ที่มาภาพ : เพจ ๓๐๔ กินได้
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของคุณบรรยง พงษ์พานิช นักการเงินชื่อดัง เพิ่งเปิดเผยถึงข้อมูลอันน่าทึ่งว่า ปี 2561 นี้ ประเทศไทยได้ครองแชมป์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง เป็นอันดับหนึ่งของโลกไปเสียแล้ว (ข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018) แซงหน้ารัสเซียและตุรกีขาดลอย เพราะคนรวย 1% ของไทย มีทรัพย์สินรวมถึง 66.9% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ในขณะที่คนจน 10 % มีทรัพย์สินรวม 0 % ของทรัพย์สินประเทศเท่านั้น (น่าอึ้ง) ที่สำคัญคือคนครึ่งหนึ่งของประเทศ กลายเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเหลือเก็บออม และใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน
เหตุใดเราจึงเดินมาถึงจุดนี้ได้ ความฝันความหวังของคนไทย ที่ต้องการการพัฒนาที่เท่าเทียม กลายเป็นประเทศยุค 4.0 ที่คนไทยส่วนใหญ่มีอยู่มีกินอย่างพอเพียง คงกลายเป็นเรื่องเล่าไปอีกหลายปี เพราะความจริงแล้วคนไทยโดยส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการพัฒนาที่เท่าเทียมและไม่ได้มีรายได้อย่างเพียงพอ ยังไม่ต้องกล่าวถึงหนี้สินที่พัวพันครอบครัวคนไทยอีรุงตุงนัง จนแก้ปัญหากันไม่ตก และที่สำคัญ คือปัญหาที่คนไทย ยังไม่สามารถเชื่อมโยงและช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างทั่วถึง คนที่มีอยู่มีกินยังไม่ได้ช่วยเหลือคนที่ไม่มีจะกินอย่างจริงจัง เหตุเหล่านี้ทำให้เราอยู่ในสภาพสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่ผิดจากสถิติโลกที่เขาหยิบยกมา
ในส่วนของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุดและเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของสังคม ซึ่งแน่นอนต้องเป็นส่วนหนึ่งของคนจน10 % ของประเทศ ที่มีทรัพย์สินเพียง 0% พวกเขายังอยู่ในสภาพเช่นเดิม หนี้สินล้นพ้นตัว ทำการเกษตรจนตายก็ใช้หนี้ได้ไม่หมด ถ้าอายุน้อย ก็พอจะมีโอกาสปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่ออยู่รอดได้ แต่ถ้าอายุมาก โอกาสในการปรับตัวก็มีน้อยลง มีเพียงช่องทางตัดแบ่งที่ดินขายเพื่อใช้หนี้ หรือตัดใจเลิกทำการเกษตร เพื่อหยุดวงจรหนี้ที่หมุนมาพร้อมกับการเกษตรแบบเดิมๆ ที่ต้นทุนสูงและราคาตกต่ำต่อเนื่อง ก็เท่านั้น
ความหวังของเกษตรกรที่เคยคิดว่าจะได้รับการหนุนช่วยจากคนที่มีฐานะดีกว่าในสังคมไทย และมีความสัมพันธ์ทีเกื้อกูลในระยะยาว ที่ผ่านมาจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากที่จะคิดออกเต็มที แต่นั่นก็ยังไม่ได้หมายความว่า พวกเราในสังคมไทยจะไม่สามารถร่วมกันสร้าง เพื่อให้มันเกิดขึ้นมาได้
ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลที่มีให้กับเกษตรกร คงไม่ได้จากรัฐบาล นักการเมือง หรือกลุ่มคนที่เกษตรกรเคยคิดว่าจะเป็นที่พึ่งได้ แต่จะมาจากกลุ่มผู้บริโภค ที่เห็นถึงคุณค่าของการผลิตอาหารที่ปลอดภัยของเกษตรกร และต้องการหนุนช่วยเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตแบบปลอดภัย และช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไทร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มปิ่นโตเกษตรอินทรีย์ จังหวัดปทุมธานี จัดทัวร์เพื่อการเรียนรู้ให้กับผู้บริโภค เรื่องการผลิตแบบอินทรีย์ในพื้นที่เกษตรกรที่มีหนี้สิน มีความเป็นอยู่ที่ลำบากและต้องการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน การจัดกิจกรรมครั้งนี้ แม้จะมีผู้เข้าร่วมไม่มาก แต่กลับพบว่าผู้บริโภคที่เข้าร่วมกิจกรรม ล้วนเป็นกลุ่มคนฐานะดีในสังคมไทยที่ต้องการหนุนช่วยเกษตรกรที่มีหนี้สิน ให้สามารถปรับตัวไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์ที่ยั่งยืนได้จริง นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลที่สามารถสานต่อได้ในอนาคต
