หมายเหตุ – ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า จากนี้จึงจะขอนำเสนอซีรี่ส์ชุด “บทสรุปปี 2560” สัก 3-4 ตอน โปรดติดตาม
บทสรุปปี 2560
กระแสเกษตรกรรม (2)
โครงสร้างเกษตรกรรมไทยกำลังขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น ไปสู่โฉมหน้าใหม่ ไปยังกลไกและวงจรสำคัญ นั่นคือ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)
กรณี Jack Ma แห่ง Alibaba Group (เคยนำเสนอไว้อย่างเจาะจง เรื่อง “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” มติชนสุดสัปดาห์ 27 เมษายน และ 4 พฤษภาคม 2561) ธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งประเทศจีน ผู้นำการค้าออนไลน์ของโลก เจาะจงกล่าวถึงการค้าผลไม้ไทย (ทุเรียน) และสินค้าเกษตรพื้นฐานสำคัญของไทย (ข้าวหอมมะลิ) สะท้อนแรงปะทะครั้งสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เกษตรกรรมไทย
ว่าไปแล้วเป็นความเคลื่อนไหวว่าด้วยธุรกิจต่างชาติ (โดยเฉพาะกรณีจีน) เข้ามาในวงจรและกลไกสำคัญเกษตรกรรมไทยมีมาสักพัก เป็นปรากฏการณ์อย่างเงียบๆ
กรณี “ล้งจีน” (ผู้ค้าส่งจีน นำสินค้าจากเกษตรกรไทยโดยตรง ส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่) ถือเป็นครั้งสำคัญของโครงสร้างเกษตรกรรมพื้นฐานไทย มีต่างชาติ มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นๆ ในวงจรอันกว้างขวางใหญ่ครึกโครมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
เข้ามาในวงจรซึ่งสำคัญมากๆ วงจรของ “คนกลาง” ซึ่งเชื่อมโยงผลผลิตเกษตรกรไปยังตลาดผู้บริโภค แต่เดิมมีโครงสร้างเต็มไปด้วยผู้ค้ารายกลางและรายย่อยจำนวนมาก
กรณี Jack Ma แห่ง Alibaba Group มีความหมายสำคัญที่ซ่อนอยู่คือ โครงสร้างและระบบเกษตรกรรมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
การเปลี่ยนแปลงซึ่งเชื่อว่าจะมาอย่างรวดเร็ว แรงปะทะซึ่งเป็นภาพสะท้อนภาพใหญ่เกษตรกรรมกำลังเผชิญกระแสคลื่นลมรุนแรงและผันผวนมากขึ้น
เป็นแรงปะทะส่งผลกระทบทั้งลงลึกและกว้างขวางกว่าในอดีต พัฒนาไปอีกขั้นจากกรณีธุรกิจต่างชาติ ซึ่งเข้ามามีบทบาทในบางขั้นตอนเกษตรกรรมตั้งแต่เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว ไม่ว่าเป็นผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ผู้ค้าสารเคมีการเกษตร จนไปถึงผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ (Plantation) และเกษตรกรรมพันธสัญญา (Contract farming)
ไม่กี่เดือนจากนั้น แรงปะทะเกษตรกรรมไทยครั้งใหญ่อีกครั้งเกิดขึ้น ประหนึ่งระลอกคลื่นใหญ่ ส่งผลกระทบวงกว้างขึ้นไปอีก
ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เครือข่ายธุรกิจไทยทรงอิทธิพล (กล่าวกับสื่อไทยระหว่างการเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ข่าวสารปรากฏในวันที่ 27 สิงหาคม 2561) นำเสนอแผนการอย่างจริงจังเพื่อเข้าสู่วงจรเกษตรกรรมไทยพื้นฐาน (บางตอนได้นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว)
“หากชาวนามีปัญหา มีความไม่พร้อม ซีพีพร้อมจะเช่าที่ทำนาแทน…แต่จะไม่ดำเนินการเอง หากจะหาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม…ต้องมีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ และใช้เครื่องจักรโดยเฉพาะแทร็กเตอร์ ทั้งนี้ เน้นว่าต้องเป็นระบบเกษตรกรรมแปลงใหญ่ถึงจะคุ้มกับการลงทุน”
แผนการซีพีข้างต้น เชื่อกันว่ามาจากบทเรียนสำคัญในธุรกิจการเกษตร (ปศุสัตว์) และอาหาร บทเรียนความสำเร็จนั้นมาจากโมเดลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอย่างมิพักสงสัย
