เมื่อวันเสาร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดกิจกรรมทัวร์ 'ปรุงรัก ผักอินทรีย์' เชื่อมโยงสายใยผู้ผลิต ผู้บริโภค โดยนำผู้บริโภคจากกรุงเทพฯและฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่เยี่ยมแปลงผู้ผลิตกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
เป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของอาหาร ฐานการผลิตอาหารอินทรีย์ และสถานการณ์ของเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ ร่วมรักษาฐานการผลิตอาหารปลอดภัยและวิถีการผลิตที่ยั่งยืน และถือเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ด้วยการมาให้เห็นพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ในสถานที่จริงและได้ลงมือทดลองทำด้วยตนเอง เพิ่มประสบการณ์ด้วยการเรียนรู่ร่วมกับผู้อื่น
จากไร่มันสำปะหลัง สู่แปลงเกษตรอินทรีย์
“กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต” มีจุดเริ่มต้นประมาณปี 2524 เมื่อนักพัฒนาเอกชนได้เข้าไปบุกเบิกทำงานกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เริ่มทำงานทางความคิดกับคนในชุมชนผ่านกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อให้กลุ่มออมทรัพย์เป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มและสมาชิก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ กลุ่มออมทรัพย์กลุ่มแรก คือ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการพัฒนาบ้านยางแดง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยายผลไปจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ไปยังชุมชนต่างๆ ในพื้นทีใกล้เคียง พร้อมกับการทำงานส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกเกิดการปรับระบบการผลิตมาเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนจากไร่มันสำปะหลัง สู่แปลงเกษตรอินทรีย์ และพืชผักพื้นบ้าน โดยเริ่มจากเกษตรกรที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต
ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิกในเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ จำนวน 125 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ตลาดต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับสหกรณ์กรีนเนต ส่งออกผลผลิตเกษตรอินทรีย์ อาทิเช่น ข้าว สมุนไพรเครื่องเทศ ตลาดในประเทศ จัดส่งผักพื้นบ้านประมาณ 50 รายการให้กับร้านค้าปลีก ได้แก่ เลม่อนฟาร์ม ตลาดสีเขียว (Green Market) เป็นการพัฒนาตลาดให้ผู้ผลิตค้าขายเอง ได้แก่ ตลาดสีเขียวในโรงพยาบาล ตลาดเขียวที่โรงแรมรีเจนท์ กรุงเทพฯ ประจำทุกวันพฤหัสบดี นอกจากนี้มีการตลาดระบบสมาชิก Community Support Agriculture (CSA) โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อชนิดผักที่ต้องการได้ล่วงหน้ากับผู้ผลิต โดยผลผลิตจะถูกจัดส่งไป ณ จุดกระจายย่อยตามที่ตกลง จากบทเรียนการตลาดเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มพบว่า ทิศทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับวิถีการผลิตของเกษตรรายย่อย คือ ตลาดท้องถิ่น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการผลผลิตปริมาณไม่มากและมีความหลากหลาย ในขณะที่การตลาดส่งออกต้องการผลผลิตปริมาณมาก แต่ไม่มีความหลากหลาย
สัมผัสธรรมชาติ ชมสวนผักอินทรีย์
กิจกรรมการท่องเที่ยว ปรุงรักผักอินทรีย์ สายใยผู้ผลิต ผู้บริโภค มีกิจกรรมให้ผู้บริโภคเยี่ยมชมแปลงของเกษตรกรสมาชิกและแปลงผักของกลุ่ม การเดินชมแปลงผักจะทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าภายในแปลงผักของที่นี่จะมีการผลิตผักหลากหลายชนิด ทั้งชนิดที่เรารู้จักกันดี เช่น กวางตุ้ง คะน้า แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ชะอม ผักสลัด บล็อกเคอรี่ ฯลฯ และผักพื้นบ้านที่ผู้บริโภคอาจไม่คุ้ยเคยนัก เช่น ผักแต้ว ผักชะมวง ผักหนาม เป็นต้น นอกจากพืชผักภายในแปลงยังมีไม้ผล และไม้ใช้สอยร่วมด้วยในแปลง ถือเป็นการทำเกษตรอินทรีย์รูปแบบแปลงผสมผสาน มีผลผลิตตลอดทั้งปีเป็นรายได้หมุนเวียนของผู้ผลิต ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าการทำแปลงผักต้องมีการวางแผนในการปลูกพืชผักภายในแปลง
ปรุงรัก ผักอินทรีย์ เริ่มจากปรุงดิน
กิจกรรมต่อมาคือการปรุงดิน หรือการเตรียมดินสำหรับปลูกผัก ผสมดินให้มีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่ผักต้องการ สัดส่วนคือ ดินดี 1 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน หลังจากคลุกเคล้าหรือปรุงดินให้เข้ากันดีแล้ว จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้นำดินที่ปรุงเสร็จแล้วตักใส่กระถาง จากนั้นเลือกต้นกล้าผักชนิดที่ต้องการนำลงปลูกในกระถางและนำกลับบ้านไปดูแลต่อ เพื่อทดลองเป็นผู้ผลิตดูสักครั้ง และผลตอบแทนคงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากผักที่จะเติบโตมาพร้อมให้ผู้บริโภคได้นำมาทำเมนูปรุงรักให้ตนเองและครอบครัว
และกิจกรรมสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำแปลงผักอินทรีย์ คือเรียนรู้ขั้นตอนการเก็บเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกในครั้งต่อไป เป็นการรักษาเมล็ดพันธุ์ การพึ่งพาตนเองและยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรผู้ผลิตไปในตัวด้วย ปัจจุบันทางกลุ่มมีเมล็ดพันธุ์พืชผักอินทรีย์ที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง จำนวนกว่า 100 ชนิดต่อปี
ตลอดระยะเวลา 1 วันเต็มจากกิจกรรมที่ผู้บริโภคได้เรียนรู้จากผู้ผลิตไปนั้นทำให้รู้ว่าไม่ง่ายเลยในขั้นตอนการทำเกษตรอินทรีย์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ การวางแผนก่อนที่จะลงมือทำ การเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมดิน จนถึงการรดน้ำ พรวนดิน เก็บเกี่ยว และส่งถึงมือผู้บริโภค แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับเกษตรกรที่ทำด้วยหัวใจ พวกเขาต่างทุ่มแรงกายและแรงใจเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับตนเองและผู้บริโภค และเป็นผลดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจแล้ว นั่นคือผู้บริโภคได้รับความรู้ ความเข้าใจถึงต้นทางการผลิต สถานการณ์ชีวิตของเกษตรกร เพื่อเชื่อมโยงสายใยระหว่างผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ในการส่งต่อสิ่งดีดีให้กัน เพื่อสรรค์สร้างสังคมดีร่วมกัน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 ก.พ. 2562
ผู้เขียน : สุชาดา ทรงบัญฑิต
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.