ช่องว่างของการสื่อสารที่ไม่ถูกคน ไม่ถูกกลุ่ม ความไม่ไว้วางใจกันเนื่องจากไม่เคยรู้จักกัน ทำให้ที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่มีฐานะดีไม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลเกษตรกรยากจนได้ แต่หลังจากการเยี่ยมชมสวนส้มอินทรีย์ของเกษตรกรมีหนี้ที่ปรับตัวมาสู่การผลิตแบบอินทรีย์ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่า การทำสวนส้มและการผลิตแบบอินทรีย์สามารถทำได้จริง ต่างกับตอนที่ยังไมได้มาเยี่ยมชมสวน เพราะไม่เคยเชื่อว่าผักผลไม้ที่วางอยู่บนชั้นขายผักผลไม้อินทรีย์ตามห้างสรรพสินค้าทั้งหลายนั้น จะเป็นของจริง ประมาณว่าไม่เคยไว้วางใจเพราะไม่ได้รู้จักกันจริง
การที่ผู้บริโภคได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย รับฟังปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ความตั้งใจชองเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนเอง และความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ทั้งกับปัญหาโรคแมลง การขาดทุน การไม่ได้ผลผลิตตามเป้าหมายและไม่มีรายได้อย่างเพียงพอในช่วง 2 ปี แรกของการปรับตัว คือ สิ่งที่ผู้บริโภคที่ไปเยี่ยมชมสวนอินทรีย์ ได้รับรู้เป็นครั้งแรก
เกษตรกรมีหนี้ที่ปรับตัวไปสู่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ในช่วง 2-3 ปีแรก ต้องการกำลังใจที่สูงมาก พวกเขาต้องการพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะมีตลาดรองรับผลผลิตในระยะที่ปรับเปลี่ยนไปสู่อินทรีย์ในปีแรกๆ และจะมีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของครอบครัว รวมไปถึงการมีแนวทางที่ชัดเจนที่จะแก้ปัญหาหนี้สินที่ติดลบอยู่
จากกิจกรรมทัวร์เพื่อการเรียนรู้ของผู้บริโภค เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคได้เรียนรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น ถึงปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรมีหนี้ ที่ต้องการปรับการผลิตไปสู่อินทรีย์ ผู้บริโภคบางรายสะท้อนว่า ไม่คิดว่าเกษตรกรจะเจอกับปัญหาอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันมากขนาดนี้ในการปลูกส้มอินทรีย์ ปัญหาอุปสรรคที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงก็คือผลผลิตของเกษตรกรในระยะแรกที่ปรับจากระบบเคมีมาสู่อินทรีย์ ได้ลดลงจำนวนมาก เหมือนเช่นการปรับจากส้มเคมี มาสู่การผลิตส้มอินทรีย์ เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาส้มร่วงหล่นจากต้นเกือบหมดในปีแรก จากที่เคยได้ผลผลิตในระบบเคมี ไร่ละ 1 ตัน เมื่อปรับมาสู่ระบบอินทรีย์ปีแรก ในพื้นที่ 8 ไร่ เกษตรกรได้ส้มอินทรีย์เพียง 300 กิโลกรัม เท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าอึ้งสำหรับผู้บริโภคที่เกษตรกรมีหนี้ ยังคงเดินหน้าทำอินทรีย์ต่อไปแม้จะไม่สามารถทำรายได้จากพืชหลักได้เลยในปีแรก อย่างไรก็ดี ในปีที่สองของการปรับเปลี่ยน สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เกษตรกรได้ส้มอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 8 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในปีที่สาม เมื่อผืนดินในสวนส้มอินทรีย์ได้รับการเยียวยา ฟื้นฟู และพร้อมจะให้ผลผลิตที่คุ้มค่า
ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตผู้บริโภค คือรากฐานสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยปัจจุบัน เมื่อคนที่มีความสามารถในการหารายได้ มองเห็นคุณค่าของคนที่ลำบากกว่า และเห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของคนในสังคมที่แตกต่างกัน เกษตรกรมีบทบาทในการผลิตอาหารให้สังคม เมื่อพวกเขาถูกละเลยทอดทิ้ง พวกเขาได้ผลิตอาหารที่อาบสารเคมีให้กับผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคที่ใส่ใจ เล็งเห็นว่าอาหารที่ปลอดภัยจะต้องมาจากผู้ผลิตที่เข้าใจและได้รับโอกาส จึงหันกลับมาให้ความสนใจกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร และร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่ปลอดภัย เช่นนี้จึงจะเรียกว่าเป็นสังคมที่เกื้อกูลและไม่ทอดทิ้งกัน เพราะผู้บริโภคได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิต ในขณะที่ผู้ผลิตเองได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และอาหารที่ปลอดภัยให้กับผู้บริโภคและทุกคนในสังคมไทย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 17 ธ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.