“ข้าวสุกจากเหนือล่องใต้ ผลไม้สุกจากใต้ขึ้นเหนือ” เป็นคำกล่าวที่อิงตามปรากฏการณ์ของธรรมชาติกำหนดลักษณะลมฟ้าอากาศและอิทธิพลของร่องมรสุม แหล่งพลังงานคือดวงอาทิตย์ที่มีต่อการเอียงของโลก ก่อให้เกิดกระบวนการต่างๆ รวมถึงฤดูกาลการผลิตพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทย
ปลายเดือนตุลาคมของทุกปีท้องทุ่งนาในภาคเหนือตอนบนจะเป็นทุ่งรวงทอง เป็นสัญญาณของฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวก่อนภาคอื่นๆ
สัญลักษณ์บ้านสามขา
บ้านสามขา หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีเกษตรกรรวมกลุ่มกันปลูกข้าวสายพันธุ์ดี “ข้าวหอมล้านนา” ได้เริ่มเก็บเกี่ยวกันตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน กระบวนการปลูก การดูแล เก็บเกี่ยว แปรรูป เป็นระบบอินทรีย์ กลุ่มชุมชนมีกติกา ผ่านการทำประชาคมว่าจะไม่มีการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช โรคพืช รวมถึงปุ๋ยเคมี
คุณป้านารี อินทร์มาปัน อายุ 59 ปี หรือ ป้าติ๋ม กับคู่ชีวิต คุณลุงคำ อินทร์มาปัน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 6 บ้านสามขา ป้าติ๋มได้เล่าย้อนอดีตไปเมื่อหลายปีก่อนว่า ภูมิลำเนาเดิมของป้าติ๋มอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อแต่งงานก็ย้ายมาอยู่กับคุณลุงคำ จนมีลูกด้วยกัน 3 คน ประกอบอาชีพทำนาปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวไว้กิน เพราะมีวิถีชีวิตผูกพันกันมา
คุณลุงคำ อินทร์มาปัน
คุณป้านารี อินทร์มาปัน กับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ
เวลาต่อมาหมู่บ้านสามขาได้รับการพัฒนามาเป็นลำดับ มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมเยียนดูงานกันมาก มีครู กศน. แนะนำว่าน่าจะมีสินค้าที่น่าสนใจมาแสดงหรือขายให้กับนักท่องเที่ยว เสนอว่ามีข้าวสีแปลกๆ ป้าสนใจไหม มีข้าวสีดำบ้าง สีแดงบ้าง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง กำลังดำเนินการผลิต เพื่อขยายพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ได้นำมาให้รู้จักลักษณะเมล็ดพันธุ์ พร้อมกับสอนวิธีการปลูก เพื่อขยายพันธุ์ไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในปีต่อๆ ไป
ต่อมาป้าก็ได้ไปเข้ารับการอบรมการผลิตข้าวในระบบอินทรีย์ จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เขาจัดอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่ กลับมาก็ได้ดำเนินการทดลองปลูกข้าวสายพันธุ์นั้น ได้ยินคำว่า ข้าวสายพันธุ์นี้คนทุกข์ (คนจน) ไม่ได้กิน กินได้แต่คนรวย
ในใจป้าติ๋มคิดอยู่ว่า ฉันต้องได้กิน จึงกลับไปจังหวัดพิษณุโลกเพื่อนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการผลิตข้าว เริ่มจากผลิตข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก ก็เริ่มมีคนสนใจ มีทั้งปลูกเพื่อกิน เพื่อขาย ป้าติ๋มบอกว่า ป้าก็เพิ่งมารู้จักภายหลังว่า ข้าวที่ป้าปลูกนั้น ที่แท้ก็คือ ข้าวหอมล้านนา เป็นข้าวเจ้า
ผลผลิตข้าวหอมล้านนา
ปลูกข้าวอินทรีย์แบบประณีตด้วยกล้าต้นเดียว
ป้าติ๋ม ให้ข้อมูลว่า ในปีการผลิต 2561 ปลูกข้าว 3 สายพันธุ์ คือข้าวหอมล้านนา (ข้าวเจ้า) ข้าวสังข์หยด (ข้าวเจ้า) ข้าวเหนียวก่ำ แต่ที่เน้นพื้นที่ปลูกคือ ข้าวหอมล้านนา ในพื้นที่ 5 ไร่ ได้ข้าวเปลือก 2 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 400 กิโลกรัม ต่อไร่
