ชัยพงษ์ สำเนียง [1]
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้าน และนับวันยิ่งมีความซับซ้อนขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงสัมพันธภาพเชิงอำนาจขององคาพยพต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ยังสะท้อนให้เห็นการจัด “ตำแหน่ง” แห่งที่ทางประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ใหม่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลนี้
ภายใต้การเปลี่ยนโครงสร้างชนบทหลากหลายรูปแบบ ได้ทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพื่อขาย การแย่งชิงทรัพยากร และสร้างผลกระทบให้คนเล็กคนน้อยในหลากหลายมิติ ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรในลักษณะต่าง ๆ เกิดความไม่เท่าเทียม โดยรัฐเอื้อต่อกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจในการช่วงชิง ฉวยใช้ทรัพยากรที่ชาวบ้านมีมาแต่เดิม ทำให้เกิดการเรียกร้อง “สิทธิ” ในการเข้าถึงทรัพยากร และนำมาสู่การเมืองเรื่องทรัพยากรที่ชาวบ้านเคลื่อนไหว “สร้างพื้นที่ในการต่อรอง” ในลักษณะต่าง ๆ ในบทความนี้ต้องการอธิบายการเคลื่อนไหวของชาวนา ที่มักถูกมองว่า “ไร้จิตสำนึกทางการเมือง”(ดูข้อถกเถียงนี้ใน, กนกศักดิ์ 2530; กาญจนา 2527; คายส์ 1983; Bowie 1980;1988) แต่ในขณะเดียวกันชาวนาไทยมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรองกับรัฐมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ การกล่าวข้างต้นจึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียวในการเข้าใจพลวัตสังคมชาวนาในสังคมไทย (Haberkorn 2007)
ในบทความนี้ประกอบด้วย 1. ชนบทบนความเคลื่อนไหว 2. ชาวนากับการสร้างพื้นที่ทางการเมือง 3. มรดกการต่อสู้กับพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชน เพื่ออธิบายพลวัตของสังคมชาวนา และการสร้างพื้นที่ทางการเมืองของชาวนา เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเกษตรกรรมในสังคมไทย (Agrarian Transformation) เกษตรกรบางส่วนสูญเสียที่ดิน ถูกขับไล่ออกจากที่ดินและกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างอิสระ ความซับซ้อนที่หลากหลายของการจัดการในการผูกมัดแรงงานได้ปรากฏขึ้น รวมถึงมีการเกิดขึ้นของเกษตรนายทุนที่มีข้อบังคับที่หลากหลายและสามารถทำให้พวกเขาควบคุมแรงงานของผู้เช่าที่ดินและควบคุมแรงงานรับจ้าง การเปลี่ยนโครงสร้างชนบทอย่างขนานใหญ่[2] ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของผู้คนในชนบททั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ (ดู, Bowie 1980; 1988; จามะรี 2554) นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างชนบท ทำให้ชาวนาถูกผลักออกจากภาคเกษตร โดยกีดกันการเข้าถึงที่ดิน มีกระบวนการเบียดขับออกจากการเป็นชาวนา (Cohen 1981) ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ขายที่นาจำนวนมาก ที่นากลายเป็นของนายทุนต่างชาติ การใช้พื้นที่เกษตรกรรมซับซ้อนมากขึ้น พื้นที่อยู่ภายใต้การกำกับของตลาดหรือ "กลไกเชิงสถาบัน" อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่อำนาจภายนอก เชื่อมโยงอยู่กับรัฐ และตลาดโลก คนชนบทถูกผนวกเป็นแรงงานรับจ้างในตลาดโลก อุตสาหกรรมขนาดเล็กขยายตัวเข้ามาในชนบท (Anan 1989) แรงงานออกไปรับจ้างนอกภาคเกษตร มีการรับงานมาทำที่บ้านมีการเหมาช่วง การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการเกษตร บางหมู่บ้านมีแรงงานออกจากภาคเกษตร ชุมชนชนบทกลายเป็นเพียงหอพัก คนชนบทต้องทำงานในโรงงาน แรงงานได้กลายเป็นสินค้า คนงานที่อยู่ในโรงงาน ถูกครอบงำความคิด กลายเป็นทาสค่าจ้างในโรงงาน (Hirai 2002)
การพัฒนายิ่งมีมากขึ้น รัฐกลับให้ความสำคัญต่อ “เมือง” และ “คน” แต่ละกลุ่มไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ “กลุ่มทุนขนาดใหญ่” สามารถช่วงชิงทรัพยากรส่วนกลาง เช่น ป่าไม้ ที่ดินสาธารณะ ไปเป็นของส่วนตนจำนวนมาก ทำให้คนเล็กคนน้อยในสังคมไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ได้ นำมาสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนหลากหลายกลุ่ม เพื่อสร้างพื้นที่ต่อรองและเข้าถึงทรัพยากรภายใต้ความเฟื่องฟูของสกุลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่สามารถให้คนกลุ่มต่าง ๆ สามารถ “รื้อฟื้น” และ/หรือ “สร้าง” ประวัติศาสตร์ของตนเพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ และ “สายใยความทรงจำ” เพื่อจัดวางสัมพันธภาพเชิงอำนาจของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมใหม่[3] (ดู Tanabe 1981)
การพัฒนาตลาดสำหรับที่ดิน แรงงาน ปัจจัยที่ใส่เข้าไปในการผลิตและผลผลิต ภายใต้ข้อบังคับหรือข้อจำกัดดังกล่าวนั้นรวมถึงนโยบายของรัฐที่ออกมาทำให้ทุนและเทคโนโลยีไหลบ่าเข้าไปในพื้นที่ชนบท รวมถึงความพยายามของชาวบ้านที่ยากจนในการยื้อที่ดินที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยในการยังชีพไว้ คือ การปลูกข้าวเหนียวไว้บริโภค และเกษตรกรคนอื่นที่มีความหลากหลายในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม บริบททางการเมืองที่กว้างขวางก็เป็นสิ่งสำคัญ ด้านหนึ่งเป็นการต่อสู้และการขัดขืนของเกษตรกรที่ยากจนและแรงงานที่จะรักษาวิถีชีวิตและการยังชีพต่อไป อีกด้านหนึ่งเป็นการต่อสู้ที่รวมถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของผู้เช่าที่ดินและชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินในจังหวัดเชียงใหม่และทั่วประเทศในกลางทศวรรษ 1970 (2513) ในประเด็นเรื่องที่ดินและการเช่าที่ดินเป็นช่วงเวลาเดียวกับการต่อสู้ระดับท้องถิ่นเรื่องค่าจ้าง งานชิ้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาทางประวัติศาสตร์พัฒนาการของการเข้าสู่การค้าของภาคเกษตรกรรมในภาคเหนือของประเทศไทยจากปี ค.