ความไม่เท่าเทียมทางเพศถือเป็นประเด็นที่คนพูดถึงกันในหลายวงการ ตั้งแต่วงการบันเทิงไปจนถึงเทคโนโลยี แต่ความไม่เท่าเทียมทางเพศในภาคอุตสาหกรรมเกษตรกลับไม่ค่อยมีใครสนใจนัก ทั้งที่ภาคเกษตรกรรมมีความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่อย่างเห็นได้ชัด
เกษตรกรผู้หญิงและผู้หญิงที่อยู่ในชนบทของประเทศในแถบเอเชียและออสเตรเลียยังคงเผชิญกับการกดขี่และความไม่เท่าเทียมทางสังคมอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกษตรกรผู้หญิงรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเกษตรกรรม กฎหมาย สิทธิที่ดิน สิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้ภาครัฐและสังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกษตรกรผู้หญิงต้องเผชิญ 'ลาเวียคัมเปซินา' ก็ถือเป็นเครือข่ายเกษตรกรผู้หญิงที่ใหญ่และเข้มแข็งมากเครือข่ายหนึ่ง
การประชุมภูมิหญิงลาเวียคัมเปซินาระดับภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลียปีนี้มีผู้เข้าร่วมจาก 11 ประเทศ แต่ปัญหาและอุปสรรคของพวกเธอกลับไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยเกษตรกรจำนวนมากยังต้องต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน ที่บรรพบุรุษครอบครองมานาน แต่ถูกคุกคามด้วยการพัฒนาที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของเกษตรกรและไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์จนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เปลี่ยนไป เช่น การสร้างเขื่อนปากมูล ที่ทำให้ปลาในพื้นที่ลดลง ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
ญี่ปุ่น
ซะซะกิ ญี่ปุ่น
คะโยโกะ ซะซะกิ รองผู้อำนวยการสมาคมผู้หญิงของโนมินเรน ขบวนการครอบครัวเกษตรกรญี่ปุ่นกล่าวว่า เธอมาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ระเบิดอย่างรุนแรงในปี 2011 หลังเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้มีคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยจำนวนมาก สูญเสียบ้านและที่ดินทำกิน หลายคนเป็นเกษตรกรมานาน แต่เมื่อต้องย้ายออกจากพื้นที่ก็ต้องไปหางานอื่นทำ
ขณะที่สารกัมมันตรังสีปนเปื้อนพื้นที่ เมื่อดินมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนก็ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หรือผลิตผลที่ได้จากการทำการเกษตรหรือประมงบริเวณรอบนอกฟุกุชิมะก็ขายไม่ได้ เพราะคนยังไม่มั่นใจว่าสินค้าเหล่านั้นปลอดภัยหรือไม่ เธอและคนในชุมชนจึงร่วมกันต่อสู้เพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ และคัดค้านไม่ให้บริษัทญี่ปุ่นไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอื่นอีกด้วย เพราะเธอมองว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นศัตรูกับการทำเกษตรกรรม
ซะซะกิกล่าวถึงปัญหาของเกษตรกรผู้หญิงโดยรวมในญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นมีปัญหาคล้ายกับหลายประเทศ แม้จะมีกฎหมายที่ระบุว่าจะปกป้องความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิง แต่ในความเป็นจริง คนก็ยังมีทัศนคติเดิมๆ ว่า ผู้หญิงควรอยู่บ้าน ผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน เธอมองว่า วิธีส่งเสริมเกษตรกรผู้หญิงมี 2 ข้อได้แก่
1. เกษตรกรผู้หญิงจะต้องพึ่งพาตัวเองได้ หมายความว่าผู้หญิงต้องมีรายได้เพียงพอ การมีระบบที่ดีในการจัดสรรรายได้ให้ผู้หญิงอย่างเพียงพอจึงสำคัญมาก 2. ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ แต่เธอก็ยอมรับว่าแม้แต่ในองค์กรของเธอเอง คนที่เข้าร่วมประชุมหลายคนเป็นผู้ชาย ดังนั้น เธอจึงพยายามจะสื่อสารว่า การมีผู้หญิงอยู่ในองค์ประชุมมากขึ้นจะเป็นก้าวแรกไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ
ออสเตรเลีย
ซาแมนธา ออสเตรเลีย
