เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาทางมูลนิธิชีวิตไท(โลโคลแอค)ได้จัดเวทีอบรมความรู้กฎหมายให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สิน โดยทีมทนายความจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องสิทธิที่เกษตรกรควรรู้ในขั้นตอนสำคัญตั้งแต่ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ไปถึงขั้นตอนศาลมีคำพิพากษาบังคับคดี ผู้เขียนมองว่าประการณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากไม่เฉพาะกับเกษตรกรเท่านั้นแต่รวมถึงผู้บริโภคทุกคนที่กำลังตัดสินใจจะเป็นหนี้ว่าควรเตรียมตัวสู้คดีอย่างไร
ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ ผู้กู้ย่อมรู้ว่าต้องการนำเงินก้อนนี้ไปทำอะไร และควรนำเงินกู้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ แม้ว่าโดยทั่วไปชาวนาก่อนเป็นหนี้ได้ใช้เงินลงทุนของตนเองจนไม่มีเงินเหลือ และเมื่อทำนาขาดทุนจึงไปกู้มาลงทุน โดยผู้กู้สามารถตรวจสอบเครดิตบูโรได้ด้วยตัวเองผ่านธนาคารของรัฐหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร มีค่าใช้จ่าย 170 บาท เพื่อได้รู้ข้อมูล ประวัติการชำระหนี้ การเช่าซื้อรถยนต์ การค้ำประกันต่างๆ หรือการเข้าโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ผู้กู้ได้รู้ข้อมูลสถานะหนี้และได้นำข้อมูลมาวางแผนการขอสินเชื่อต่อไป
เมื่อธนาคารอนุมัติการกู้ ระยะเวลาการชำระหนี้ที่ระบุในสัญญาเป็นประเด็นที่ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจผิดบ่อยและส่งผลต่อการถูกฟ้องร้องในเวลาต่อมา ดังนั้นผู้กู้ควรดูว่าตนเองต้องชำระหนี้แบบไหน เช่น เป็นสัญญาระบุระยะเวลา จำนวนเงินที่ต้องชำระไว้ชัดเจนทุกเดือน(fixed rate)ตลอดสัญญา หรือ สัญญาประเภทที่ตกลงให้ผู้กู้ชำระเงินขั้นต่ำเดือนละ(ระบุจำนวนเงินในสัญญา)ทำให้เกษตรกรบางคนเข้าใจได้ว่าสามารถชำระครั้งเดียวได้หลายเดือนทำให้ในเดือนที่ 2 3 4 ไม่ได้ชำระ จึงปรากฏว่ามีหมายศาลมาที่บ้านเพราะผิดนัดชำระหนี้ จริงๆ คือ ต้องชำระทุกเดือนแต่มีขั้นต่ำระบุไว้ว่าต้องจ่ายจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสัญญาในลักษณะนี้มีข้อดีคือถ้าเราจ่ายหนี้เยอะกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่ระบุในสัญญาจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปตัดลดเงินต้นได้เลย
อีกประเด็นที่สำคัญที่เกษตรกรเรียกว่า สัญญาบังคับให้สมัครใจเนื่องจาก ในสัญญาระบุว่า ถ้าลูกหนี้ผิดนัดให้บังคับยึดได้เฉพาะที่ดินที่ติดจำนอง แต่ธนาคารจะให้ผู้กู้เซ็นสัญญาต่อท้ายจำนองคือเซ็นยกเว้นมาตรา 733 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 อนุญาตให้ยึดทรัพย์เพิ่มได้ในกรณีที่ทรัพย์ไม่เพียงพอเพื่อประกันความเสี่ยงให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งหากโฉนดที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินแปลงเดียวกัน ถ้าแบ่งและบรรยายส่วนไว้ชัดเจน เช่น มีการขั้นรั้วไว้ที่ดินแปลงนั้นจะไม่ถูกยึด
เมื่อผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ในลำดับแรกจะมีการทวงถามจากเจ้าหนี้ทางโทรศัพท์และจดหมาย ถ้าผู้กู้ผิดนัดเกิน 3 งวด ทางธนาคารจะเชิญผู้กู้ไปปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งหมายถึงยอดหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นจาก(หนี้เงินต้นคงค้าง+ค่าทวงถาม+เบี้ยปรับ+ดอกเบี้ยผิดนัดรวมแล้วกลายเป็นเงินต้นใหม่) และทำสัญญาใหม่กับทางธนาคารสิ่งที่ผู้กู้ควรจดจำคือ การปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด คือเงินที่จ่ายมาก่อนหน้านี้จะถูกยึดไปทั้งหมด ดังนั้นเกษตรกรต้องดูก่อนว่ามีความพร้อมแค่ไหน เพราะบางรายกลัวเสียเครดิต กลัวจะถูกยึดทรัพย์จึงเลือกที่จะปรับโครงสร้างหนี้
