“กลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนด” อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่เริ่มต้นจากการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนชาวใต้ที่มีวิถีชีวิต ภูมินิเวศน์ และการทำกิน 3 รูปแบบที่แตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล คือ การทำโหนด (น้ำตาลโตนด) การหาเล(ประมง) และการทำนา โดยเชื่อมร้อยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ากับกิจกรรมของกลุ่มฯ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิก
สามารถ สระกวี แกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนด กล่าวว่าถึงแนวคิดในการนำเอาวิถีการทำกินมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันว่า “โดยหลักการของกลุ่มออมทรัพย์คือต้องดูสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่มีความยากจน ขาดโอกาสทางการเงิน และพูดคุยถึงความมั่นคงและความยั่งยืนของครอบครัวและชุมชน
จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของคนในชุมชน เริ่มต้นด้วยการชักชวนให้ญาติมาทำกลุ่มออมทรัพย์ด้วยกันก่อน ซึ่งมีสมาชิกในการจัดตั้งกลุ่มครั้งแรกจำนวน 33 คน เมื่อปี 2533 และเมื่อสมาชิกมีความมั่นใจในการทำกลุ่มออมทรัพย์ สมาชิกในกลุ่มจึงได้ชักชวนเครือญาติให้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ได้สมาชิกเพิ่มขึ้น กลุ่มออมทรัพย์ที่ก่อตั้งในปีแรก คือตำบลบ่อกุล ต่อมาคือ ตำบลหัวเปลว บ่ออิฐ ปลายนา วัดเลียบ บ้านฉาง และเกาะน้ำร่อง ตามลำดับ ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ทั้ง 7 กลุ่มทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย มีจำนวนสมาชิกรวมกันกว่า 6,000 คน มีเงินหมุนเวียนและทรัพย์สินรวมกันแล้วเกือบ 100 ล้านบาท”
ด้วยวิถีแห่งการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจ ทำให้ชุมชนดำเนินกิจกรรมเรื่องการออมทรัพย์มาได้ด้วยดี ใช้หลักบริหารจัดการที่เข้าใจง่าย คือ โดยสมาชิกสามารถออมเงินได้สูงสุดคนละ 10 หุ้น หุ้นละ 10 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 100 บาทเท่ากันหมดทุกคน จากนั้นจะจัดสรรเงินปันผล โดยแบ่งสัดส่วนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน คือจะปันผลคืนสมาชิก 50% ส่วนอีก 50% นำไปจัดสรรเป็นกองทุนต่าง ๆ หากสมาชิกรายใดไม่ชำระตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับครั้งล่ะ 10 บาท/ครั้ง/เดือน ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้คิดร้อยละ 2 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 24 บาทต่อปี)
คนภายนอกอาจจะมองว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของกลุ่มค่อนข้างสูง แต่สมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนดเข้าใจตรงกันว่า ทางกลุ่มนำเอาเงินที่ได้จากผลกำไรและค่าปรับไปทำกิจกรรมพัฒนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การแปรรูปขนมงา และผลผลิตทางการเกษตร การทำกิจกรรมครัวใบโหนด และการสร้างตลาดเขียวเกษตรอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนให้กับคนในชุมชน
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำกิจกรรมออมทรัพย์ คือ เป็นการช่วยเหลือกันตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน นั่นคือ มีการจัดสวัสดิการให้ครอบครัวสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย ทารกแรกเกิดจะได้เป็นสมาชิกกลุ่มและมีเงินขวัญถุงให้รายละ 3,000 บาท มีกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุในแต่ละปี และมีฌาปณกิจศพให้กับสมาชิกที่เข้าร่วม และนอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การช่วยไถ่ถอนที่ดินของเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินและต้องการรักษาที่ดินทำกินไว้
จำนองที่ดินไว้กับกลุ่ม 20 ปี รายได้ไม่แน่นอน ขาดส่ง แต่ที่ดินไม่หลุดมือ
นางเปลื้อง มุสิกะ อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 95/2 หมู่ที่ 1 ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เริ่มเป็นสมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์บ้านบ่อกุล เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนด เมื่อปี 2538 ฝากเงินกับกลุ่มเดือนละ 50-100 บาท และเป็นสมาชิกกันทั้งครอบครัว นางเปลื้องมีปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกับธกส. ครั้งแรกกู้มา 30,000 บาท เพื่อมาประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ด้วยภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้งานที่ทำอยู่เกิดรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ในปี 2542 จึงได้ขอยืมโฉนดที่ดินของพ่อ มาจำนองกับกลุ่มออมทรัพย์สัจจะ แล้วเอาเงินไปปิดหนี้ที่ ธกส. และเงินส่วนที่เหลือเอาไปทำทุนต่อ ในช่วงแรกของการทำงานแทบไม่ได้ชำระหนี้ ส่งได้เดือนละ 200-300 บาทพร้อมดอกเบี้ย ต่อมารายได้ไม่เพียงพอ จึงต้องออกไปทำงานต่างถิ่น พร้อมกับความตั้งใจว่าวันหนึ่งจะเก็บเงินมาไถ่ถอนที่ดินคืนจากกลุ่มให้ได้
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา นางเปลื้องได้นำเงินเก็บตลอดเวลาสิบกว่าปีของตนเอง มาขอไถ่ถอนที่ดินคืนจากกลุ่ม เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 203,500 บาท นางเปลื้องเล่าว่า “หากตนเองและสามีนำเอาที่ดินไปจำนองกับธนาคารหรือนายทุนนอกระบบ ตอนนี้คงจะไม่สามารถไถ่ถอนที่ดินได้เหมือนกับที่ฝากอยู่ที่กลุ่มฯ ระยะเวลาที่นำเอาที่ดินมาฝากรวมแล้ว 20 ปี แต่กลุ่มก็ยังไม่มีการยึดที่ดิน อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายให้ตนและครอบครัวอีก ทางครอบครัวจึงขอขอบคุณกลุ่มออมทรัพย์สัจจะเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าตนเองจะไปทำงานต่างถิ่น แต่ตนก็ยังจะขอฝากเงินออมทรัพย์กับกลุ่มไปเรื่อย ๆ”
นางเปลื้องเป็นเพียงหนึ่งในหลายสิบตัวอย่างที่ทางกลุ่มได้ช่วยรักษาที่ดินเอาไว้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากหนึ่งในเป้าหมายและเจตนารมณ์สำคัญของกลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนด คือ การจัดสรรเงินกองทุนของกลุ่มฯ ร้อยละ 10 เพื่อรักษาที่ดินของชุมชน การซื้อที่ดินไว้กับกลุ่มไม่ให้ที่ดินหลุดมือ ไม่ให้คนภายนอกได้เข้ามามีสิทธิครอบครอง และได้ช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ให้มีที่ทำกินและสามารถอยู่ได้อย่างมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และความหลากหลายทางชีวภาพ
ที่ดินเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต หากไม่มีที่ทำกินก็เหมือนขาดเครื่องมือในการทำกิน เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ครัวใบโหนดจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินเพื่อประกอบอาชีพ การไถ่ถอนที่ดิน หรือต้องการที่ดินทำกิน เพื่อที่จะดำรงรักษาที่ดินและวิถีชีวิตให้กับคนในชุมชนต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 6 มี.ค. 2562
ผู้เขียน : ณัฎฐวี สายสวัสดิ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.