บางขุดเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอสรรคบุรี ห่างออกไป 10 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ราว 185 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำน้อย และมีระบบชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ บางขุดมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,700 ไร่ หรือประมาณ 49.46 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 12 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรทั้งหมด 7,188 คน (สำนักงานเทศบาลตำบลบางขุด, 2560)
เหตุที่ตำบลแห่งนี้ชื่อ “บางขุด” นั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตพื้นที่นี้ทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันขุดบาง ซึ่งเป็นทางน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำไหลขึ้นลงตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำน้อยก็จะไหลเข้าไปผ่านบางต่างๆ เข้าไปในทุ่งนา จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “บางขุด”
หากย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2510 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนา “คน” และ “องค์กรชุมชน” ใน 4 ด้านสำคัญ คือ การประกอบอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ สุขภาพอนามัย และการจัดการองค์กรชุมชน ด้วยการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบูรณะชนบทขึ้น 14 แห่งใน จ. ชัยนาทและ 1 แห่งใน จ. อุทัยธานี โดยหนึ่งในนั้น คือ “ศูนย์ปฏิบัติการบูรณะชนบท ตำบลบางขุด”
“….จุดมุ่งหมายของการพัฒนาชนบทนั้น อยู่ที่การให้เขาช่วยตัวเองได้
ขณะนี้ยังคุยไม่ได้ว่า “สำเร็จ”
แต่เรากำลังเรียนรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ชาวบ้านเขาช่วยตัวเองได้
ทำอย่างไร ชาวบ้านจึงจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อช่วยเหลือตัวเอง....”
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ศูนย์ฯ บางขุด เปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2518 โดยมีนายเดช รัชฏาวงศ์ เป็นบูรณากรของมูลนิธิฯ และได้รับบริจาคที่ดินก่อตั้งสำนักงานศูนย์ฯ จากนายอ้อยและนางปุ่น ปล้องมาก ชาวบ้านบางขุด กิจกรรมการดำเนินงานในขณะนั้นมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนและองค์กรชุมชน เช่น การฝีกอบรมให้ความรู้ชาวบ้านในการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชน การสอนหนังสือให้ชาวบ้านอ่านออกเขียนได้ การตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน การตรวจรักษาและให้คำแนะนำด้านสุขภาพอนามัย และการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ศูนย์แห่งนี้ได้เปิดดำเนินการถึง พ.ศ. 2519 แล้วได้ปิดตัวลง และถูกทิ้งร้างไปในที่สุด......
ต่อมาในปี 2559 ชาวบ้านตำบลบางขุดที่เคยมีประสบการณ์การทำงานและเป็นนักเรียนของศูนย์พัฒนาเล็กในชุมชนเมื่อครั้งอดีตได้ร่วมกันขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของชุมชน จึงได้แจ้งไปยังมูลนิธิบูรณชนบทฯ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิบูรณะชนบทฯ และ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการมูลนิธิฯ ได้เดินทางมายังศูนย์ฯ และแสดงเจตนารมณ์ยินดีสนับสนุนการปรับปรุงอาคารสถานที่ของศูนย์ขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้น ได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างชุมชน รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน ในการร่วมกันออกแบบปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ของชุมชน และได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา
แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในวันนี้ ยังคงมุ่งมั่นทำตามเจตนารม์ของ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ยึดมั่นหลักการ “พึ่งตนเองได้” ของชาวบ้าน บนพื้นฐานของการเป็นคนดีโดยสมบูรณ์ที่มีคุณธรรม 3 ประการ คือ “ความจริง” (หมายถึง สัจธรรมและหลักวิชาต่างๆ) “ความงาม” (หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรมและความเพลิดเพลินเป็นงานอดิเรก รวมทั้งการกีฬาประเภทต่างๆ) และ “ความดี” (หมายถึง การไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อกัน ความสัตย์สุจริญและบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน) และถ้าขาดคุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้มนุษย์นั้นๆ บกพร่องไป
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ชาวบ้านบางขุดกำลังเผชิญในวันนี้ จากงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไท (www.landactionthai.org) เมื่อปี 2560 พบว่า ครัวเรือนของเกษตรกรกว่าร้อยละ 90 ของตำบลบางขุด อยู่ในสถานะมีหนี้สิน โดยมีหนี้ค้างชำระ รวมทั้งหมด 34,825,886 บาท คิดเป็นหนี้ค้างชำระโดยเฉลี่ย 369,562 บาทต่อครัวเรือน ทั้งนี้ แหล่งเงินกู้ที่เกษตรกรค้างชำระมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รองลงมา คือ สหกรณ์การเกษตรอำเภอสรรคบุรี และกองทุนหมู่บ้าน ตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณาสาเหตุของปัญหาหนี้สิน พบว่า ครัวเรือนของเกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ราคาของผลผลิตตกต่ำ และปัญหาพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ จากการสำรวจครัวเรือนของเกษตรกร 113 ครัวเรือน ยังพบว่า คนที่ไม่มีที่ดินและคนที่มีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ มีสูงถึงร้อยละ 64.53 สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรมีที่ดินน้อย และเมื่อศึกษาในกรณีศึกษาเชิงลึกลงไปยิ่งพบว่า ที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากล้วนติดจำนองอยู่กับสถาบันการเงิน และที่ดินที่ใช้ทำนาจำนวนไม่น้อยเป็นนาเช่า
การพัฒนาพื้นที่บางขุดในบริบทของชาวนาที่อยู่ท่ามกลางวิกฤตหนี้สินและความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินเช่นนี้ จึงเป็นโจทย์ข้อสำคัญของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บางขุด ว่า ทิศทางการพัฒนาควรมีทางออกอย่างไร ชาวนาจึงจะเกิดการพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมย์การก่อตั้งศูนย์ฯ และดังที่หลายท่านได้กล่าวไว้อย่างท้าทายว่า “หากปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกรที่ชัยนาทให้พึ่งตนเอง เป็นเกษตรยั่งยืนได้ ทั่วทั้งประเทศไทยนี้ เราทำได้ทั้งหมด”
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 ต.ค. 2561
ผู้เขียน : วรากร น้อยพันธ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.