วันที่ 20 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับภาคีและสถาบันวิชาการ 5 แห่ง จัดเวทีสัมมนาวิชาการสาธารณะเพื่อนำเสนอผลการวิจัยการแก้ปัญหาของเกษตรกร เรื่อง “ทางรอดเกษตรกรไทย...ในภาวะวิกฤตหนี้สิน” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดเวทีสัมมนาฯ กล่าวว่า
“การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำเสนอนโยบายและแนวทางในการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร ที่กำลังตกอยู่ในภาวะหนี้สิน หรือต้องสูญเสียที่ดิน และกลายเป็นเกษตรกรนาเช่า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย อาชีพชาวนาและเกษตรกรปัจจุบันกลายเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง และเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะทำอาชีพนี้ต่อไป ดังนั้นสังคมทุกภาคส่วน จึงต้องช่วยเหลือกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักดีว่าปัญหาหนี้สินและการขาดแคลนที่ดิน เป็นความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต การทำมาหากิน และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่พวกเราทุกคนมีส่วนดูแล”
บริบทหนี้สินชาวนาและเกษตรกร
ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณสฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้นำเสนอผลการวิจัยบริบทปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรพบว่า เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างสูงเกือบครึ่งมีอายุระหว่าง 51 – 60 ปี มีการศึกษาน้อย และทำการเกษตรเชิงเดี่ยว คือ ข้าว เป็นหลักและปลูกพืชอื่น ๆ ไว้เพื่อบริโภคหรือแจกจ่าย มีการแปรรูปบ้าง หลายครัวเรือนมีอาชีพเสริมจากนอกภาคเกษตร เช่น รับจ้างต่อเติมบ้าน ช่างก่อสร้าง เป็นต้น
มีเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 90 เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รองลงมาเป็นสหกรณ์การเกษตร และกองทุนหมู่บ้าน ปัญหาหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการกู้เพื่อทำการเกษตร แล้วผลผลิตไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้เนื่องมาจากปัญหาภัยธรรมชาติหรือราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้หนี้สินได้ทันตามกำหนด หลายคนเริ่มเป็นหนี้จากเงินต้นไม่มากนัก แต่จากการผิดนัดชำระหนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และมีดอกเบี้ยคงค้างทบต้นมาเรื่อยๆ ในขณะที่โครงการพักชำระหนี้ของ ธกส. ไม่ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาว วิธีการที่ผ่านมาเป็นเพียงการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินต้นบางส่วน และขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ออกไป 3 ปี โดยเกษตรกรยังต้องชำระดอกเบี้ยตามกำหนดเดิม และธนาคารยังคงเดินหน้าคำนวณดอกเบี้ยตามยอดเงินต้นคงค้างต่อไป
ทางรอดเกษตรกรไทย...ในภาวะวิกฤตหนี้สิน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อสรุปจากการศึกษาเรื่องหนี้สินและเกษตรอินทรีย์โดยพบว่า “การเป็นหนี้ เป็นข้อจำกัดด้านโอกาสในการลงทุนใหม่ และการปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร” เพราะการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ แหล่งเงินทุนเดิมและแหล่งใหม่อาจลังเลที่จะให้กู้ยืมเพิ่ม รวมถึงหลักประกันที่มีก็อาจติดอยู่กับหนี้ก้อนเดิม หรือการเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ที่รัฐบาลออกมาก็มีข้อกำหนดในการไม่ให้กู้ยืมเช่นกัน เกษตรกรรายย่อยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ แต่เป็นการพยายามที่จะพัฒนากันเอง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้สังคมมีอาหารและโลกที่ปลอดภัย ในขณะที่นโยบายการสนับสนุนตลาดอินทรีย์ของรัฐยังพุ่งเป้าไปที่เกษตรกรอินทรีย์รายใหญ่เพื่อส่งออกเท่านั้น
คุณสามารถ สระกวี ที่ปรึกษากลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนด จากจังหวัดสงขลา ซึ่งที่ผ่านมีบทเรียนความสำเร็จจากการใช้กระบวนการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและรักษาที่ดินทำกินของคนในชุมชนไว้ได้หลายสิบราย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรนั้น หากภาครัฐส่งเสริมให้เกิด “ธนาคารที่ดินชุมชน” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาที่ดินให้กับประชาชนได้ และมีบทบาทสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดิน ลดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย
ดังนั้นภาครัฐควรจะให้การส่งเสริมการดำเนินงานของภาคประชาชน และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารที่ดินในระดับประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของประชาชน การเข้าไม่ถึงที่ดินเพื่อใช้ทำประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการเลี้ยงชีพของประชาชนเป็นจำนวนมาก ตลอดจนทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 7 เม.ย. 2562
ผู้เขียน : ฐิติพรรณ มามาศ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.