และถ้าเกษตรกรเลือกไม่ไปปรับโครงสร้างหนี้ ทางเจ้าหนี้จะมีจดหมายมาจากสำนักงานกฎหมายแจ้งว่าให้ไปชำระหนี้ ถ้าไม่ชำระหนี้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาและจะใช้สิทธิทางศาลต่อไป ในระหว่างนี้ ทางเจ้าหนี้จะมีทนายความมาพูดว่า “เขาไม่อยากฟ้องคุณนะ ให้คุณชำระมาก่อนได้ไหมเดือนละ 500 บาท เดือนละ 1,000 บาท เพื่อชะลอการฟ้อง” แต่จริง ๆ ก็ยังฟ้องเหมือนเดิมและไม่ได้เอาไปหักหนี้ด้วย
เมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เมื่อถูกฟ้องเกษตรกรส่วนมากไม่ได้ไปต่อสู้คดีเพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความรู้และต้องมีทนายความไปขึ้นศาล หรือเกษตรกรที่ไปศาลมักถูกทนายความฝ่ายเจ้าหนี้ให้เซ็นเอกสารก่อนขึ้นศาล อ้างว่าจะได้จบเลยไม่ต้องมาศาลอีก ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเซ็นรับทั้งหมด รวมดอกเบี้ยและค่าปรับเต็มจำนวน ซึ่งในขั้นตอนนี้ถ้าลูกหนี้ไม่ไปศาลจะเสียเปรียบเจ้าหนี้ หรือถ้าไปไม่ควรเซ็นเอกสารกับทนายความโดยที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าศาลดังนั้นเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กู้ต้องไปศาล การไปศาลต้องไปเจอผู้พิพากษาเข้าไปในห้องพิจารณา ต้องแสดงตัวว่าเรามาคดีอะไร ชื่ออะไร แถลงด้วยวาจาได้เลย ไม่ควรไปเซ็นเอกสารใด ๆ กับทนายความฝ่ายโจทก์ เพราะส่วนใหญ่จะกลายเป็นสัญญายอมความต้องจ่ายหนี้ตามที่เจ้าหนี้ร้องขอต่อศาล
ปัจจุบันคดีที่ฟ้องส่วนใหญ่เป็นคดีผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นกับเกษตรกรหลายเรื่อง เช่น ระยะเวลายื่นคำให้การ ปกติกำหนดไว้ให้ยื่นภายใน 15 วัน แต่ถ้าเป็นคดีผู้บริโภคให้ไปยื่นคำให้การในวันที่ไปขึ้นศาลได้เลย ในวันไปศาลถ้าผู้กู้หรือผู้ค้ำไม่สามารถไปศาลได้สามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้คนอื่นไปแทนได้ โดยต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบพร้อมกับติดอากรแสตมป์ ซึ่งคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายความก็ได้ ผู้กู้รวบรวมข้อมูลไปแถลงต่อศาลเช่น ดอกเบี้ย ค่าทวงถาม ค่าปรับ มากไป เรามีภาระ มีหนี้สินอะไรบ้าง แถลงขอให้ศาลลด ซึ่งยอดหนี้ที่เจ้าหนี้ขอมาก็จะไม่เป็นไปตามนั้น ในระหว่างนี้อาจมีการตกลงกันได้ที่ศาลเราก็ผ่อนชำระไปตามที่ตกลงกัน แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลก็จะพิพากษา
ในขั้นตอนศาลพิพากษาบังคับคดี ตามข้อกฎหมายถ้าไม่เป็นธรรมผู้กู้สามารถอุทธรณ์ได้ ในขั้นตอนนี้ จะมีคำบังคับมาติดที่บ้านลูกหนี้ ในคำบังคับจะมีคำเตือนว่าจะดำเนินการจับกุม คุมขัง ซึ่งเกษตรกรไม่ต้องกลัวเนื่องจากเป็นคดีทางแพ่ง และในระหว่างนี้ทนายความฝ่ายเจ้าหนี้เริ่มสืบทรัพย์ บังคับคดี การบังคับคดีมีระยะเวลา 10 ปีนับจากวันพิพากษาโดยทางเจ้าหนี้จะเอาทรัพย์ที่จำนองไว้มาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ถ้าทรัพย์ไม่เพียงพอเจ้าหนี้จะยึดทรัพย์อื่นและถ้าทรัพย์ที่ยึดไปขายทอดตลาดแล้วได้เงินมากกว่าหนี้ ส่วนเกินนี้เจ้าหนี้ต้องคืนให้ลูกหนี้ การยึดทรัพย์กรณีลูกหนี้มีรายได้เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น บัญชีเงินฝาก มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เจ้าหนี้สามารถอายัดได้เลย แต่ถ้าอยู่ในระหว่างเช่าซื้อเจ้าหนี้จะหาไม่เจอเพราะไฟแนนซ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เมื่อเราผ่อนเสร็จแล้วทางเจ้าหนี้จะมาแสดงตัวขอยึดได้ทันที
ความรู้ในขั้นตอนต่าง ๆ ทางกฎหมายนับตั้งแต่การผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเกษตรกรชำระหนี้ต่อไม่ไหวก็ไม่ควรไปปรับโครงสร้างหนี้เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี การถูกฟ้องจำไว้ว่าต้องไปต่อสู้ในชั้นศาลเพราะถ้าเราพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงจำนวนหนี้ที่แท้จริงคำพิพากษาที่เกิดขึ้นเกษตรกรอาจรับได้ คดีก็จะไม่ไปถึงขั้นบังคับคดี ความรู้จึงสำคัญเพื่อรักษาสิทธิของตนเองไม่ให้เสียทรัพย์สินโดยง่ายกับเจ้าหนี้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 ม.ค. 2562
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.