ศ. 1900 – 1981 (2443-2524) การผลิตเพื่อการค้าแบบเข้มข้น ทำให้เจ้าของที่ดินขนาดเล็กต้องสิ้นเนื้อประดาตัวในการเป็นผู้เช่า อัตราการเติบโตของประชากรอยู่ในปริมาณสูง แม้ว่าจะลดลงในทศวรรษ 1970 มีแนวโน้มที่เจ้าของพื้นที่ปลูกข้าวที่มีระบบชลประทานในหมู่บ้านมีแนวโน้มที่จะเป็นชาวบ้านที่ร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของชนชั้นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรนายทุนเป็นคนกลุ่มหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนควบคุมพื้นที่ปลูกข้าวที่มีการชลประทานขนาดใหญ่รวมถึงความสัมพันธ์ของการมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางกับผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นและสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ[4] (Anan 1989)
ในขณะที่กลุ่มเจ้าของที่ดินเองก็พยายามปรับความสัมพันธ์กับคนทำนามาเป็นนายทุน โดยออกค่าใช้จ่ายในการผลิตต่าง ๆ ให้กับผู้ที่มาทำนา ในพื้นที่จึงพบว่ามีทั้งการจ้างแรงงานและเช่าที่และมีการจ้างงาน ทำให้มีการจ้างแรงงานมากขึ้นจากผู้เช่าที่ ในการจ้างแรงงานเป็นเงิน แรงงานจะไม่มีความมั่นคงนัก ซึ่งต่างจากการเช่าที่อย่างที่ผ่านมา ซึ่งผู้เช่ามีสิทธิในการจัดการผลิตได้ แม้จะมีการแบ่งส่วนให้กับเจ้าของที่ดิน แต่ในการปรับเปลี่ยนบทบาทของเจ้าของที่ดินในการเข้ามาดูแล ทำให้ผู้เช่าไม่สามารถจัดการผลิตได้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นไปในลักษณะของการจ้างงานมากกว่า การเข้ามาจัดการดูแลของเจ้าของที่ดินทำให้ผู้เช่าลดความสำคัญในการยึดครองการผลิตและถูกควบคุมจากเจ้าของที่ดินที่ใช้ระบบการแบ่งผลผลิต และการใช้เงินสดเข้ามาจัดการในการผลิตเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น (Anan 1989; Chayan 1984)
ขบวนการเคลื่อนไหวในขบวนการชาวนาจากการศึกษาของ ไทเรล ฮาเบอร์คอน (Haberkorn 2007) พบว่า ขบวนการชาวนา ทั้งชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และผู้มีอำนาจทางการเมือง มักมองชาวนาไม่ใช่ตัวละครสำคัญทางการเมืองที่จะส่งเสียงให้พวกเขาเหล่านั้นได้ยิน รวมทั้งยังมองว่า พวกชาวนามีลักษณะเป็นคนที่มีความคิดไม่แตกต่างกัน มีความคิดในทำนองเดียวกัน อันเป็นลักษณะ "ว่านอนสอนง่าย" มิหนำซ้ำยังมีการแต่งกายเหมือน ๆ กัน ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ชาวนาอย่างชัดเจน
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นไปเพื่อลดฐานะครอบงำของรัฐ รวมทั้งเพื่อโอนอำนาจบางส่วนมาให้ประชาชนใช้ดูแลชีวิตตนเองโดยตรง การเมืองภาคประชาชน คือ ปฏิกิริยาตอบโต้การใช้อำนาจของรัฐ และเป็นกิจกรรมถ่วงดุลอิทธิพลการครอบงำของระบบตลาดเสรีในภาคประชาสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนแบ่งออกเป็น 4 ทิศทางด้วยกันได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวร้องทุกข์ หรือเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้ปัญหาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล 2) การเคลื่อนไหวที่มุ่งตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจรัฐ 3) การประท้วงอำนาจรัฐและเรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจที่รัฐเคยมีมาเป็นของประชาชน 4) การร่วมมือเชิงวิพากษ์กับรัฐ หรือความผูกพันในทางสร้างสรรค์เพื่อเบียดแย่งพื้นที่ในกระบวนการใช้อำนาจมาเป็นของประชาสังคม (เสกสรรค์ 2548)
ขบวนการเคลื่อนไหวมีจุดร่วมกัน คือ วัฒนธรรมต่อต้านขัดขืน ประเด็นสำคัญที่มีการเคลื่อนไหวอาทิเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การคัดค้านโลกาภิวัตน์ ตลอดจนการเคารพอำนาจสิทธิในวิถีชีวิตตัวตนของชุมชนบุคคล ถือเป็นการรวมตัวกันเพื่อตรวจสอบการนำสิทธิของประชาชนไปใช้ เพื่อเป็นไปโดยถือประโยชน์ชาติตามที่ได้ให้พันธสัญญาต่อประชาชนหรือไม่ การรวมตัวกันทางการเมืองของภาคประชาชนก่อรูปขึ้นโดยมีเงื่อนไข หากแต่ทุกกลุ่มพลังการเมืองภาคประชาชนล้วนมีปัจจัยในเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง มีความสำคัญในฐานะเจ้าของสิทธิ การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวในประชาสังคมด้วย และต่างจากขบวนปฏิวัติในสมัยก่อนตรงที่ไม่ได้มีจุดหมายที่จะยึดกุมอำนาจรัฐมาดัดแปลงสังคมให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่ยึดมั่น แต่ประสงค์จะได้มาซึ่งฐานะในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านรัฐเสมอไป (เสกสรรค์ 2548; ประภาส 2552; ไชยรัตน์ 2545)
ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์ข้างต้นเกิดภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมหลายอย่าง ไม่ได้เกิดอย่างโดด ๆ แต่เป็นการสะสมรวมตัวของหลาย ๆ เหตุการณ์ อาทิเช่น มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ฯ เป็นจำนวนมาก นักศึกษาและเครือข่ายกรรมกรชาวนาชาวไร่ก็ถูกสังหาร ปราบปราม จนบางคนก็หนีเข้าป่าหรือลี้ภัยทางการเมืองไปยังต่างประเทศมากมาย หลังจากนั้น บรรดานักเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ได้รับชะตากรรมการสูญเสียที่ถูกอุ้มหาย สังหาร และข่มขู่เช่นกัน ความสูญเสียทั้งหมดคิดว่าเป็นความเสียสละเพื่ออุดมการณ์ ถือเป็นการสูญเสียอิสรภาพและชีวิตที่เสียไปกับความกลัวของกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยขบวนการของชาวนา (2516-2519) เกิดจากการที่ชาวนายังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวนาต้องเข้าร่วมต่อสู้เพื่อยกระดับฐานะของตนเอง ช่วงก่อนหน้า 6 ตุลาคม 2519 มีการลอบสังหารชาวนาผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เป็นจำนวนมาก และทำให้การรวมตัวขึ้นเป็นองค์กรครั้งนั้นเป็นเพียงระยะสั้น และจบลงอย่างโหดร้าย[5] (Haberkorn 2007)