ป้าติ๋มบ่นว่าปีนี้ได้ผลผลิตน้อย เพราะปัจจัยเรื่องน้ำ จากทุกปี เคยได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 500 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ที่ดีใจคือ ราคาข้าวสูงมาก สูงสุดถึงเกวียนหรือตันละ 20,000 บาท เลยทีเดียว
ป้าติ๋ม เกษตรกรคนเก่งได้เล่าถึงรายละเอียดกระบวนการหรือขั้นตอนการผลิตข้าวหอมล้านนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ถึงมือผู้บริโภค ป้าติ๋มบอกว่าด้วยการมีจิตสำนึกในการผลิตข้าวที่ปลอดภัยจึงให้ความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มเตรียมดิน หลังจากป้าติ๋มปลูกถั่วหลังนา บางปีปลูกปอเทืองก็จะปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ผลิตขึ้นเองจากการไปเข้ารับการฝึกอบรม นำดินไปตรวจวิเคราะห์หาความเป็นกรดด่าง จากนั้นเพาะกล้าพันธุ์เหมือนทั่วๆ ไป แต่เมื่อถึงเวลานำกล้าลงดำนาปลูก ใช้ต้นกล้าเพียงต้นเดียวในการปักดำ
นักท่องเที่ยวดำนา
ช่วงระหว่างฤดูกาล ป้าติ๋มและลุงคำ จะลงแปลงนาตลอดเพื่อถอนวัชพืช ดูแมลงมารบกวนหรือไม่ โรคพืชมีไหม ระหว่างนี้ใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งผลิตขึ้นเองก่อนเริ่มฤดูทำนา รวมทั้งผลิตน้ำหมักชีวภาพไล่แมลงพร้อมใช้
แต่ป้าติ๋มบอกว่าแม้จะมีกฎกติกาของหมู่บ้านให้งดใช้สารเคมี ในพื้นที่นาของป้าติ๋มก็มีโรคและแมลงรบกวนน้อยมาก ข้าวสายพันธุ์นี้ทนโรคอยู่แล้ว และพื้นที่บ้านสามขาก็เหมาะต่อการทำข้าวด้วยระบบอินทรีย์ เพราะมีแนวเทือกเขาล้อมรอบหมู่บ้าน ไว้เป็นปราการกันชนอย่างดี ข้าวหอมล้านนามีอายุ 105 วัน นับจากหว่านต้นกล้าจนถึงการเก็บเกี่ยว แต่ก่อนถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะต้องทำให้พื้นดินแห้ง ลดความชื้นลง เพื่อให้รวงข้าวสุกเสมอกัน
เกี่ยวด้วยมือ
การเก็บเกี่ยวใช้แรงงานคนในครอบครัว นวดข้าวตีข้าวด้วยมือ เมล็ดข้าวเปลือกยังมีความชื้น หรือเมล็ดข้าวยังมีการหายใจ จึงต้องลดความชื้นด้วยการตากแดด 2 แดด เพื่อลดอัตราการหายใจของเมล็ด ทั้งยังมีข้อดีคือ ลดการเกิดเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีจะได้ต้นข้าวมากน้ำหนักดี จากนั้นบรรจุกระสอบ ทยอยนำมาสีเป็นข้าวสารเพื่อขาย
แปรรูปเป็นข้าวสารจากโรงสีเฉพาะข้าวอินทรีย์
ป้าติ๋มเล่าถึงการแปรรูปข้าวหอมล้านนาออกขายว่า จะนำข้าวเปลือกไปสีกับโรงสีที่สีเฉพาะข้าวอินทรีย์ แล้วนำมาทำความสะอาดบรรจุใส่ถุง เข้าเครื่องซีลติดสติ๊กเกอร์ ภายใต้ชื่อ OTOP ข้าวหอมล้านนาบ้านสามขา ผู้เขียนให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตข้าวเพราะผู้บริโภคเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับผลผลิตข้าว ว่าจะต้องมีคุณภาพปลอดภัยในการบริโภค จึงขอให้ป้าติ๋มเล่ารายละเอียดให้เห็นภาพของกระบวนการผลิต
ข้าวหอมล้านนา ข้าวสายพันธุ์ใหม่
ข้าวหอมล้านนา เป็นข้าวเจ้าสายพันธุ์ใหม่ที่เป็นนวัตกรรมการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ข้าวหอมนิลและข้าวป่าออไรซานิวารา ปรับปรุงสายพันธุ์โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง ลักษณะเด่น ลำต้นสูง 100 เซนติเมตร มีอายุสั้นเพียง 105 วัน มีระบบรากที่ดี มีความต้านทานโรคและแมลง เป็นข้าวที่มีคุณภาพเมื่อนำมาหุงจะมีกลิ่นหอม นุ่ม อร่อย