โมเดลที่ว่าสามารถอ้างอิงกับบทอรรถาธิบายที่กว้างขึ้น จากเรื่อง “ห่วงโซ่อุปทาน “มังกร” ในประเทศจีน” (แปลและเรียบเรียงมาจาก The “Dragon” Supply Chain in China ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรณีศึกษา International Agribusiness in China : Charoen Pokphand Group, Harvard Business School, November 16, 2009)
“ระบบห่วงโซ่อุปทานแบบรวมตัวในแนวตั้งของซีพี เริ่มต้นตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ตามโมเดลการขยายตัวไปข้างหน้า (Forward integration) การผสมพันธุ์ การเพาะเลี้ยง การสัตวบาล และการแปรรูปเนื้อสัตว์ ไปถึงขั้นตอนการเตรียมเพิ่มมูลค่าของเนื้อสัตว์พร้อมบริโภคและอาหารแช่แข็ง ขั้นตอนสุดท้ายนั้นให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการ branding การทำตลาด และการกระจายสินค้าทั้งสำหรับตลาดภายในประเทศและตลาดเพื่อการส่งออก”
ซีพีได้เข้าสู่วงจรเกษตรกรรมพื้นฐานที่ว่ามานาน ตั้งแต่เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว แต่ยังไม่ไปถึงไหน “เมื่อเปรียบกับพัฒนาการเครือข่ายธุรกิจ ซีพีไม่ว่ากรณีเข้าสู่ธุรกิจปศุสัตว์ครบวงจร (นับจากกรณีร่วมทุนกับ Arbor Acres แห่งสหรัฐในปี 2513) กับธุรกิจค้าปลีก (จากจุดเริ่มต้นเครือข่ายร้าน 7-Eleven ในปี 2531) สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจโดยใช้เวลาไม่นานเพียงไม่ถึงทศวรรษ…
ส่วนแผนการใหม่เกี่ยวกับเกษตรกรรมแปลงใหญ่ จนถึงบัดนี้ยังถือว่าไม่ได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง”
ในอีกมิติหนึ่ง ซีพีได้เข้ามาบางช่วงของห่วงโซ่อุปทานแล้ว จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เริ่มจากต้นธารเลยทีเดียว จากกรณีพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดตั้งแต่ปี 2522 ในยุคเดียวกับเครือข่ายธุรกิจพันธุ์ข้าวโพดระดับโลกเข้ามายึดตลาดไทย เป็นเวลาเดียวกันนั้นได้เข้าสู่ช่วงปลายๆ ของห่วงโซ่อุปทานมีความเกี่ยวข้องเรื่องข้าวด้วย โดยซีพีได้ก่อตั้งบริษัทเจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม (ปี 2521) พร้อมกับการร่วมทุนกับ SATAKE แห่งญี่ปุ่น ผู้นำเทคโนโลยีสีข้าว
ที่ผ่านๆ มา ซีพีมีความสัมพันธ์กับที่ดินและพื้นที่แปลงใหญ่ค่อนข้างน้อย อันเนื่องมาจากลักษณะธุรกิจที่แตกต่าง ดูเหมือนว่าในช่วงนั้นซีพีไม่มีและไม่ได้สะสมที่ดินแปลงใหญ่ไว้ในมืออย่างมากพอ โมเดลเกษตรแปลงใหญ่ของซีพีในปัจจุบัน (ตามบทสนทนาธนินท์ เจียวรนนท์ ข้างต้น) จึงมีความแตกต่าง
เชื่อว่าแรงกระตุ้นซีพีในกรณีข้างต้น มาจากเครือข่ายธุรกิจอีกรายหนึ่ง
“กลุ่มทีซีซี ตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ จึงก่อตั้งกลุ่มธุรกิจการเกษตรขึ้น เพื่อพัฒนาธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าของพืชเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคอินโดจีน โดยลงทุนเพื่อศึกษาและพัฒนาพืชเศรษฐกิจตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูปเบื้องต้น ครอบคลุมไปถึงการตลาดและธุรกิจต่อเนื่อง” (http://www.tcc.co.th/)
กลุ่มทีซีซี เครือข่ายธุรกิจทรงอิทธิพลอีกรายของไทย ได้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เมื่อปี 2549 โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากบริษัทแกน-พรรณธิอร (http://www.plantheon.co.th)
กลุ่มธุรกิจเกษตรของทีซีซี มีภาพใหญ่ที่น่าเกรงขาม ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานไว้อย่างมั่นคงและกว้างขวาง
หนึ่ง–ครอบครองที่ดินการเกษตรนับแสนไร่ทั่วประเทศ
สอง–เกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจหลักของไทย ทั้งยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ
สาม-มีเครือข่ายโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง กว่า 250,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ” และ “ผลิตน้ำตาล รวมกันถึง 144,000 ตันอ้อยต่อวัน”