ประเด็นสำคัญที่เคลื่อนไหว คือ ช่องว่างของการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่าง ๆ จะมีความเหลื่อมล้ำขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงช่องว่างของนโยบายรัฐที่เอื้อต่อคนที่มีทุน และการศึกษา ทำให้ “ชนบท” กับ “เมือง” แตกต่างกันอย่างไพศาล (ชัยพงษ์ 2560) ทำให้คนหลากหลายกลุ่มเห็นความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมในสังคมในหลากหลายมิติทำให้เกิดการต่อสู้เรียกร้อง และที่สำคัญคือ การต่อสู้ในเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการผลิต จากการศึกษาของกนกศักดิ์ แก้วเทพ (2530 : 22-23) พบว่า “มีเกษตรกรที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินในช่วงปี พ.ศ. 2502-2509 จำนวน 172,869 ไร่ จากโฉนดที่ดินจำนวน 7,016 แปลง คิดเป็นมูลค่าในขณะนั้น 347.3 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขายฝากและการจำนอง และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจำนวนมากทำให้ที่ดินไม่เพียงพอต่อการผลิต และการถือครองที่ดินมีขนาดเล็กลง (ดูเพิ่มใน Haberkorn 2007; อานันท์ 2527, จามะรี 2527, 2554)
หลังจากมีรัฐบาลผสมในปี พ.ศ.2518 ข้อเสนอหรือความต้องการเรื่องกฎหมายของการเช่าที่ดินของเกษตรกร ถูกปฏิเสธ ถูกกล่าวหาโดยรัฐบาลว่าจะล้มล้างระบบการปกครองและถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำเกษตรกร จำนวน 11 คน ที่ตำบลบ้านกาด เกิดการรวมตัวกันโดยมีองค์กรท้องถิ่น “กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกัน” ซึ่งรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 27 หมู่บ้าน การรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นผลมาจากการมีสหพันธ์ฯ หลังจากไม่มีสหพันธ์ฯ ก็ไม่มีการต่อสู้เรื่องกฎหมายการควบคุมการใช้ที่ดิน ประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างขององค์กรที่ต่อต้านโดยผู้เช่า เกษตรกรที่ยากจน เกษตรกรไร้ที่ดินในเชียงใหม่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ก่อให้เกิดบริบททางการเมืองที่สำคัญของความขัดแย้งเรื่องที่ดินในภายหลัง (Anan 1989)
การต่อสู้เรียกร้องการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นยุคของความเบ่งบานของประชาธิปไตย เกิดจากความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเท่าที่ควร เช่น “ในเดือนพฤษภาคม 2517 ชาวนาหลายร้อยคนได้มาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ช่วยเหลือเรื่องนายทุนโกงที่นา และช่วยไถ่ถอนหนี้สิน โดยรัฐบาลได้ (1) ตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนปัญหาหนี้สินของชาวนาชาวไร่ (กสส.) และส่งเรื่องไปตามจังหวัดต่าง ๆ ให้แก้ไข แต่การแก้ไขปัญหาใช้ระบบราชการในการแก้ไขปัญหา และมีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทำให้ชาวนาเสียเปรียบ ทำให้คณะกรรมการ กสส. ไม่ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของชาวนา และต้องกลับมาประชุมที่กรุงเทพฯ อีก (2) แม้ภายหลังรัฐบาลจะใช้มาตรา 17 ใช้อำนาจเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลมุ่งเน้นการไกล่เกลี่ยระหว่างชาวนา กับเจ้าของที่ดินและนายทุน ทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน เพราะว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้สูญเสียที่ดินไปก่อนปี พ.ศ. 2517 แต่รัฐมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะกรณีที่เกิดในปี พ.ศ. 2517” (พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2518 : 15-16 อ้างใน กนกศักดิ์ 2530 : 47)
ชาวนาชาวไร่รวมตัวกันเรียกร้องสิทธิตาม พ.ร.บ.ค่าเช่า ที่ออกในปี 2517 ว่า เป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สังคมที่กฎหมายถูกเขียนโดยชนชั้นนำ แต่ครั้นชนชั้นล่างเรียกร้องสิทธิของตนตามกฎหมายผลที่ได้รับกลับเป็นความอยุติธรรม ย้อนอดีตไปพบกับเหตุการณ์ที่ผู้นำสหพันธ์ฯ ถูกสังหาร เหล่าชาวนาต่างรู้ดีว่าผู้บงการ คือ อำนาจรัฐและอำนาจเงินจากเจ้าของที่ดิน ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาทางชนชั้น เนื่องจากช่วงก่อน 6 ตุลา ประเด็นเรื่องค่าเช่าถือเป็นปัญหาสำคัญที่ขบวนการชาวนาเรียกร้องให้แก้ไขให้ปฏิรูปอย่างเป็นธรรม แต่ว่าหลังจากนั้นมาชาวนาที่เป็นนักเคลื่อนไหวก็ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากการไล่ล่าของกลุ่มอำนาจทางการเมืองด้วยการหลบหนีไปอยู่ในป่า แต่ตอนหลังออกจากป่าการเคลื่อนไหวได้มุ่งไปสู่การปฏิรูปที่ดิน และการเข้าถึงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม (Haberkorn 2007)
