่า วิธีการซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน อาจต้องถูกนำมาพิจารณาและทดลองใช้เป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เสียหายจนไม่อาจหวนคืนสู่สภาพปกติได้ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติรุนแรงเกินกว่าจะยอมรับได้เช่นกัน
แม้แนวคิดแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียและใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ
แต่ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ วอแดมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระบุว่า ควรมีการประเมินอย่างละเอียดเพื่อหาว่าผลเสียที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราสามารถรับมือได้หรือไม่ เพราะเขาเชื่อว่าการใช้วิธีลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โลกเราเผชิญอยู่ แต่เป็นเพียงการชะลอภัยพิบัติให้เกิดขึ้นช้าลงเท่านั้น
"ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหนทางที่จะสามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลก และช่วยลดอุณหภูมิโลกให้กลับคืนสู่ระดับที่เคยเป็นก่อนที่โลกจะเผชิญกับภาวะโลกร้อน" ศ.วอแดมส์ กล่าว
ที่มา : บีบีซีไทย วันที่ 11 พ.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.