รายงาน “ชีวิตจริงเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา”
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 ณ ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก – รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางเครือข่ายเกษตรกรกว่า 200 คนที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา ได้ร่วมจัดเวทีสัมมนาวิชาการ “เกษตรพันธสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด” เพื่อระดมผลการศึกษาจากแง่มุมทางวิชาการ ทั้งทางด้านกฎหมายและผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงจากวิถีชีวิตของเกษตรกร ที่เกิดภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธะสัญญา
ประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงคือ “ชีวิตจริงเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญา” ซึ่งสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตเกษตรกรผู้เข้าร่วมการผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา โดยคุณโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจังหวัดเชียงใหม่, คุณทองเจือ เขียวทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ จังหวัดลพบุรี, คุณพันธ์ จันทรัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จังหวัดกาฬสินธุ์, คุณสันต์ ละครพล เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง จังหวัดมหาสารคาม
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดเชียงใหม่ คุณโชคสกุล มหาค้ารุ่ง กล่าวว่า เกษตรพันธะสัญญาในมุมมองของตนเองคือ เกษตรพันธะสัญญา เป็นเรื่องของทุกคนไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว สาเหตุที่ตนเองเข้าสู่ระบบนี้ ประเด็นแรก เพราะเป็นนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศชาติ ประเด็นที่สอง คือ เห็นภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของบริษัทตามโฆษณา ประเด็นที่สาม หวังว่าการผลิตแบบพันธะสัญญาจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น
“ผมหลงเข้าไปเลี้ยงหมูกับบริษัท โดนหลอกให้เป็นหนี้ เริ่มต้นผมเริ่มต้นเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ตามแผนคือ 250 ตัว และเงื่อนไขของบริษัทคือผมพยายามสร้างฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เพื่ออยากจะเห็นความสำเร็จจึงได้ให้แฟนที่เป็นข้าราชการกู้เงินมาสมทบ พอทำเสร็จบริษัทกับให้ผมเลี้ยงไม่ถึง 250 ตัว ในเมื่อเลี้ยงไม่ถึงตามแผนรายได้ที่เสนอไว้กับธนาคารก็ไม่เหมาะสม ผมจะเอารายได้ที่ไหนไปใช้กับธนาคารละครับ จุดแตกหักกับบริษัทอยู่ตรงที่เงื่อนไขให้เกษตรกรต้องมีการปรับปรุงโรงเรือนและเราต้องเอาปัจจัยการผลิ อาหาร ยารักษาโรค อุปกรณ์ตามที่บริษัทกำหนด ผมเป็นหนี้กับธนาคาร กู้เพิ่มไม่ได้อีกแล้ว และพอไม่มีเงินก็ไม่สามารถนำสุกรรุ่นต่อไปมาเลี้ยงได้จึงต้องหยุดเลี้ยงหนี้ก็ค้างไว้กับธนาคาร”