จากการเคลื่อนไหวของเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเคลื่อนไหวโดยไม่มีองค์กรที่เข้มแข็งทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นำมาสู่การตั้งเป็นเครือข่ายเพื่อให้เกิดพลังในการเรียกร้องในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 (พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 2518 : 15-16 อ้างใน กนกศักดิ์ แก้วเทพ 2530 : 48) มีวัตถุประสงค์ คือ (1) พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวนาชาวไร่ (2) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาชาวไร่ (3) ให้ชาวนาชาวไร่เข้าใจ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่านา (กลุ่มเศรษฐศึกษา 2522 : 18 อ้างใน กนกศักดิ์ แก้วเทพ 2530 : 48-49) นอกจากนี้ ในภาคเหนือยังมีการตั้ง “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ” และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเพราะว่าในพื้นที่ภาคเหนือมีปัญหาในเรื่องค่าเช่าที่รุ่นแรงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ จากการศึกษาของเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม (2523 : 152, 162-164) พบว่าภาคเหนือมีครัวเรือนที่เช่าที่ดิน จำนวน 54,225 ครัวเรือน ร้อยละ 99 เป็นการเช่าโดยปากเปล่า และร้อยละ 61 เป็นการเช่าในระยะเวลา 1 ปี (สำรวจในปี พ.ศ. 2514 จำนวน 11 จังหวัดภาคเหนือ) การเช่าที่ดินทำนาของชาวบ้านจะใช้ระบบ “ปันเกิ่ง” หรือ “ผ่ากึ่ง” คือ แบ่งครึ่งผลผลิตที่ได้ทั้งหมดต่อปี โดยเจ้าของที่ไม่ต้องลงทุนอะไรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นธรรมและขูดรีด (อานันท์ 2527; 2560)
ในการตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยครั้งแรกมีสมาชิกเพียง 200 ครัวเรือน แต่ในการเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่ปีสหพันธ์ฯ มีสมาชิกถึง 1.5 ล้านครัวเรือน ครอบคลุม 41 จังหวัดและในจังหวัดเชียงใหม่เพียงจังหวัดเดียวมีสมาชิกสหพันธ์ฯ ถึง 100,000 ครัวเรือน (กนกศักดิ์ 2530 : 60-61) แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรจำนวนมากมีปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร
นอกจากนี้ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยร่วมมือกับนิสิตนักศึกษา กรมมกร และนักวิชาการ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ แกนนำและสมาชิกสหพันธ์ฯ ยังถูกไล่ล่าและมีผู้สูญหายและเสียชีวิต จำนวน 48 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 33 ราย สูญหาย 15 ราย และท้ายสุดคือ นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ถูกลอบยิงตายที่บ้านมาบข้าวต้ม อ.บ้านค่าย จ.ระยอง (กนกศักดิ์ 2530 : 147) ทำให้บทบาทของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ค่อย ๆ ลดบทบาทลง แต่ปัญหาของเกษตรกรยังคงมีอยู่ ความไม่ลงตัวของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมสิ้นสุดลงด้วยรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยฝ่ายรัฐเป็นผู้ยืนยันฐานะครอบงำของตน หลังจากนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลที่จัดตั้งโดยกองทัพแห่งชาติกับขบวนประชาชนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นแกนนำ ก็กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยต่อมาอีกหลายปี ในระหว่างนี้แนวคิดที่ถือว่า รัฐเป็นศูนย์กลาง ก็มีฐานะครอบงำเช่นกัน โดยได้รับการยึดมั่นทั้งจากพลังฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ส่วนแนวคิดถ่วงดุลอำนาจรัฐด้วยประชาสังคมหรือแนวทางเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติโดยฝ่ายประชาชน ดูจะเติบโตได้ช้ามาก จนกระทั่งประมาณปี 2522 – 2523 เมื่อสถานการณ์ที่พลิกผันในระดับสากลและนโยบายที่ฉลาดกว่าของฝ่ายรัฐบาลได้นำไปสู่การพ่ายแพ้ล่มสลายของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย บรรยากาศทางการเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนไป ก่อนหน้านั้นการเคลื่อนไหวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนระดับรากหญ้ามักถูกภาครัฐระแวงว่าพัวพันกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และเสี่ยงต่อการถูกปราบปราม
ไม่เพียงแต่ต่อสู้ผ่านการเคลื่อนไหวผ่านสมพันธ์ชาวนาชาวไร่ แต่ชาวนายังการต่อสู้ผ่านกฎหมายและงานของไทเรล (2007) ได้ตั้งคำถามด้วยกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” และตีความใหม่ เพื่อนำเรื่องราวของเสียงเล็ก ๆ เข้าไปอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย ว่าพวกเขาได้ “ปฏิวัติ” แม้ว่าการปฏิวัติ “ถูกขัดขวาง” (interrupted) ก็หมายถึงการปฏิวัติ “ถูกตีความใหม่” (re-interpreted) นั่นเอง (Haberkorn 2007) นอกจากนี้ ช่วงปี 2518 - 2519 ได้เกิดพรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยมที่เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงของชาวนาจำนวนมาก อาทิ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมเศรษฐกร ฯลฯ ซึ่งอาจถือว่าเป็นตัวแทนของชาวนา (สุจิต 2531) ที่ต้องการต่อสู้ในระบบรัฐสภา แม้ว่าอายุของพรรคเหล่านั้นจะไม่ยืนยาว ถูกปราบ ถูกทำให้หมดสภาพไปภายใต้การรัฐประหารและการขึ้นมาครองอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ก็จุดเริ่มต้นของการส้รางพื้นที่ทางการเมืองอย่างเป็นทางการของชาวนา ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในระยะหลังต่อมา (ดูบทบาmขบวนการเคลื่อนไหวในงาน ประภาส 2541; เสกสรรค์ 2548; Walker 2008; 2012))
ความคับแค้นอย่างไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไข เพราะปัญหาของเกษตรกรมิใช่ปัญหาของ "ปัจเจก" แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ขบวนการเคลื่อนไหว เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสาน สหพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนภาคใต้ ฯลฯ (ดูบทบาทกลุ่มนี้อย่างละเอียดใน ประภาส 2541; เสกสรรค์ 2548) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนนั้น เป็นการรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา เช่นในกรณีของ คกน. สกยอ. และสมัชชาคนจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาชนเล็ก ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐหรือการขยายตัวของทุนอีกเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนปัญหาร่วมของกลุ่มต่าง ๆ คือ ปัญหาดิน น้ำ ป่า แต่พบว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ในกรณีของประเทศไทยโอกาสเติบโตทั้งของแนวคิดประชาสังคมและการเมืองภาคประชาชนเพิ่งเกิดขึ้นจริง ๆ หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมโดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานขององค์กรชนิดหนึ่งซึ่งค่อนข้างเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย สิ่งนี้เรียกกันว่าองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ
