ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงขณะนี้ม๊อบหนี้สินชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถาบันการเงินไล่บี้บังคับคดีและยึดที่ดินทำกินไปขายทอดตลาด ยังคงปักหลักเรียกร้องให้ธนาคารขายหนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งคาดว่ามีจำนวนประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ประกอบกับคำสั่ง คสช.ที่ 26/61 ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(เฉพาะกิจ)เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรจะหมดวาระการทำงานประมานต้นเดือนพฤศจิกายนนี้และจะไม่มีการต่ออายุของคณะกรรมการดังกล่าว ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเดินต่อไปไม่ได้จึงต้องเร่งเจรจากับทางธนาคารก่อนจะถูกยึดที่ดิน
อะไรคือหัวใจของปัญหาหนี้สินเกษตรกรและทำไมเวลาเดือดร้อนต้องออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ด้วย บทความฉบับนี้ขอบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มชาวนาที่เคยเป็นหนี้และแก้หนี้ได้สำเร็จและกลุ่มชาวนาอีกจำนวนมากที่อยู่ในสถานะของการหมุนหนี้พวกเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร
ล่าสุดช่วงกลางเดือนที่ผ่านมามูลนิธิชีวิตไท(โลโคลแอค)และทีมวิจัยกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ภายใต้โครงการแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยรูปแบบการเกษตรครบวงจร จัดเวทีโฟกัสกรุ๊ปของชาวนาในพื้นที่ตำบลบางขุด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม “คนมีหนี้”เพื่อศึกษาสาเหตุของหนี้สิน แหล่งเงินกู้ จำนวนหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลงและวิธีการชำระหนี้ และ กลุ่ม “คนไม่มีหนี้”เพื่อศึกษาแนวคิดมุมมองเรื่องหนี้ แนวทางในการชำระหนี้อย่างไรจนไม่มีหนี้และไม่สร้างหนี้เพิ่ม
จากการสนทนาในกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้ มีผู้เข้าร่วมมากถึง 13 ราย มีอายุน้อยสุด 49 ปี มีอายุสูงสุด 70 ปี เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2544-2550 แหล่งเงินกู้ที่ท๊อปฮิตเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส)มากสุด รองลงมาเป็นสหกรณ์การเกษตรสรรคบุรี(จำกัด) กองทุนหมู่บ้าน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามลำดับ ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นผู้มีสัญญาเงินกู้มากกว่า 2 สัญญาและมีแหล่งเงินกู้มากกว่า 2 แหล่งขึ้นไป สำหรับวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่อประกอบอาชีพการเกษตรทำนา เลี้ยงหมู ซื้ออุปกรณ์ทำเกษตรและกู้มาใช้จ่ายในครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้บุคคลค้ำประกัน มูลหนี้ในแต่ละสัญญาไม่สูงมากอยู่ในระดับหลักหมื่นประมาณ 30,000 – 80,000 บาท สถานะหนี้ในปัจจุบันเป็นหนี้เสีย หนี้ถูกฟ้องดำเนินคดีรอยึดทรัพย์ ผู้เข้าร่วมได้ขับเคลื่อนร่วมกับสมาชิกกลุ่มและเครือข่ายองค์กรเกษตรกรเรียกร้องให้สำนักงานกองทุนเข้ามาจัดการหนี้ ปริมาณหนี้ที่เป็นเงินต้นจึงมีปริมาณเท่าเดิมตามจำนวนที่ระบุในสัญญาขอกู้ครั้งแรกแม้ว่าได้ชำระหนี้ไปบ้างแล้ว เนื่องจากเกษตรกรจะได้รับสิทธิตัดดอกเบี้ยทิ้งทั้งหมด เงินต้นที่ต้องชำระส่วนใหญ่ถ้าจำนวนหนี้ไม่เยอะมากจะได้รับสิทธิลดเงินต้นเหลือที่ 50%
นอกจากนี้ยังพบว่าสถานการณ์ปัญหาหนี้สินที่วิกฤตคือเกษตรกรมีการหมุนหนี้โดยเฉพาะหนี้กองทุนหมู่บ้านที่ต้องชำระรายปีบางรายได้ไปกู้นอกระบบมาใช้หนี้รวมดอกเบี้ยแล้วทำสัญญากู้ใหม่ บางรายมีสัญญากู้ถึง 3 สัญญา ดังนั้นวิธีการชำระหนี้ของเกษตรกรกลุ่มนี้คือรอสำนักงานกองทุนฟื้นฟูมาซื้อหนี้และหมุนหนี้โดยกู้จากอื่นๆไปเรื่อยๆ
และเมื่อชวนกันวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการทำนา พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการทำนาปีในเฉลี่ยอยู่ที่ 3,100 บาทต่อไร่และหากต้องเช่าที่ดินต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4,600 บาทต่อไร่ ในขณะที่ราคาข้าวเปลือกปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 6,500 บาท ซึ่งรายได้จากการทำนาไม่สามารถนำไปใช้หนี้ได้แน่นอน รายรับของชาวนามาจากเงินประชารัฐเดือนละ 800 บาท ประกอบอาชีพเสริมเปิดร้านขายของชำ เลี้ยงแพะ ขายผักผลไม้ ซึ่งจากครอบครัวกรณีศึกษามีรายได้ต่อปีประมาณ 168,000 บาทมีรายจ่ายต่อปี 137,160 บาทซึ่งส่วนใหญ่ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ ค่าไฟฟ้า ค่าข้าวสาร หากคำนวณแบบตรงไปตรงมาครอบครัวนี้มีเงินเหลือสำหรับชำระหนี้ 33,840 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้นำไปชำระหนี้ ธ.ก.ส รายปีๆละ 25,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 8,840 บาท ยังไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน