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ จังหวัดลพบุรี คุณทองเจือ เขียวทอง กล่าวว่า หากถามว่าทำไมต้องเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญา คือ อยากรวย แต่ก่อนตนขับรถเมล์รับจ้างในกรุงเทพฯ แต่พอเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงและเห็นว่าได้กำไรงาม ประกอบกับตัวแทนบริษัทได้นำตนเองไปดูสถานที่จริงและได้เห็นตัวอย่างที่บริษัทนำมาเสนอให้ดูก็เลยตกลงเลี้ยงกับบริษัท เริ่มต้นเลี้ยงเป็นระบบเปิด
“ตอนเลี้ยงเล้าเปิดยังไม่มีหนี้ อุปกรณ์ อาหาร ยารักษาโรค ก็เอาของบริษัทมาก่อน ยังพอมีกำไร ต่อมาเริ่มได้บ้างไม่ได้บ้าง สิบกว่าปีแล้วครับยังส่งหนี้ไม่หมด”
คุณทองเจือเล่าว่า พอลูกเล้าเยอะการดูแลเอาใจใส่ของบริษัทก็น้อยลง สิ่งที่พบคือ จับไม่ตรงเวลา ไก่ก็เลือกขนาดจับ “มีไก่ใหญ่ จะเอาไก่เล็ก มีไก่เล็กจะเอาไก่ใหญ่” พอถึงกำหนดก็ไม่มาจับ อาหาร ยารักษาโรค ที่เลี้ยงไก่ของบริษัทแพงกว่าในท้องตลาด กรณีการชั่งไก่บางครั้งต้องไปชั่งที่บริษัท ในระหว่างเดินทางไปชั่งแล้วไก่ตายบริษัทก็ไม่รับผิดชอบและพบว่าเลี้ยงไก่โตเร็วกว่าผักบุ้งเสียอีก “ผมเองก็รู้สึกเครียด ผมเลี้ยงไก่เหมือนเลี้ยงเด็ก จนทำให้ผมรู่สึกว่าคือ การเลี้ยงไก่ไร้ญาติ ตัดขาดสังคม”
นอกจากนี้ ปัญหาที่พบในปัจจุบัน พบว่ามีการย้ายฐานการผลิตคือ พื้นที่ที่เลี้ยงไก่แล้วเสียหายมาก บริษัทก็จะไปส่งเสริมในพื้นที่อื่นๆ ทดแทนพื้นที่เดิม กรณีช่วงน้ำท่วม เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน บริษัทมาจับไก่ช่วงน้ำท่วมแต่จับไปไม่หมดทำให้ขาดทุน บริษัทมีการจ่ายค่าชดเชยมาเพียง 3,000 พัน ซึ่งก็ถือว่าไม่เหมาะสมกับความเสียหายที่แท้จริง ปัจจุบันคุณทองเจือเขียวทองได้หยุดเลี้ยงไก่เนื้ออย่างเด็ดขาด ขายเล้าที่ลงทุนได้เงิน 160,000 บาท จากลงทุนเป็นล้านกว่าบาทพอเลิกเลี้ยงสุขภาพจิตก็ดีขึ้น
เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังคุณสันต์ ละครพล จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การเลี้ยงปลาสำหรับพื้นที่มี 2 แบบคือเลี้ยงในเขื่อน และเลี้ยงติดแม่น้ำ ผลกระทบจากการเลี้ยงปลาเหมือนกับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่เนื้อ แตกต่างก็ตรงที่ไก่เนื้อเลี้ยงบนบกส่วนปลาเลี้ยงในน้ำ
คุณสันต์กล่าวว่า ตนเองเคยไปทำงานต่างประเทศ 4-5 ปี ตอนแรกตนเองเลี้ยงในเพียง 4 กระชังที่ขนาดกระชัง 3×3เมตร ต้นทุนประมาณ 30,000-35,000 บาท เลี้ยงเริ่มต้นได้กำไรดี ติดใจเลยไปปรึกษาตัวแทนจากบริษัทซีพี ให้คำปรึกษาเลี้ยงปลาจาก 4 กระชัง จนเป็น 20 กระชัง
ผลกระทบเกิดขึ้นเมื่อตนเพิ่มการเลี้ยงเข้าไป ที่นี้ปลาก็ไม่โต ตนคำนวณดูก็รู้สึกว่าถูกหลอก ต่อมาก็มีเงื่อนไขให้เกษตรกรคัดปลา ต้องเป็นปลาที่ได้ขนาดตามที่ตลาดกำหนด ผลจากการคัดปลาทำให้ปลาที่ไม่ได้คัดก็ไม่กินอาหาร “ปลาตัวโตก็ติ ตัวเล็กก็ติ ถ้าเราไปพูดผิดหูเขาก็ไม่มาจับให้เรา ไปขายเองก็ไม่ได้ไม่มีตลาดจะไปขาดที่ไหนปลาตั้ง 20 กระชัง “ผมทำนาเป็นหลัก ทำปลาเป็นอาชีพเสริม แต่หนักขึ้นเรื่อยๆ เงินห้าแสนผมปล่อยกับน้ำชีเฉย จากวันนั้นผมยอมขาดทุนไม่ต่อ”