ในระยะหลังปี 2523 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนนับว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแทนที่ขบวนปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธที่เสื่อมสลายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งให้สิทธิประชาชนในการจัดตั้งรวมตัว และมีส่วนร่วมทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างยิ่งระหว่างการเมืองภาคประชาชนกับขบวนการปฏิวัติ คือ เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มย่อยที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เป็นไปเองโดยปราศจากศูนย์บัญชาการและมีจุดหมายในการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องมากกว่าต้องการยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่โครงสร้างใหม่ทั้งหมด ถึงกระนั้นเราก็อาจกล่าวได้ว่าลักษณะที่ไม่ยินยอมให้รัฐและทุนเป็นฝ่ายกำหนดข้างเดียว ทำให้การเมืองภาคประชาชนเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่หัวรุนแรง (ดู ประภาส 2541; เสกสรรค์ 2548)
การเมืองภาคประชาชนเป็นแนวคิดใหม่ที่เน้นการจำกัดอำนาจรัฐไปพร้อมกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของฝ่ายประชาชน ในประเทศไทยแนวคิดนี้มีความชัดเจนหลังจากสงครามกลางเมือง (2516-2519) สิ้นสุดลงและระบอบการเมืองไทยเริ่มกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ยิ่งในช่วงที่โลกยุติสงครามเย็น บรรยากาศทางการเมืองก็ยิ่งอำนวย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดขึ้นขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกัน จำนวนองค์กรประชาสังคมแบบข้ามชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าสิบเท่าโดยมีประมาณ 17,000 องค์กร และมีความเคลื่อนไหวในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น การพัฒนา ระบบนิเวศ สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานเอ็นจีโอส่วนใหญ่จะถูกฝึกมาให้เป็นผู้สันทัดเรื่องการเจรจา แต่บริบทในประเทศไทย ได้ทำให้เขาเหล่านั้นคลุกคลีกับผู้ยากไร้และเห็นปัญหาจากการกระทำของฝ่ายรัฐและทุน จนออกมาเคลื่อนไหวหรือกลายเป็นแกนนำของการเคลื่อนไหวในการเมืองภาคประชาชนไปโดยปริยาย ดังกรณี เขื่อนปากมูน สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เป็นต้น แต่ลักษณะดังกล่าวก็มีการกระจัดกระจายมาก ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มเอ็นจีโอได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แบบสังคมสงเคราะห์ แบบสนับสนุนรัฐบาล และแบบสนับสนุนกระแสทางเลือก หรือกระแสที่มอง เอ็นจีโอเป็นเหมือนตำรวจดับเพลิงของทุนนิยม มีการแก้ไขปัญหาเป็นจุด ๆ แต่ก็มีการพัฒนาไปสู่การคิดที่เป็นระบบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ที่ดูจำแนกแจกแจงความต่างระหว่างองค์กรประชาชนกับเอ็นจีโอนั้น ก็สามารถปรากฏให้เห็นไม่ว่าจะเป็นการจำแนกบทบาทที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกัน จนไปถึงการวิพากษ์แนวคิดของเอ็นจีโอโดยผู้นำชาวนาว่า “ไม่กล้าแตะโครงสร้างที่เป็นอยู่ ซึ่งสำหรับชาวนาไร้ที่ดินอย่างพวกเขา ไม่น่าจะเป็นทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง” (เสกสรรค์ 2548 : 163 - 164)
การเมืองภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเมือง เป็นการค้นหาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม ซึ่งสามารถเคลื่อนหาจุดร่วมของประเด็นเคลื่อนไหว ได้ตามเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ต่างจากรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่ผูกพันอยู่กับนโยบายพัฒนาอันมีมาแต่เดิมภายใต้ระบอบอำนาจนิยม และต่อมายังเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับระบบทุนโลกาภิวัตน์ จึงมีแนวโน้มที่จะคงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไว้เพียงเท่านี้ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ยังประโยชน์ให้แก่พวกเขามาตั้งแต่ช่วงฟักตัว แล้วยังต่อยอดให้อีก ด้วยการเปิดโครงสร้างให้เข้าไปกุมอำนาจรัฐโดยตรง
การเมืองเป็นเรื่องของคนเล็กคนน้อยที่วาดหวังกับความยุติธรรมทางสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นการเมืองในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของผู้คนสามารถอธิบายการต่อสู้ของผู้คนในแต่ละห้วงเวลาได้ การอธิบายด้วยเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรืออำนาจที่ไม่เท่าเทียม ไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด Haberkorn (2007) พยายามอธิบายจากขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาที่สร้างองค์กรขนาดใหญ่เพื่อต่อรองกับรัฐ ผ่านเครื่องมือทางด้านกฎหมาย แม้จะถูกกดปราบและยุติความเคลื่อนไหวไป ซึ่งชาวนามิได้ต่อสู้ขัดขืนในชีวิตประจำวันอย่างงานของ Scott (1976; 1985) Kerkvliet (2002) ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มิใช่ชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่งานชิ้นนี้ทำให้เราเข้าใจว่าอำนาจทางการเมือง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนผู้แสดง (actor) ได้ ไม่มีใครสามารถผูกขาดหรือนิยามการให้ความหมายทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คนตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถสร้างองค์กรและปรับเครื่องมือของรัฐเข้ามาเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้ของตนด้วย การศึกษาของ Walker (2012) ที่ศึกษาการเมืองของชาวนาก็อธิบายการต่อรองเพื่อนำผลประโยชน์ของรัฐเข้ามาในหมู่บ้าน ที่มิใช่การต่อต้านรัฐแต่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากรัฐ
