สัปดาห์นี้เป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 2562 แต่ยังไร้พรรคการเมืองใด ที่ออกมาชูนโยบายแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้นเหตุก่อมลพิษ หรือว่าเรื่องดีๆ นักการเมืองมักมองข้าม
แม้ว่าช่วงนี้ละอองฝุ่น PM 2.5 จะเบาบางลงบ้าง แต่บ้านเราคงจะฝุ่นตลบไปจนถึง 24 มี.ค.โน่น เพราะเป็นช่วงเทศกาลเลือกตั้ง ปีนี้ไม่เฉพาะกรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่หลายจังหวัดเจอปัญหาละอองฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้ง เชียงใหม่ ตาก สระบุรี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรปราการ ขอนแก่น เป็นต้น
นั่นแสดงว่าปัญหามลพิษจากฝุ่นที่เกิดจากรถที่ใช้น้ำมันดีเซล การเผาพืชเกษตร เช่น เผาอ้อย ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ชักชวนให้ชาวบ้านปลูกอ้อยแทนการทำนาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างและจากโรงงานอุตสาหกรรมมีมานานหลายปีแล้ว
แต่ที่ผ่านมาเกิดในต่างจังหวัดเรื่องก็เลยไม่ดัง อีกทั้งเมื่อก่อนสื่อโซเชียลฯ ยังไม่แรง ต่างจากวันนี้ปัญหาเกิดกับคนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางประเทศก็เลยเป็นที่สนใจ รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยให้ความสนใจ อันที่จริงไม่เฉพาะเรื่องฝุ่นพิษ แต่แทบจะทุกปัญหาต้องให้คนกรุงเทพฯ โวยวายเพราะเสียงดังกว่าคนต่างจังหวัด
ต้องยอมรับว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพโดยตรง ระยะยาวจะทำให้การทำงานของปอดถดถอย อาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้ไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และเพิ่มโอกาสทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลและกรุงเทพฯ ก็ทำได้เพียงเอาน้ำฉีดขึ้นฟ้า หรืออย่างดีก็ใช้โดรน ใช้เครื่องบินเล็กบินขึ้นไปพ่นน้ำบนฟ้า
ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่เห็นพรรคการเมืองไหนเสนอทางออกที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น จะแก้ปัญหาเรื่องรถเก่าที่ใช้น้ำมันดีเซล ว่าจะลดปริมาณลงได้อย่างไร จะจำกัดอายุรถยนต์ที่ใช้รถดีเซลเหลือกี่ปี จะแก้ปัญหาปิกอัพในกรุงเทพฯ2ล้านคันอย่างไร จะกล้าลดมาตรฐานจาก 50ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรลงเหลือ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามที่กลุ่มกรีนพีชเสนอหรือไม่ หรือจะใช้มาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม
อีกเรื่องคือเรื่อง “เกษตรอินทรีย์”หากใครติดตามนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตร จะเห็นว่ารัฐบาลนี้และรัฐบาลที่ผ่านๆ มาต่างก็ให้ความสำคัญกับการที่จะให้ไทยเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ ทั้งในเรื่องการผลิต การค้า การบริโภค และการบริการเกษตรเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ “ครัวโลก”
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยังกำหนดการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 คาดว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามแผน ประเทศไทยจะมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.33 ล้านไร่ เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 9.67 หมื่นราย ตั้งเป้าสัดส่วนตลาดภายในประเทศ 40% ตลาดต่างประเทศ 60%
อย่างไรก็ตาม ทุกรัฐบาลบอกว่าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก แต่กลับไม่ผลักดันเกษตรอินทรีย์จริงๆ จังๆ ทั้งที่สถานการณ์การผลิตเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกกำลังมาแรงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วโลกมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงถึง3 ล้านล้านบาท และยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เรียกว่าสำหรับตลาดเกษตรอินทรีย์ยังมีช่องว่างและโอกาสสร้างรายได้มหาศาล
อีกทั้งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะให้ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุเป้าหมายขึ้นแท่นผู้นำในระดับภูมิภาคได้ไม่ยาก เนื่องจากเรามีความได้เปรียบทั้ง สภาพภูมิอากาศ ทำเล ที่ตั้ง ประกอบกับการที่ไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารแหล่งใหญ่ของโลกอยู่แล้ว
แต่ทว่าปัญหาและอุปสรรคของเกษตรอินทรีย์บ้านเราที่ยังไม่ไปไกลเท่าที่ควร เนื่องมาจากพื้นที่ข้างเคียงยังใช้สารเคมี ดังนั้นหากประเทศไทยจะเป็น “ครัวโลก” จริงๆ ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ปลอดสารเคมี ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังใช้สารเคมีเพราะต้นทุนต่ำ
นั่นเท่ากับว่าจะต้องห้ามใช้ หรือห้ามนำเข้าสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เป็นตัวทำให้เกิดปัญหาเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าสารพาราควอต 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท เป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย ตามด้วยสารไกลโฟเซต ที่ไทยนำเข้า 59,852 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,283 ล้านบาท
แต่เท่าที่ติดตามนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่มีพรรคไหน หยิบยกปัญหามลพิษจากละอองฝุ่น หรือ ผลักดันประเทศเป็นครัวโลก เป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีมาเป็นนโยบายหลักแม้แต่พรรคเดียว ทั้งที่ปัญหาฝุ่นขนาดจิ๋ว PM 2.5 ที่ก่อมลพิษและปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตรเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง กระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก.
................................................
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 7 ก.พ. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.