“ข้าว” เป็นพืชเศรษฐกิจที่ผูกพันกับชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คนในแวดวงข้าวไทยทุกวันนี้กำลังถูกท้าทายจากหลายด้าน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรดินและน้ำ การผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพเพราะขาดความรู้ในการจัดการไร่นา การเข้าสู่วัยสูงอายุของชาวนา ภัยพิบัติต่างๆ และภาวะหนี้สินจนทำให้สูญเสียที่ทำกิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งความสามารถในการแข่งขัน และซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในสังคม
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวในเวทีเสวนา “การปฏิรูปข้าวและชาวนาไทย : ถึงเวลาหรือยัง” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ว่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “ทุกรัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำด้วยการใช้แต่นโยบายเงินอุดหนุนพยุงราคาแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น” จึงไม่ช่วยให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรในระยะยาว
อาทิ รัฐบาลปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าว แต่กลับให้เงินอุดหนุนในโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวนาปีในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินรายละ 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 1.8 หมื่นบาท ถือเป็นการทำนโยบายที่ขัดแย้งกัน เพราะเกษตรกรมีแรงจูงใจในการปลูกข้าวเพื่อจะได้รับเงินอุดหนุน ขณะที่นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลก่อนหน้า ทำให้เกษตรกรไม่พัฒนาคุณภาพข้าว เพราะปลูกข้าวอะไรก็ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลหมด
นิพนธ์กล่าวต่อไปว่า “เงินที่รัฐบาลใช้สนับสนุนงานวิจัยลดลงมากอย่างน่าตกใจ” ที่ผ่านมา 4-5 รัฐบาล ใช้งบทำการวิจัย 4.30 บาท/ไร่ เมื่อไปดูงบดำเนินงานของกรมการข้าวปีก่อน พบว่ามีงบทำวิจัย 80 ล้านบาท ขณะที่งบสนับสนุนมากถึง 800 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตรไม่ทำหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกร “รัฐบาลต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้อุดหนุนมาเป็นผู้แก้ไขข้อบกพร่อง ทำวิจัย และคาดคะเนผลผลิตที่ถูกต้อง” ต้องเสนอให้พัฒนาเรื่องรายได้ เกษตรกรรู้จักการทำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ลดต้นทุน ไม่ใช่รัฐเป็นคนนำเงินไปอุดหนุนลดต้นทุน
ทั้งนี้หลายประเทศทำเรื่อง “เกษตร 4.0” กันแล้ว ต้องปฏิรูปงานวิจัย จัดสรรงบประมาณวิจัยให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการตลาดในอนาคต ส่งเสริมภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมเพราะจะเข้าใจกลไกมากกว่าภาครัฐ การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร รัฐควรนำนโยบายไปวิจัยต่อเพื่อดูว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพและใช้ภาษีของประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งต้องดูว่ามีผลต่อรายได้และต้นทุนของชาวนา โรงสี และต่อการค้าอย่างไร จากนั้นจึงให้ลำดับความสำคัญของนโยบายที่ต้องปฏิรูปและที่ไม่ควรทำ
“ประเด็นที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการกำหนดนโยบายในอนาคต คือการเปลี่ยนแปลงของบริบทต่างๆ เช่น ประเทศที่เจริญแล้วลดการบริโภคข้าว ราคาข้าวในตลาดโลกมีความผันผวนกว่าพืชตัวอื่น ความอ่อนแอขององค์กรในการจัดการนโยบาย เมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ที่มีองค์ความรู้ดีกว่านำไปสู่การพัฒนาที่รองรับความต้องการตลาดได้มากกว่า” นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าว
ขณะที่ ณรงค์ คงมาก กรรมการและเลขานุการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า การกำหนดราคาข้าวชาวนาไม่สามารถทำเองได้ เนื่องจากการกำหนดราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันนี้ต้องอิงจากราคาข้าวสารที่ส่งออก ซึ่งราคาข้าวที่กำหนดขึ้นไม่ได้สะท้อนมาจากราคาต้นทุนที่ชาวนาจะอยู่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวนาไทยอยู่ในสภาพที่ถูกกำหนดให้เข้าสู่ระบบทุนหรือระบบตลาด โดยที่ชาวนาไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปกำหนดทิศทาง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา
“ชาวนาขาดอำนาจในการต่อรอง ถูกกดขี่ ขูดรีดจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากกลไกการตลาดเป็นของพ่อค้าคนกลาง ซึ่งซับซ้อนมากขึ้นจากพ่อค้าในประเทศ เพิ่มเป็นพ่อค้าต่างประเทศในระบบตลาดโลก ชาวนาเป็นผู้ผลิต แต่ไม่ได้จัดการผลผลิตโดยตนเอง แตกต่างจากผลผลิตของบริษัทเอกชนทั่วไปที่สามารถกำหนดราคาขายได้ ส่วนนโยบายการอุดหนุนนั้นยิ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ในครัวเรือน ซึ่งข้าวไม่ควรจะขึ้นอยู่กับการเมือง จึงเห็นด้วยว่าควรมีการปฏิรูปเกิดขึ้น” ณรงค์ ระบุ
ด้าน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวกับข้าวและชาวนาของรัฐที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นเพียงแค่การเพิ่มรายได้เท่านั้น โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างของระบบการผลิตในไร่นา ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวอย่างมาก จนนำไปสู่ปัญหาสินค้าด้านข้าวเปลือก “มีอุปทานส่วนเกินมากกว่าความต้องการของตลาด” และยังส่งผลต่อภาวะตกต่ำของราคาสินค้าข้าวเปลือกตามมา
อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังได้เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการปรับตัวของต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นอีกด้วย และยังส่งผลกระทบต่อสถานภาพของเศรษฐกิจในภาคการเกษตรทั้งระบบ ส่วน “ความคิดที่ว่าการลดพื้นที่ปลูกข้าว จะช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้นนั้นเป็นเพียงมายาคติ” เนื่องจากราคาข้าวไม่ได้สูงขึ้นจากการลดพื้นที่ปลูกข้าว ตราบใดที่ยังมีการส่งออกข้าวอยู่ ขณะที่การนำเงินไปจ่ายให้ชาวนาไร่ละ 1,000-1,500 บาท ของรัฐบาลนี้ ไม่ได้ช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าวอย่างแท้จริง
“แนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนนั้น ต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ในแต่ละชุมชนจัดการปัญหาและดูแลกันเอง ซึ่งรัฐยกเลิกการแทรกแซงตลาดและราคาข้าวด้วยการจัดซื้อข้าวโดยหน่วยงานของรัฐ แต่หันมาลดต้นทุนการผลิตข้าวด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกำหนดการปลูกข้าวเปลือกผลิตข้าวสาร ที่ไม่ใช่เพียงกินอิ่มเท่านั้นแต่ต้องกินอร่อย ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อครองตลาดส่วนบนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น” ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ฝากข้อคิด
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 5 ม.ค. 2562
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.