หลายคนเมื่อได้ยินแล้วอดนึกขำ หัวเราะว่า นอนนาแก้จนได้อย่างไร
วันนี้มีโอกาส เดินทางไปตามคำบอกของชาวบ้านว่า มีผู้ทำโครงการนอนนาแก้จน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการและนำไปเป็นตัวอย่าง ที่บ้านบัว พบกับเจ้าของสวนและโครงการ หลังทักทายกันแล้ว ก็พาเที่ยวชม
ดร. พลังพงศ์ คำจวง กรรมการบริหาร ศูนย์อุตสาหกรรมบัวแก้วธานี อยู่บ้านเลขที่ 224 หมู่ที่ 5 บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เล่าถึงความเป็นมาของโครงการชวนนอนนาแก้จนว่า แต่เดิมก็ทำนา ทำสวน หลังจากเรียนหนังสือจบก็เคยคิดที่จะทำงานราชการ แต่ชีวิตก็ไปทำธุรกิจหลายอย่าง และสุดท้ายก็มาทำโรงงานตัดเสื้อผ้า และผลิตถุงกอล์ฟส่งประเทศญี่ปุ่น แต่จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจจึงหยุดไปช่วงหนึ่ง แต่ยังคงผลิตเสื้อผ้าเช่นเดิม
ในช่วงนั้นก็หันมาลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกเทศบาลตำบลบัวสว่าง และเนื่องจากมีแนวคิดโครงการช่วยชาวบ้าน จึงคิดโครงการ “นอนนาแก้จน” ขึ้น พร้อมกับโครงการขยายไฟฟ้า เพื่อเป็นฐานของการทำโครงการ
ต่อมาได้ลงมือทำเองเพื่อเป็นการนำร่อง ให้ชาวบ้านเห็น ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน คนในหมู่บ้าน หันมาทำจริงจัง พร้อมยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ไปด้วย จึงมีชาวบ้านสนใจและทำกันมากมาย
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วม หากไม่มีวัว ควาย เลี้ยง…ทางโครงการก็จะแจกให้ยืมเลี้ยง เมื่อวัวและควายนั้นได้ลูกหลานออกมาก็จะมอบให้กับคนที่นำไปเลี้ยง ส่วนแม่พันธุ์ก็จะคืนมาให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการให้ ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มประชากรวัว ควาย ในตัวด้วย พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยมูลวัวและควาย
“โครงการนอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน เป็นนโยบายที่คิดขึ้นจากพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด แต่คุณภาพชีวิต การศึกษา สุขอนามัย สิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าคนในเมือง วันนี้นโยบายดังกล่าวจึงเป็นแนวทางอีกทางหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตคนชนบทดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจชาวบ้านชนบทเข้มแข็งมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คิดว่าจะทำให้สังคมในเมืองเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว นี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดดังกล่าว” ดร. พลังพงศ์ บอก
ดร. พลังพงศ์ บอกว่า วิถีชีวิตชนบทไทยที่กำลังจะหายไปเพราะสังคมอุตสาหกรรมเข้ามาทดแทนแรงงานชนบท โดยสินค้าเกษตรถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่และการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาลหลายคณะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ต้นทุนปุ๋ยยากำจัดศัตรูพืชราคาสูง ราคาพืชผลตกต่ำ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ นี่แหละคือกระดูกสันหลังของชาติ ไม่ได้เป็นเนื้อกับเขา เป็นเพียงแค่กระดูกรอวันผุเท่านั้น
เมื่อเกษตรกรได้ไปอยู่ในที่ดินทำกินของตนเองหรือที่ทำงานของเขา เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีเงินออม ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าอบอุ่น ประเพณีมีคนสืบทอดให้รุ่นหลัง เงินกระจายทุกกลุ่ม ราคาที่ดินหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ความเจริญกระจายตัว จะทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีผลทำให้เศรษฐกิจในเมืองมั่นคงไปด้วย เป็นวงจรที่มั่นคง มีเสถียร ประเทศชาติมั่งคั่ง