ที่กล่าวว่า ข้าวหอมล้านนาเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น เพราะต้นข้าวเจริญเติบโตช่วยประหยัดน้ำ มีอายุสั้น จึงลดจำนวนวันที่ต้องให้น้ำและมีระบบรากที่ดี จึงไม่ต้องใช้น้ำมาก กับมีความแข็งแรงเหมือนข้าวน้ำ จึงต้านทานโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูข้าว การปลูกข้าวแบบกล้าต้นเดียว ช่วยลดปริมาณเมล็ดพันธุ์และช่วยเพิ่มผลผลิต ซึ่งป้าติ๋มบอกว่า กล้าต้นเดียวแตกกอได้ 40 ต้น 1 ต้น มี 1 รวง นับเมล็ดได้ 180 เมล็ด แต่ทั้งนี้จะต้องมีการดูแล เอาใจใส่อย่างดี
รอปลูกถั่วหลังทำนา
จากการวิเคราะห์ของกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือพบว่า ข้าวหอมล้านนามีคุณค่าทางโภชนาการสูงเหมาะแก่ผู้รักสุขภาพ ประกอบด้วย ธาตุเหล็ก ป้องกันการอ่อนเพลียของร่างกาย เสริมการต้านทานเจ็บป่วย ป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กและช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียน
โปรตีน เสริมการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และช่วยรักษาสมดุล กรด-ด่าง ในร่างกาย
วิตามินบี 1 เสริมสร้างการเจริญเติบโต และช่วยบำรุงประสาทกล้ามเนื้อและการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติ ช่วยบำรุงสมอง ความคิด สติปัญญาให้ดีขึ้น
วิตามินบี 2 เสริมการเจริญเติบโต บำรุงผิวพรรณเล็บและเส้นผม เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของดวงตา ลดการอักเสบในปาก ริมฝีปาก และลิ้น
กาบา ลดความดันโลหิต ลดไขมัน แอลดีแอล ลดอาหารอัลไซเมอร์ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี ตลอดจนช่วยลดโอกาสเป็นโรคมะเร็ง ช่วยร่างกายต้านทานเชื้อโรค
นอกจากนี้ ข้าวหอมล้านนา ยังมีไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารจากธรรมชาติ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยในการย่อยและการดูดซึม ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
ป้าติ๋มบอกให้ผู้เขียนนำข้าวหอมล้านนาไปหุงชิมดูว่ารสชาติจะเป็นเช่นไร ป้าติ๋มย้ำ…บอกวิธีหุง ให้ตวงข้าว 1 ส่วน ใส่น้ำ 2 ส่วน หุงแล้วชิมดูแล้วเป็นข้าวสวยที่นุ่ม หอม อร่อยจริงๆ
การตลาดของข้าวล้านนาบ้านสามขา
ป้าติ๋ม บอกว่า ข้าวหอมล้านนาของป้าก็ขายไปเรื่อยๆ แต่หากจากนี้ไปได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เชิญชวนสั่งซื้อข้าวหอมล้านนา ก็อาจจะมีเกษตรกรในบ้านสามขาร่วมกันปลูกข้าวชนิดนี้กันมากขึ้น และมีกำลังใจในการผลิตข้าวคุณภาพให้ผู้บริโภค ลำพังเฉพาะป้าติ๋ม ขายในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวมาในหมู่บ้านแล้วซื้อติดไม้ติดมือไปบ้าง บางครั้งได้รับแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ หรือหน่วยงานราชการอื่น ให้นำข้าวหอมล้านนาหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างอื่นที่ใช้วัตถุดิบจากข้าวหอมล้านนา ป้าก็นำไปขายทั้งในเมืองลำปางและสถานที่อื่นๆ
ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวหอมล้านนาอาหารซีเรียล