จากการศึกษาของ Anan (1989) พบว่า การต่อสู้ หรือเคลื่อนไหวของชาวนามิได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอยแต่เกิดภายใต้เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชนบท ที่ก่อให้เกิดการแตกตัวของชนชั้น และนำไปสู่ความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของผู้คนในชนบท
อาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ขัดขืน หรือ การเมืองของชาวนามีได้หลายทิศทาง หลายรูปแบบไม่จำเป็นต้องเป็นการต่อสู้เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเดียว ทั้งชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับรัฐของชาวนามีหลายระดับทั้งการขัดขืน การประนีประนอม การเข้าใจการต่อต้านขัดขืนก็คือการเข้าใจปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ ซึ่งการแสดงออก หรือปฏิบัติการมิได้เกิดในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่พื้นที่ส่วนตัว หรือพื้นที่ที่มองไม่เห็นกลับทำให้เราเข้าใจการเมืองในอีกมิติหนึ่งได้ดีกว่า (Haberkorn 2007)
รวมถึง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างไพศาล ส่งผลให้เกิดคนชั้นกลางในชนบทที่มีความตื่นตัวทางการเมือง ทั้งที่เกิด คนกลุ่มใหม่ ๆ ในชนบทที่มีสำนึกทางการเมือง ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะผ่าน “การเลือกตั้ง” เขาเหล่านั้นได้เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะผู้ประกอบการทางการเมือง (Politic Agency) ที่กระตือรือร้น โดยเฉพาะการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่เป็นพื้นที่เปิดที่พร้อมรับผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่พื้นที่นี้ ภายใต้การสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เป็นสนามของการต่อรองที่สำคัญ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพื้นที่ “เปิด” ที่ประชาชนใช้เป็น “พื้นที่” เพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับรัฐแบบใหม่ และการเลือกตั้งยังเปิดโอกาสให้ “คนหน้าใหม่” เข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้น “คนชนบท” ก็ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เชื่องเชื่อทางการเมือง ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของนักการเมือง นายทุน ซึ่งเป็นวาทกรรมที่กักขังการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ ในที่นี้จึงพยายามที่จะทำความเข้าใจคนกลุ่มใหม่นี้ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ (ดู Walker 2008; 2012)
บทบาททางการเมืองของชาวนาและนักศึกษาและผู้มีความเกี่ยวข้องกับการต่อต้านอำานาจรัฐอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรจนเกิดการต่อสู้ในปัญหาที่ดินทำากิน ในประเด็นกฎหมายที่ดิน อันมีเวลาอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ชาวนาชาวไร่เหล่านี้ยังสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวระดับประเทศอย่าง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่ประท้วงอย่างกว้างขวาง ทำาให้พวกเขาถูกติดป้ายให้กลายเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำาให้เกิดการปราบปราม ลอบสังหารชาวนาเพื่อยับยั้งการเคลื่อนไหวของพวกเขาเอง (Haberkorn 2007)
การทำความเข้าใจการก่อตัว (Emerge) ของคนกลุ่มใหม่ในชนบทที่สัมพันธ์กับสถานการณ์แบบใหม่ ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างชนบท (Agrarian Transformation) ที่ส่งผลให้คนชนบทกลายเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองที่กระตือรือร้น (Politic Agency) ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในมิติต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนบทเป็นเมืองใหม่ (Urbanization) หรือกึ่งเมืองกึ่งชนบท รวมถึงการเกิดขึ้นของขบวนการสังคมแบบใหม่ (New Social Movement) (ประภาส 2541; เสกสรรค์ 2548) ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน รวมถึงทำให้เกิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ กับคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแนวคิดข้างต้นจะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองที่กระตือรือร้นของคนกลุ่มใหม่ ๆ ในสังคม แต่อำนาจท้องถิ่นนั้น ๆ จะก่อตัว (Emergent) ขึ้นเมื่อมีอำนาจอื่นเข้ามาปะทะก่อกวน ภายใต้ความสัมพันธ์ที่หลากหลายทั้งอำนาจตามประเพณี ความเชื่อ และวิกฤติต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คน อาจเรียกความสัมพันธ์นั้นว่า เป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบ (Potter 1976)
กนกศักดิ์ แก้วเทพ
2547 “บทเรียน 30 ปี ของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ไทย” ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปี 2 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2547)
