ภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาคเกษตรนำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาการสูญเสียหน้าดิน ปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำแนวคิดสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเรื่องนี้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ผลการศึกษา“มาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร” เสนอ 3 มาตรการสำคัญในการสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตร ประการแรก เน้นการแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบไม่ยั่งยืนโดยบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่บุกรุกป่าปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสานแบบปราศจากสารเคมี โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้
ประการที่สอง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้ อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรก จึงควรนำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อเป็นเงินทุนให้เกษตรกรใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ
ประการที่สาม ใช้มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีสารเคมีเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช และการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าเกษตรยั่งยืน อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการเก็บภาษีสารเคมี จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีและไม่กระทบผลิตผล (Yield)
ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนยังมีช่องทางการจำหน่ายที่จำกัดและเข้าถึงยาก ดังนั้น มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืนและสร้างตลาดท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อรับรองสินค้าสำหรับการส่งออก มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรยั่งยืนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคด้วย
สำหรับมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน ควรมุ่งเน้นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนสูงและใช้ระยะเวลานานกว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ควรมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชน เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรของประเทศไทยนำไปสู่การปฏิบัติจริง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวทางการขับเคลื่อน มาตรการเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรไปสู่การปฎิบัตินั้น เวลานี้เมืองไทยพูดกันไปพูดกันมาจบลงด้วยเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่ เพราะจะทำอินทรีย์ทั้งประเทศก็ทำไม่ได้ สิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือ “เกษตรปลอดภัย”
ความท้าทายของภาคเกษตรในอนาคตคือต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรมีจำกัด ต้องลดปัจจัยการผลิตลง แต่ต้องทำให้ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือมากขึ้น และตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราพูดถึงเรื่องเกษตรปลอดภัยกันน้อยมาก ทั้งที่มีบริษัทและเกษตรกรจำนวนมากที่ทำเกษตรปลอดภัย
“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนไทยไม่คุยกันเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นเรื่องที่ผลผลิตไม่ได้ลดลงไปเหมือนการทำเกษตรอินทรีย์ที่ระยะแรกผลผลิตจะลดลงค่อนข้างมาก”
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) (Sustainable Food Lab) กล่าวว่า ความท้าทายที่ภาคเกษตรเผชิญอยู่นั้นเป็นปัญหาเชิงระบบ ระบบอาหารไม่ยั่งยืน โดยต้นน้ำมีปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่อายุมาก มีอายุเฉลี่ยถึง 58 ปี และส่วนใหญ่ 95% เป็นหนี้ โดย 60% เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว มี 5% ที่อาจจะไม่ได้เป็นหนี้เนื่องจากไม่มีศักยภาพในการกู้ โดยทั่วไปอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ยากลำบาก จึงไม่อยากให้ลูกหลานมาสืบทอด โอกาสที่เกษตรกรรุ่นใหม่จะเข้ามาจึงเป็นไปได้ยาก จึงต้องพยายามการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ซึ่งมีความต้องการจำนวนมาก กลางน้ำมีปัญหาการจัดส่ง จัดจำหน่าย การประกอบธุรกิจการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรไม่ได้มูลค่าเหมาะสมกับผลิตผล ปลายน้ำคือผู้บริโภคประสบปัญหาสินค้าที่ดีและปลอดภัยมีราคาสูง ระบบอาหารไม่ยั่งยืนขาดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรมจึงเป็นความท้าทายหลักของคนไทย
สิ่งที่น่าจะทำได้เวลานี้คือ การยกระดับทั้งห่วงโซ่อาหาร โดยสนับสนุนเกษตรกรนำวิถึงพึ่งตนเองมาใช้ให้มากขึ้น สนับสนุนภาคธุรกิจในท้องถิ่นในการจำหน่ายผลิตที่ไหนก็ขายที่นั่น ยกระดับผู้ประกอบการที่ทำการค้าอย่างธรรมใส่ใจทั้งตัวผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภค ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยการเข้าไปเรียนรู้ทำงานกับตัวเกษตรกร การทำงานร่วมกันทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างแท้จริง
นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเด็นการผลิตที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มีหลายแง่มุม เกษตรกรเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมายาวนาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในชุมชน มีการวางแผนการใช้ที่ดินใหม่ เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกับวิถีชีวิตของผู้คนจึงเป็นเรื่องที่หาฉันทามติได้ยาก ตอนนี้มีรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นโดยชุมชน และที่ชัดเจนคือหลายงานวิจัยพบว่าหลังจากการทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนไปนาน ๆ NPK ในไร่นาไม่ต้องไปเติมอะไรมาก จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระทบกับการทำเกษตรแบบเคมี ขณะที่การทำเกษตรอินทรีย์จะมีผลกระทบน้อย การส่งเสริมที่ผ่านมายังไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์ให้แคบลงเลย
"สิ่งที่ต้องพูดกันมากคือ ทำอย่างไรจะทำให้ตลาดสีเขียวที่เกิดขึ้นจำนวนมากอยู่ได้ในท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับผู้บริโภค อาจต้องเน้นไปสู่สังคมดิจิตอลมากขึ้น"
ที่มา : ผู้จัดการ วันที่ 26 มี.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.