ด้านซาแมนธา พาล์มเมอร์ ตัวแทนจากพันธมิตรอธิปไตยทางอาหารออสเตรเลียอธิบายว่า แม้ออสเตรเลียดูเหมือนจะมีความเท่าเทียมทางเพศระหว่างชายหญิงมากกว่าหลายประเทศในเอเชีย แต่ภาคเกษตรกรรมก็ยังคงเป็นพื้นที่ของผู้ชายอยู่ เธออธิบายว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ เกษตรกรรมในออสเตรเลียส่วนใหญ่ถึงเป็นเกษตรขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ จึงมีภาพว่าเกษตรกรรมเป็นงานของผู้ชาย ผู้หญิงไม่ค่อยได้รับความเคารพเท่าผู้ชาย บางครั้งก็มีการบอกเป็นนัยว่าผู้หญิงไม่รู้ว่าต้องทำอะไรเท่ากับผู้ชาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เพราะผู้หญิงก็มีความรู้ความสามารถด้านทำการเกษตร การตลาด และการแปรรูป
พาล์มเมอร์กล่าวว่า คนมันคิดว่ผู้ชายต้องไปทำงานในฟาร์ม ส่วนผู้หญิงก็จะทำเรื่องการเงิน บัญชี หรือทำงานนอกฟาร์ม เพื่อช่วยหารายได้เสริมให้ครอบครัว แต่กระแสเกษตรแนวใหม่อย่างการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือเรียกอีกอย่างว่าเกษตรกรรมฟื้นฟู จะมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่เข้ามาทำ เพราะมีพื้นที่เกษตรไม่ใหญ่มากนัก และมีการจัดแบ่งสัดส่วนการใช้พื้นที่ไว้อย่างดี ทำให้ผู้หญิงเข้มแข็งมากในหมู่เกษตรกรที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน
อินโดนีเซีย
สิตี อินโดนีเซีย
สิตี อินายาห์ ตัวแทนจากสหภาพชาวนาอินโดนีเซีย (SPI) กล่าวว่า ใน SPI เอง เวลาที่มีเรื่องจะต้องตัดสินใจ การตัดสินใจจะมาจากตัวแทน 2 คนจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพื่อให้มีความเท่าเทียมทางเพศในระดับการตัดสินใจ และใน SPI ก็มีพื้นที่ของผู้หญิงโดยเฉพาะ เพราะบางเรื่องก็มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะเข้าใจ สามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับผู้หญิง และถ้าผู้ชายเข้ามาเป็นสมาชิก SPI เขาจำเป็นต้องนำผู้หญิงในครอบครัวของเขามาด้วย เพราะพวกเขาจำเป็นต้องสร้างครอบครัวเข้าโครงการครอบครัวเกษตรกร
เช่นเดียวกับผู้หญิงในหลายๆ สาขาอาชีพ ผู้หญิงที่เป็นเกษตรกรก็สวมหมวก 2 ใบ เป็นแม่ของลูกๆ เป็นภรรยาของสามี เวลาอยู่บ้าน แต่เวลาออกจากบ้าน เธอก็ต้องเป็นชาวนาด้วย ดังนั้น สิตีมองว่า ควรมีการแบ่งภาระหน้าที่กันอย่างเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และจะทำเช่นนั้นได้ ผู้ชายก็จำเป็นต้องได้รับการอบรมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย
นอกจากนี้ เกษตรกรผู้หญิงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิที่ดินของตัวเอง เพราะสังคมชายเป็นใหญ่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงโอกาสในการครอบครองที่ดินทำกิน เพราะพ่อแม่ก็มักจะส่งต่อที่ดินให้กับลูกชายมากกว่า หรือเมื่อสามีเสียชีวิต ที่ดินก็อาจถูกส่งต่อไปยังญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชาย แทนที่จะเป็นของภรรยา ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องไปเป็นลูกจ้างในไร่นาของคนอื่น อาจเลือกไม่ได้ที่จะต้องใช้สารเคมีในการทำเกษตร
หนึ่งในประเด็นที่การประชุมลาเวียคัมเปซินาหารือกันก็คือเรื่องความรุนแรงต่อเกษตรกรผู้หญิง โดยสิตีอธิบายว่า การละเมิดเกษตรกรผู้หญิงในอินโดนีเซียไม่ได้มีแค่เรื่องความรุนแรงภายในครอบครัว ที่เกิดในบ้านแต่ยังหมายคือการได้รับสารปนเปื้อนต่าง ๆ ที่มาจากปุ๋ยเคมี โดยเกษตรกรผู้หญิงได้รับสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลงระหว่างการทำงาน จะได้รับผลกระทบอย่างมากกับระบบการสืบพันธุ์ของผู้หญิง ส่วนใหญ่ ผู้หญิงเหล่านี้ก็เป็นมะเร็งและเสียชีวิต ดังนั้น ทุกปี เกษตรกรผู้หญิงในอินโดนีเซียจึงจัดงานรำลึกถึงเกษตรกรผู้หญิงที่เสียชีวิตจากความรุนแรงนี้
ที่มา : Voice TV วันที่ 6 ก.พ. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.