สี่- “ผลิตปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพสูง โดยจำหน่ายปุ๋ยภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยตรามงกุฎ และปุ๋ยทิพย์ เป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตและผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่ของประเทศ”
และห้า–มีโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในภูมิภาค “ร่วมทุนกับนักลงทุนกัมพูชา พัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา และลงทุนไร่กาแฟขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโบโลเวน เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ประเทศลาว”
และแล้วแรงกระตุ้นครั้งใหม่ครั้งใหญ่อีกครั้ง เชื่อว่าเชื่อมโยงกับโมเดล “เกษตรกรรมแปลงใหญ่” ในความหมายของกระทรวงเกษตรฯ ไทย ยุค รสช.กำลังได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง
“เป็นระบบส่งเสริมเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (area based) ในการดำเนินการลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)”
นโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยรัฐได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2559
ซีพียังคงมุ่งมั่นตามแนวทางเกี่ยวข้อง “ห่วงโซ่” ที่สำคัญต่อไป เป็นขั้นตอนเตรียมพร้อมเฉพาะตัว ด้วยดำเนินการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวก้าวหน้าไปอีกขั้น อ้างอิงจากข้อมูลขอขึ้นทะเบียน “ข้าวพันธุ์ ซีพี 888” ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ปรากฏในเอกสารกรมวิชาการเกษตร (http://www.doa.go.th)
“ข้าวพันธุ์ ซีพี 888 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์ กข 10 เป็นพันธุ์แม่ และข้าวพันธุ์สกลนคร เป็นพันธุ์พ่อ ณ หน่วยงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟาร์มกำแพงเพชร (พืชไร่) จังหวัดกำแพงเพชร ในปี พ.ศ.2557 นำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรปลูกเป็นต้นลูกผสมชั่วที่ 1 เพื่อผลิตเมล็ดในชั่วที่ 2 หลังจากนั้นนำเมล็ดในชั่วที่ 2 มาปลูกและคัดเลือกพันธุ์แบบสืบประวัติ (pedigree selection) จนถึงชั่วที่ 6 ในปี พ.ศ.2559”
เครือข่ายธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะ Alibaba ซีพีและทีซีซี จะมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานเกษตรกรรมไทยมากขึ้นๆ เป็นขั้นตอนการพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่ ท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมไทยเต็มไปด้วยรายย่อย กระจัดกระจาย และอ่อนแอ ซึ่งเผชิญความผันแปร ความไม่แน่นอนเสมอมา ไม่ว่าด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับธรรมชาติ กลไกการค้าและราคา ฯลฯ พัฒนาการในภาพรวมเกษตรกรไทยรายย่อยดั้งเดิมส่วนใหญ่จึงไม่สามารถก้าวเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรซึ่งพัฒนาไปตามยุคสมัยได้ เนื่องมาจากปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะไม่มีทุนเพียงพอ ไม่มีความสามารถในการสะสมทุน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลับมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เครือข่ายธุรกิจใหญ่ ไม่ว่าธุรกิจการค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร ฯลฯ สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษก่อนหน้า และเติบโตมากขึ้นๆ เครือข่ายธุรกิจใหญ่ดังกล่าว กำลังคืบคลานค่อยๆ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 19 มกราคม 2561
ผู้เขียน : วิรัตน์ แสงทองคำ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.