สถานภาพของครอบครัวชาวนาภาคกลางปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้ขี้เกียจพยายามดิ้นรนเพื่อหารายได้เพิ่ม แต่อยู่ในสภาพหมุนหนี้ส่วนหนึ่งเพราะความกดดันจากคนในครอบครัวที่ขาดการหนุนเสริมมองเชิงรุกและออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลมีมติครม.ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเร่งซื้อหนี้ก่อนกรรมการเฉพาะกิจจะหมดวาระลงในช่วงปลายปีนี้ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาหนี้สินเฉพาะหน้าที่อาจทำให้พวกเราไม่สูญเสียที่ดินเร็วจนเกินไป
กับวงสนทนาอีกกลุ่มของ “คนไม่มีหนี้”หรือกลุ่มคนเคยเป็นหนี้ ในพื้นที่ตำบลบางขุดเหมือนกัน แม้คนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีปัญหาหนี้สิน แต่กลับมีวิธีคิดและมุมมองที่น่าสนใจมากๆ เพราะไม่ใช่พวกเขาไม่มีหนี้แต่กลับใช้หนี้หมดในเวลาอันรวดเร็วหรือทยอยใช้หนี้ไปเรื่อยๆด้วยการพึ่งตนเอง เหมือนที่ป้าหนูบอกกับสมาชิกกลุ่มที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มว่า
“ทุกครอบครัวสามารถเริ่มต้นได้หมด โดยเฉพาะถ้าได้ครอบครัวดี มาช่วยหนุนเสริม เพราะตัวของพี่หนูเองเกิดมาจากศูนย์ ไม่มีบ้าน ต้องเก็บหอมรอมริบเหมือนมดเก็บที่ละนิดๆ จะลงทุนทำอะไรก็ต้องเกิดจากเงินที่เก็บเอาไว้แล้ว ใช้เวลาปลูกบ้าน 20 กว่าปี กว่าจะเป็นหลัง แฟนไปทำงานอีรัก 9 เดือนกลับมาถึงได้ซื้อที่ปลูกบ้าน ต่อมาจึงได้เอาที่เข้าธนาคารซื้อรถขายน้ำแข็งจะได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ”
กลุ่ม “คนไม่มีหนี้”มีผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มทั้งหมด 3 รายส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นหนี้เพราะต้องการเอาเงินมาลงทุนต่อยอดทำมาหากิน เช่น ซื้อรถไถนา ซื้อรถบรรทุกน้ำแข็ง เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2536 ถึง ปี 2539 มีจำนวนหนี้อยู่ในระดับ 150,000-260,000 บาท
เราพบว่ามีวิธีคิดหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากคนกลุ่มนี้ ประการแรกคือ มีเงินแล้วต้องใช้หนี้เลยไม่เหนียวหนี้ คือมีเท่าไหร่ก็รีบเอาไปใช้เขาก่อน ประการที่สอง มีความเพียร อดทน อดออม เริ่มจากต้องทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลดลงปลูกผักสวนครัวไว้ทานเหลือจึงขาย ป้าหนูเล่าอีกว่า “ ตอนไปนาเวลาเจอฟืนนี่จะแบกมาเลย เจอผักก็เก็บมาทำกับข้าวกินในบ้าน คนแถวบ้านบอกว่าเด็กคนนี้โตมาต้องรวยแน่ๆเพราะ เจอฟืนหักเจอผักเด็ด” ฝึกนิสัยเริ่มเก็บออม พอได้แล้วจะออมเพิ่มไปเรื่อยๆถ้าไม่มีรายได้จะยังไม่ใช้จ่าย ถ้าคิดจะมีหนี้ต้องหาแหล่งรายได้สำหรับใช้หนี้ จะยังไม่กู้ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้ กลัวจะมีรายได้ไม่พอ หากเกิด ฝนแล้ง น้ำท่วม สวนล่ม นาล่ม จะทำอย่างไร ไม่ฟุ่มเฟือยประหยัดทั้งเสื้อผ้าและอาหารการกิน ประการที่สาม ฝึกคิดวิเคราะห์ทบทวนตัวเอง เนื่องจากทำนาอย่างเดียวไปไม่รอดเพราะมีรายได้ทางเดียวในขณะที่มีรายจ่ายทุกวัน จึงได้คิดหาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น บรรทุกขายส่งน้ำแข็ง รับจ้างไถนา เก็บเงินจากทำสวน ทำนา ประการที่สี่ รวมกลุ่มเกษตรกรใช้ช่องทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อเจรจาลดจำนวนหนี้แบ่งเบาภาระหนี้สินเกษตรกร
ซึ่งวิธีคิดการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาวนาที่เคยเป็นหนี้ได้หยั่งรากลึกลงไปให้ลูกๆหลานๆได้เจริญรอยตามอย่างน้อยที่สุดก่อนคิดเป็นหนี้ก็ต้องวางแผนก่อนว่าจะเงินเอาทำอะไร และเอาจากตรงไหนมาใช้หนี้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 14 ก.ย. 2561
ผู้เขียน : สมจิต คงทน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.