2526 “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย การเคลื่อนไหวของชาวนาไทยยุคประชาธิปไตยเบิกบาน” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 2,4(เม.ย.-มิ.ย. 2526)
2530 บทวิเคราะห์สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย : เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยชาวนายุคใหม่. กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กาญจนา แก้วเทพ
2527 จิตสำนึกชาวนา ทฤษฎีและแนวทางการวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์การเมือง กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
คายส์, ชาลส์ เอฟ.
1983 “พฤติกรรมทางเศรษฐกิจและพุทธศีลธรรมในหมู่บ้านชาวนาไทย” ยศ สันตสมบัติ
(แปล). ถอดความเรียบเรียงจาก Charles F. Keyes. (1983). Economic Action and Buddhist Morality in Thai Village. Journal of Asian Studies, 42(4): 851 – 868.
จามะรี พิทักษ์วงศ์
2527 “ระบบทุนนิยมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนาไทย” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 3,4(เม.ย.-มิ.ย. 2527)
จามะรี เชียงทอง และคณะ
2554 ชนบทไทย : เกษตรกรระดับกลางและแรงงานไร้ที่ดิน. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
2549 สังคมวิทยาการพัฒนา. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
2557 ชนบทไทย จากอดีตสู่อนาคต. เชียงใหม่ : แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.).
ชัยพงษ์ สำเนียง
2560 พัฒนาการของกลุ่มทุนและเครือข่ายธุรกิจในภาคเหนือของประเทศไทย พ.ศ. 2446-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โครงการความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์ (สกว.).
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
2554 วาทกรรมการพัฒนา : อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น = Development discourse power knowledge truth identity and otherness. กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ประภาส ปิ่นตบแต่ง.
2541 การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุม
ประท้วงในสังคมไทย กรุงเทพฯ: ต้นตำรับ.
สุจิต บุญบงการ
2531 การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
2548 การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไทย กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
อานันท์ กาญจนพันธุ์
2527 พัฒนาการของชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา. เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
2539 “สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา” โครงการศึกษา "เมืองไทยในความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส". กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
2554 “การปรับโครงสร้างชนบทไทยกับปัญหาที่มองไม่เห็น” ใน ปาฐกถา 60 ปีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊กส์.
2560 ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา : ความเคลื่อนไหวของชีวิตและวัฒธรรมท้องถิ่น. พิษณุโลก : หน่วยวิจัยอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร.
Anan Ganjanapan.
1984 The Partial Commercialization of Rice Production in Northern Thailand (1900-1981). Ph.D. Dissertation, Cornell University, USA.
Bowie, Katherine.
1988 Peasant perspectives on the political ecconomy of the northern Thai Kingdom of
Chiang Mai in the nineteenth century : implication for the understanding of peasant political expression Chicago, Ill. : University of Chicago.
1980 “The role of market in the formation of class consciousness in Chiengmai valley of northern Thailand”, Annual meeting of the Association for Asian Studies, 21-23 March 1980, Washington D.C
Chayan Vaddhanaphuti.
1984 Cultural and Ideological Reproduction in Rural Northern Thai Society.' Ph.D. dissertation, Stanford University.
Cohen, Paul.
1981 The Politics of Economic Development in Northern Thailand 1967– 1979. Ph.D. thesis, University of London.
Haberkorn, Tyrell Caroline.
2007 States of transgression: politics, violence, and agrarian transformation in Northern Thailand Cornell : Faculty of the Graduate School, Cornell University.
Hirai, Kyonosuke.
2002 “Exhibition of Power Factory Woman’s Use of the Housewarming Ceremony in a Northern Thai Village” in Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes (Eds) Cultural crisis and social memory : modernity and identity in Thailand and Laos.
Kerkvliet, Benedict J. Tria.
2005 The Power of everyday politics : how Vietnamese peasants transformed national policy Imprint Ithaca, N.Y. : Cornell University Press.
Keyes, Charles.
2010a “Cosmopolinta” Villagers and Populist Democracy in Thailand. Paper to be Presented at Conference on Revisiting Agrarian Transformations in Southeast Asia May 13-15, 2010, Chiang Mai: Thailand.
2010b “From Peasant to Cosmopolitan Villagers: Refiguring the “Rural” in Northeastern Thailand” This Paper was prepare for a conference on Revisiting Agrarian Transformation in Southeast Asia Chiang Mai, Thailand, May 2010
1967 Isan : regionalism in Northeastern Thailand Ithaca, N.Y : Cornell University.
Potter, Jack M.