ป้าติ๋ม บอกว่า ป้ายังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวหอมล้านนาด้วยนะ นี่ไง…ข้าวเกรียบทอด ใช้วัตถุดิบข้าวหอมล้านนาและมันเทศสีม่วง นี่…ก็อีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ข้าวกล้องงอกยี่ห้อป้าติ๋ม บ้านสามขา ชนิดผงพร้อมดื่ม มีส่วนผสมของธัญพืชด้วย นอกจากนี้ ป้าติ๋มยังส่งต่อข้าวหอมล้านนาให้โรงเรียนบ้านสามขานำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบสามขา เป็นอาหารซีเรียลด้วยนะ
ผู้เขียนก็ต้องการซื้อ ถามป้าติ๋มว่าบอกราคาขายข้าวหอมนิลได้ไหมครับ หากท่านผู้อ่านจะได้ตัดสินใจสั่งซื้อ ป้าติ๋มบอกว่าได้เลย…อันดับแรกข้าวกล้องหอมล้านนา บรรจุถุงระบบสุญญากาศ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม 80 บาท ข้าวกล้องงอก น้ำหนัก 250 กรัม 100 บาท เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมล้านนาป้าก็ขาย กิโลกรัมละ 30 บาท
ท่านใดสนใจโทร. ติดต่อขอซื้อหรือพูดคุยกับป้าติ๋มคนกันเอง อารมณ์ดี ที่หมายเลข (085) 652-4823
คุณบุญช่วย อุดคำมี เกษตรตำบล
ป้าติ๋มบอกว่า มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะเข้ามาเยี่ยมเยียน แนะนำส่งเสริมอยู่เป็นประจำ ในวันนั้นผู้เขียนก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเกษตรตำบล คุณบุญช่วย อุดคำมี โทร. (093) 138-5180 ได้ให้ข้อมูลการปลูกข้าวหอมล้านนาของบ้านสามขาว่า เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมด มี 430 ไร่
ถ้าเป็นข้าวเหนียว ผลผลิตเฉลี่ย 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ข้าวเจ้า 550 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยบทบาทหน้าที่การส่งเสริมของสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลำปาง ออกใบสำรวจและใบรับรองการผลิตข้าวอินทรีย์ ให้คำแนะนำการปลูก การดูแลแปลงข้าว ให้ความรู้ด้วยการอบรม ผลิตสารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ทั้งให้คำแนะนำด้านการตลาดเผยแพร่ในยูทูป เพื่อให้กลุ่มพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
แปรรูปข้าวเกรียบ
ท่านผู้อ่านครับ บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ครั้งอดีตเคยประสบปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องหนี้สิน การทำมาหากินของคนในชุมชน และได้รับการแก้ไขโดยคนในชุมชนเอง มีการทำการศึกษา วิเคราะห์วิจัย นำไปสู่การแก้ไขจนปัจจุบันบ้านสามขา เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการกล่าวขานกันมากในเรื่องการพัฒนาและเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในหลายๆ ด้านที่ควรไปศึกษาดูงาน ผ่านการประกวดคัดเลือกได้รับรางวัลมาหลายรางวัล ได้แก่ รางวัลหมู่บ้านปลอดการเผา รางวัลการป้องกันและกำจัดหมอกควันระดับภาค หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาตอซัง ฟางข้าว ฯลฯ
และเพื่อเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรบ้านสามขาให้มีรายได้ มีความยั่งยืนในอาชีพ เชิญชวนท่านซื้อข้าวหอมล้านนาหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปของบ้านสามขา จากป้าติ๋ม หรือเครือข่ายของวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมล้านนาบ้านสามขา
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 6 มี.ค. 2562
ผู้เขียน : บุญฤทธิ์ เผือกวัฒนะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.