“เกษตรพันธะสัญญาฟังแล้วไม่ลื่นหูนะครับ เพราะพันธะสัญญาภาระผูกพัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถปลดหนีได้ แต่ตอนนี้ยังมีคนที่เลี้ยงอยู่ คือก็หวังเอารอบหน้า มีเกษตรกรบางรายต้องเป็นลมเมื่อพบว่าปลาตัวเองตาย บริษัทมีการขายอาหารและลงทุน 20 ล้านต่อรอบการผลิตหนึ่ง น้ำในแม่น้ำก็อาบไม่ได้ ราคาซื้อขายเพียง 55-60 บาท มีแต่อาหารจะเพิ่มขึ้น และปลาต้องอดอาหารก่อนจำหน่าย และถ้าบริษัทไม่มาจับ เราก็รอแล้วรออีก มันปวดสมองนะครับ” คุณสันต์กล่าว
เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคุณพันธ์ จันทรัตน์ เกษตรกรดงมูล จังหวัดกาฬสินธ์ กล่าวว่า เกษตรพันธะสัญญาวงจรอุบาท พัฒนาการการปลูกอ้อยในพื้นที่เริ่มเหตุการณ์ป่าแตก เมื่อมีมาตรา 66/23 พืชอ้อยก็เริ่มเข้าไปในพื้นที่ นาข้าวที่เป็นพื้นที่เดิมถูกอ้อยเข้ามาแทนที่ การใช้สารเคมีฟูริดานในกระบวนการผลิตทำให้สิ่งมีชีวิต เช่น เขียดหาย เพราะเราต้องลอง ถ้าไม่ทำแบบนี้ปลวกจะกิน ซึ่งอ้อยมี 2 แบบกลุ่ม คือ
หนึ่ง อ้อยโควตา เวลาส่งต้องได้ครบตามโควตาและไม่น้อยกว่า 80% จึงจะไม่ถูกหัก และสอง อ้อยไม่มีโควตา ซึ่งผิดกฎหมาย แต่สามรถขายได้ ซึ่งบริษัทที่ส่งเสริมก็มักให้ความสำคัญโดยมีการเปิดลานย่อยซื้ออ้อยวิธีการโรงงานจะมาตั้งลายย่อยไว้ ใครที่หาอ้อยได้ก็สามารถเปิดโควตาได้ ลานย่อยกับโรงงานเอื้อประโยชน์ต่อกัน
ส่วนปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยถูกเอาเปรียบ อาทิ ไฟไหม้อ้อย เกษตรกรที่ไม่มีโควตาจะถูกบีบด้วยวิธีการนี้ แต่ถ้าจะรีบขายก็ต้องมีแรงงาน ซึ่งแรงงานก็ไปอยู่กับหัวหน้าโควตา แล้วถามว่า จะให้หยุดทำ แล้วถามคืนว่า จะให้ทำอะไร ถึงเข้าตำราว่า “ถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก” สารเคมี ในไร่อ้อยบริษัทไม่ได้คิด กล่าวคือ ห่วงโซ่อาหารถูกทำลายขณะที่การลงทุนของพี่น้องเกษตรกรจะพบว่า การคิดกำไรจะเท่ากับค่าแรงของเกษตรกรเอง
ทางออกของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญา
นอกจากนี้ วงเสวนายังได้เสนอทางออกของเกษตรกรในระบบพันธะสัญญา คือ หนึ่ง การร่วมมือกัน 7 ประสาน ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้บริโภค บริษัท นักวิชาการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสถาบันการเงินและรัฐ
สอง เกษตรกรควรต้องศึกษาข้อมูลให้หลายด้าน และให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่าลุงทุนมาก โดยยอมรับและเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาที่อาจจะเป็นผลกระทบต่อสังคม
และสาม ควรมีการสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลิต และสิทธิความเป็นธรรมในระบบการค้าและรายได้
การเสวนาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่มุ่งนำเสนอข้อมูลสู่การรับรู้ของสาธารณะเท่านั้น ยังเป็นเวทีกันแสวงหาทางออกที่อาจจะเป็นทั้งจุดต่างและจุดร่วมสำหรับเป็นทิศทางการทำงานร่วมกันในอนาคตของผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมถึงข้อเสนอทั้งระดับปฏิบัติและนโยบายเพื่อการสร้างระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม และมีความสมดุลระหว่างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภค
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.