1976 Thai peasant social structure Chicago : University of Chicago Press.
Tanabe, Shigeharu
1981 Peasant Farming System in Thailand: A Comparative Study of Rice Cultivation and Agricultural Technology in Chiang Mai and Ayutthaya. Ph.D. Dissertation, University of London.
Turton, Andrew.
1975 Northern Thai peasant society : a case study of jural and political structures at the village level and their twentieth century transformations. London : University of London.
1976 “Northern Thai Peasant Society: Twentieth Century Transformations in Political and Jural Structures”, The Journal of Peasant Studies 3(3): 267-298.
Scott. James C.
1976 The Moral economy of the peasant : rebelllion and subsistence in Southeast AsiaNew Haven : Yale University Press.
1985 Weapons of the weak : everyday forms of peasant resistance New Haven : Yale University Press.
Walker, Andrew.
2008 “The rural constitution and the everyday politics of elections in northern Thailand” Journal of Contemporary Asia 38(1): 84-105.
2012 Thailand's political peasants : power in the modern rural economy Madison, Wis. : University of Wisconsin Press.
เชิงอรรถ
[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ของผู้เขียน เพื่อต้องการอธิบายสำนึกทางการเมืองของชาวนาไทย ที่มีการเคลื่อนไหวภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ และทำลายมายาคติที่มักบอกว่าชาวนาไร้สำนึกทางการเมือง ขาดการรวมกลุ่ม จึงเป็นกลุ่มคนที่ล้าหลังในโลกสมัยใหม่ โดยบทความนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศในให้ขบวนการชาวนาเนื่องในวาระ 42 ปี 6 ตุลา และ 45 ปี 14 ตุลา ที่ทำให้ชาวนาจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิต และบางส่วนต้องออกไปต่อสู้ในเขตป่าเขา ถ้าแม้บทความนี้มีประโยชน์อยู่บ้าง ขออุทิศให้เหล่า “สหาย” ที่ถากถางหนทางต่อสู้ให้พวกเรา แม้มีข้อผิดพลาดย่อมเป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ขอบคุณต้น สมพงศ์ อาษากิจ ที่ช่วยอ่านและให้ข้อเสนอแนะ
[2] ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงนี้ คือ เพราะคนชนบทมิได้อยู่ในชนบท หรือมีอาชีพเกษตรกรรมอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจสังคมของภาคเหนือนับวันยิ่งมีความซับซ้อนขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงสัมพันธภาพเชิงอำนาจขององคาพยพต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ยังสะท้อนให้เห็นการจัด “ตำแหน่ง” แห่งที่ทางประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไพศาลนี้ ภายใต้ “การพัฒนา” หลากหลายรูปแบบ “การพัฒนา”
[3] ในภาคเหนือมีความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการผลิตเพื่อยังชีพ มาสู่การผลิตเพื่อขาย โดยการผลิตเพื่อขายเริ่มเข้มข้นตั้งแต่มีการสร้างทางรถไฟ และที่สำคัญคือ การมุ่งพัฒนาโดยรัฐ ที่ให้ความสำคัญต่อเมืองแต่ละเมืองไม่เท่ากัน นำมาสู่การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนในเมืองนั้น ๆ แตกต่างกันภายใต้ผลของการพัฒนา ทำให้เมืองบางเมืองในภาคเหนือเป็นเมืองชายขอบการพัฒนา และนำมาสู่การจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” และสร้างความหมายต่อตนเองที่ต่างกัน
[4] แต่กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสถาปนาอำนาจท้องถิ่นได้อย่างราบเรียบ แต่มีการต่อต้านในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาศัยความสัมพันธ์และอำนาจในท้องถิ่น ผ่านพิธีกรรม ความเชื่อ ผู้นำ เช่น ความเชื่อเรื่องพระศรีอริยเมตไตร ตนบุญ ข่าม และเชื้อชาติ ซึ่งนำมาสู่การเกิดกบฏชาวนาหลายครั้ง กบฏเหล่านั้นเป็นเสมือนหน่ออ่อน และความสัมพันธ์แนวนอนที่ถักทอขึ้นในท้องถิ่น และจะกลายเป็นพลังที่สำคัญของการเคลื่อนไหว แสดงให้เห็นภายในสังคมมีพลังบางอย่างที่ก่อตัวและเคลื่อนไหวอยู่ จะแสดงออกมาเมื่อเกิดวิกฤติหรือความไม่ปกติของสังคม (Keyes 1975; Potter 1976; Turton 1975; 1976)
[5] การเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาและชาวนามักถูกแยกออกจากการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาในการศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพรรคและแนวคิดมาร์กซิสต์ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหว โดยปรากฏว่ามีความรุนแรง ของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าของที่ดิน หรือกลุ่มอิทธิพลมืด เข้ามากระทำการทำลายล้างขบวนการชาวนาให้หมดสิ้นไป ส่งผลให้ชาวนาถูกทำลายชีวิตและถูกสังหารโหด ซึ่งหนังสือของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ได้นี้ได้บันทึกประวัติศาสตร์ของความรุนแรงนี้เอาไว้ การที่หนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อว่าการปฏิวัติ “ถูกขัดขวาง” (interrupted) ก็หมายถึงการปฏิวัติ “ถูกตีความใหม่” (re-interpreted) นั่นเอง โดยได้ตั้งคำถามกับคำจำกัดความของคำว่า “ปฏิวัติ” และตีความใหม่เพื่อนำเรื่องราวของเสียงเล็ก ๆ เข้าไปอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ไทย ว่าพวกเขาได้ “ปฏิวัติ” ด้วยการต่อสู้ผ่านกฎหมาย (Haberkorn 2007)
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.