แสงไทย เค้าภูไทย
ไฟอันเกิดจากการเผา ไร่นาและเผาป่า ต้นตอมาจากการนำระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว มาใช้เพื่อกำไรมากขึ้น ตรงข้ามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรกรรมผสมผสานที่ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดสลับขาดแคลน ไม่ต้องเผานา เผาป่าขยายพื้นที่ปลูก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงศึกษาผลกระทบจากระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว (monoculture) พบว่า เกษตรกรยิ่งปลูก ยิ่งจน จึงทรงสร้างทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาแก้ไข โดยเน้นการเพาะปลูกให้พอเพียง เลี้ยงตนได้ เหลือแล้วจึงขาย
นอกจากนี้ ให้หันกลับมาทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานคือการปลูกพืชหลากชนิด (polyculture) และมีการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารควบคู่ไปด้วย
สำรับการปลูกข้าวหรือพืชไร่นั้น ก็ให้ปลูกแบบหมุนเวียน(crop rotation or crop sequencing) ไม่ปลูกซ้ำชนิด ทำให้ดินได้ปรับโครงสร้าง (soil structure) ศัตรูพืชอยู่ไม่ได้
ทฤษฎีเกษตรกรรมของพระองค์ท่านไม่ค่อยมีใครน้อมนำมาใช้ เพราะเกษตรกรไทยทุกวันนี้ คิดแต่จะได้ ชอบรวยทางลัด จึงตกอยู่ภายใต้ทุนนิยม
ทุนนิยมที่ครอบงำเกษตรกรไทยวันนี้ คือระบบเกษตรพันธสัญญา (contract farming) มีที่ดินเอาไปเข้าโครงการบริษัท แล้วผลิตตามที่บริษัทต้องการ
บริษัทเอาเมล็ดพันธุ์มาให้ เอาปุ๋ย เอายาฆ่าหญ้า เอายากำจัดวัชพืชมาให้ มาแนะนำ ให้ทำตารางการปลูก การเก็บเกี่ยว ( culture timetable)เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ดูแล ทำตามคำแนะนำของบริษัทเท่านั้น
ดูแล้วก็สบายดี เหมือนเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนบริษัท
พอเก็บเกี่ยวแล้วก็ได้เงินงวดสุดท้ายก้อนใหญ่
จากนั้น เตรียมดินไว้ปลูก ซึ่งมักจะเป็นพืชชนิดเดิม
ไม่ต้องปลูกพืชหมุนเวียน เพราะเขามียาปราบศัตรูพืช ไม่ต้องปรับโครงสร้างดิน เพราะเขามีปุ๋ยมาแทนอินทรีย์วัตถุที่เกิดจากการปลูกพืชหมุนเวียน
การเตรียมดินของเขานั้นไม่ต่างจากการเตรียมดินแบบปลูกพืชผสมผสานหรือหมุนเวียน คือการกำจัดตอซังและซากพืชเก่า
สมัยก่อนก็ใช้วิธีการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่หรือท้องนา ปล่อยให้ตอซังเน่าเปื่อยตามธรรมชาติ เมื่อน้ำแห้งก็ตากแดดฆ่าเชื้อโรค กำจัดหนอน ไข่แมลงเบียนไปในตัว จากนั้นจึงไถกลบ
ระบบเดิมแม้ดินจะได้พักและอุดมสมบูรณ์ด้วยซากอินทรีย์ ทว่าก็ใช้เวลานาน กว่าซากตอซังจะเน่า กว่าน้ำจะแห้ง กว่าจะตากดินได้ที่
สู้เผาไม่ได้ ไม้ขีดก้านเดียวจบ เผาตอนค่ำ เช้าปล่อยน้ำเข้าพอแฉะๆ ไถกลบได้เลย
ก่อนปล่อยน้ำเข้า เดินหารูหนู รูอ้น งูสิง เต่านา ฯลฯ ที่ตอนไฟเพิ่งดับกรุ่นๆ มีกลิ่นเหมือนเนื้อย่างมารินๆ ถือเป็นผลพลอยได้จากการเผาที่นา เป็นบาร์บีคิวชาวทุ่งได้สำรับใหญ่
สมัยก่อนการเผาที่นาที่ไร่ เป็นเรื่องปกติไม่ก่อให้เกิดปัญหาอันใด เพราะแปลงไม่ใหญ่
แต่สมัยนี้ ทำกันแปลงใหญ่ เผาทีเดือดร้อนไปทั่ว
ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศน์เลวร้ายจากควัน เขม่า ฝุ่นพิษ PM 2.5 หรือทำลายวัฏจักรสัตว์ธรรมชาติ ทั้งสูญเสียพื้นที่ป่า ทั้งลุกลามไหม้บ้านเรือน
การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ต้องดูที่ต้นตอหรือปฐมเหตุ
ตัวการแท้จริงคือ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผลิตแบบหนาแน่น (mass production )
การผลิตแปลงใหญ่(plantation) ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ผลผลิตสูง กำไรมาก
พืชที่ปลูก ส่วนใหญ่เป็นพืชฤดูเดียวอายุสั้น ปีหนึ่งปลูกได้หลายคร็อพ เช่นข้าว มันสำปะหลัง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง อ้อยฯลฯ
การเผาจึงเป็นการเตรียมดินสำหรับฤดูปลูกใหม่ที่ต้นทุนถูกที่สุด แต่ผลที่ตามมา คือการทำลายทั้งพืชพรรณไม้และทำลายระบบนิเวศนวิทยาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
ที่สำคัญอีกด้านก็คือ ระบบน้ำใต้ดิน
คือเมื่อฝนตกลงมา พื้นดินจะดูดซับน้ำไว้ส่วนหนึ่ง โดยต้นไม้จะทำหน้าที่ชะลอความเร็วของน้ำ ทำให้พื้นดินมีเวลาในการดูดซับนานพอ
นอกจากนี้ ยังลดการทำลายหน้าดินอันเกิดจากความเร็วและการไหลแรงของน้ำฝนด้วย
น้ำที่ซึมลงใต้ดินเหล่านี้ จะซึมลงสู่ด้านล่าง ตามแรงโน้มถ่วงของโลก ไปสะสมในแอ่งใต้ดิน
น้ำในแอ่งใต้ดินนี้ เมื่อมีมาก ๆ จะล้นแอ่ง ไหลไปตามคลองใต้ดิน (underground canals) โดยไหลลงสู่พื้นที่ต่ำกว่า เช่นพื้นที่ราบ ที่ชาวบ้านใช้เป็นแปลงเกษตรกรรมเป็นต้น
เมื่อมนุษย์ไปทำลายต้นน้ำด้วยการเผาป่า ทำลายความเป็นป่า น้ำใต้ดินก็ลดลงหรือหายไป ความชุ่มฉ่ำของพื้นดินด้านล่างก็ลดลง
มนุษย์ต้องสร้างแหล่งน้ำเอง จะอาศัยน้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง ไม่เพียงพอเหตุจากน้ำธรรมชาติมาเติมน้อยลง
การทำลายป่าของมนุษย์ เป็นการฆ่าตัวตายแบบนิทานอีสปที่กวางแทะเล็มกินใบไม้พุ่มไม้ที่ตนซ่อนตัว อยู่จนโปร่งจนนายพรานเห็นตัวชัด ยิงธนูสังหารในที่สุด
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 10 เม.ย. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.