การแก้จนต้องเริ่มจากการพึ่งพาตนเอง ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
จากสภาพปัจจุบันภาคเกษตรกรรม พบว่าชาวบ้านมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรายจ่ายมากกว่ารายได้ เกิดการกู้หนี้ยืมสิน ขณะเดียวกัน หน่วยภาครัฐก็จะมักจะใช้วิธีการแก้ปัญหาความจนด้วยการทุ่มเทงบประมาณให้กับชาวบ้าน แต่คนเหล่านั้นก็ไม่มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการเงิน ทำให้มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ ขณะที่ปัญหาความจนก็ยังคงอยู่ ซึ่งข้อเท็จจริงจากการที่ได้ไปวิเคราะห์ในระดับล่าง
ปัญหาความยากจนที่แท้จริงก็คือ การที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถึงแม้ความจนต้องแก้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีชักนำคน เริ่มต้นช่วยเหลือและเพิ่มแนวทางการแก้จน ให้เขาพึ่งตนเองได้ก่อน
ดร. พลังพงศ์ กล่าวอีกว่า คำว่า “นอนนาแก้จน” หากนึกย้อนภาพในอดีตของคนอีสานที่เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ชาวนาก็จะลงไปนอนที่ทุ่งนา และมีการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ดังนั้น การไปอยู่เถียงนาก็คือ สภาพการพึ่งพาตนเองที่ไม่ใช้การบริโภคจากภายนอก ซึ่งเมื่อได้แนวคิดนี้ จึงได้นำชาวบ้านในหมู่บ้านนำร่อง คือบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยสิ่งแรกต้องเริ่มจากการปรับกระบวนทรรศน์ที่จะพึ่งพาตนเองก่อน เพราะถ้ามัวแต่จะรอรับอย่างเดียวก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ
ดร. พลังพงศ์ บอกว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ได้รับการเลือกเข้าไปเป็นผู้บริหาร เทศบาลตำบลบัวสว่าง ได้ใช้งบประมาณลงทุนขยายเขตไฟฟ้าสู่ไร่ สู่นา เพื่อนำความสว่างไสวให้ทั่วพื้นที่รับผิดชอบ เพราะคิดว่าเมื่อไฟฟ้าไปถึง ชาวบ้านจึงจะสามารถออกไปอาศัยตามหัวไร่ปลายนาได้ตลอดทุกฤดูกาล ไม่ต้องอุดอู้ปลูกเรือนติดๆ กันในหมู่บ้านเหมือนสลัม บางครอบครัวมีลูกมากต้องเอาตู้เสื้อผ้ามากั้นเป็นห้องเล็กๆ
โครงการนี้ นำมาสู่การพิชิตความยากจน ลดรายจ่ายอย่างถาวรคือ ค่าน้ำมันรถจักรยานยนต์เทียวไปนาทุกวัน ซึ่งหลายคนอาจปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ไว้กินเอง จึงต้องเทียวไปเฝ้า ซึ่งรายจ่ายค่าน้ำมันในส่วนนี้ก็จะหมดไป
จากการประเมิน ได้ประเมินจากโครงการนอนนาแก้จนมีอยู่ 4 ด้าน คือ
1. ความยากจนลดลง
2. พออยู่พอกิน
3. ชีวิตมีสุข
4. ครอบครัวแห่งการเรียนรู้
โดยพบว่าครอบครัวที่เข้าโครงการมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังเกตได้จากซื้อหวยน้อยลง แต่ไม่ถึงกับไม่ซื้อเลย กินเหล้า สูบบุหรี่ ก็ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้ความยากจนลดลง แต่ไม่ใช่หมดไปเสียทีเดียว เป็นแบบค่อยเป็นคอยไป แต่ที่สำคัญก็คือ เขามั่นใจเรื่องของการแก้จนที่ว่า ต่อไปนี้เขาจะแก้จนด้วยการไม่รอรับเงินอย่างเดียวแล้ว พื้นที่นำร่องตำบลสว่างนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีในแง่ของการพึ่งพาตนเอง ครอบครัวมีสุข ความขัดแย้งในครอบครัวลดลง ซึ่งเมื่อพื้นที่นำร่องประสบความสำเร็จแล้ว เชื่อว่าในอนาคตจะนำไปขยายเป็นเครือข่ายไปทั่วทั้งจังหวัดสกลนคร
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 5 พ.ย. 2561
ผู้เขียน : สุพจน์ สอนสมนึก
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.