“เห็ดระโงก” เรียกอีกชื่อว่า “เห็ดไข่ห่าน” มีราคาแพง นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลายใน ภาคเหนือและภาคอีสาน เห็ดระโงกนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดเห็ดน้ำมันหอย เห็ดระโงกนึ่งจิ้มแจ่ว แกงเห็ดระโงกใส่ใบมะขามอ่อน
ช่วงฤดูฝน หลังฝนตก 2-3 วัน เกิดภาวะอากาศร้อนชื้น สภาพอากาศร้อนอบอ้าว และมีแสงแดด ชาวบ้านจะออกไปเก็บเห็ดระโงกในป่าธรรมชาติ เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง เห็ดระโงกมักขึ้นเป็นเห็ดดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม 4-5 ดอกกระจายอยู่ทั่วไป เดิมที เห็ดระโงกหากินได้เฉพาะหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน -กรกฎาคมไปจนสิ้นฤดูฝน
ปัจจุบัน กรมป่าไม้ประสบความสำเร็จในการผลิตเห็ดระโงกนอกฤดู โดยนำเมล็ดยางนามาเพาะให้เป็นต้นกล้า แล้วนำดินใต้ต้นเห็ดแก่ที่ทิ้งสปอร์ลงดิน ไปใส่โคนต้นยางนา นอกจากนี้ยังใช้วิธีนำเห็ดระโงกต้นแก่ที่ดอกบานเต็มที่จนสร้างสปอร์แล้ว มาล้างน้ำ หรือดอกแก่จัดมาขยี้ในน้ำ แล้วนำน้ำที่มีสปอร์ของเห็ดปนอยู่ไปโปรยที่โคนต้นยางนา กรมป่าไม้ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องการผลิตเห็ดระโงกนอกฤดูให้ชาวบ้าน ใช้สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน ลดการบุกรุกทำลายป่า เหมือนในอดีต
งานวิจัย “เห็ดนอกฤดู” ของกรมป่าไม้
เห็ดระโงกหรือ “เห็ดไข่ห่าน” มีชื่อวิทยาศาสตร์ Amanita vaginata ดอกตูมกลีบรี คล้ายไข่ห่าน เมื่อโตขึ้นหมวกและก้านดอกจะดันปลอกหุ้มแตกออกมา ดอกเห็ดมีลักษณะเป็นเมือก ก้านดอกยาวรูปทรงกระบอก ผิวเรียบสีขาวหรือเหลืองนวล เนื้อเยื่อภายในก้านดอกสีขาว สานต่อกันอย่างหลวมๆ ตรงกลางก้านดอกมีรูกลวงเล็กน้อย เห็ดระโงก มีทั้งดอกสีขาว สีแดงและสีเหลือง มักขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในป่าโปร่งหรือป่าละเมาะทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน
โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้จัดทำแปลงสาธิตแนวพระราชดำริด้วยการใช้ระบบวนเกษตรมาเป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพให้มีการปลูกไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง กระบาก และศึกษาวิจัยการเพาะเห็ดป่ากินได้กับไม้วงศ์ยางควบคู่กันไป ตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่า ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
โครงการนี้ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างดี เมื่อไม้วงศ์ยางเติบใหญ่ในระยะเวลา 5- 30 ปีก็สามารถนำเนื้อไม้ไปใช้ก่อสร้างที่พักอาศัยได้ ระหว่างที่รอเวลาให้ต้นไม้เติบโต กรมป่าไม้ส่งเสริมให้ชาวบ้านหาประโยชน์จากพื้นที่ โดยการเก็บของป่ามาบริโภคเช่น หน่อไม้ ผักหวาน และเห็ดป่า เช่น เห็ดระโงก ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานทั่วไป ที่สำคัญขายได้ราคาสูงอีกต่างหาก
ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ทางโครงการฯ ได้ใช้วิธีการนำ เห็ดระโงกมาบดขยี้ในน้ำแล้วนำไปรดที่บริเวณรากไม้ยางนาในพื้นที่ ในปีถัดมา เกิดเห็ดระโงกขาว ระโงกเหลือง และระโงกแดงในแปลงทดลอง ทางโครงการฯ จึงได้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นแปลงสาธิตสร้างองค์ความรู้เผยแพร่แก่เกษตรกร และได้แบ่งเป็นแปลงย่อย บันทึกข้อมูลปริมาณผลผลิตของเห็ดระโงก ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน พร้อมทั้งยังได้ทดลองชักนำให้เห็ดระโงกออกดอกนอกฤดูกาล โดยการให้น้ำในแปลง ย่อยที่เคยมีดอกเห็ดเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ พบว่าสามารถทำให้เห็ดระโงกออกดอกก่อนฤดูกาลได้ 1-2 เดือน
ผลการทดลองดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า ปริมาณแสง ความชื้นบริเวณผิวดิน อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ รวมถึงความหนาแน่นของอินทรียวัตถุเหนือพื้นดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของเห็ดชนิดนี้ ทั้งนี้พบว่า เห็ดระโงกให้ผลผลิตสูงสุดในแปลง โดยพบเห็ดระโงกถึง 3 ชนิด คือ ระโงกแดง ระโงกเหลือง และระโงกขาว ขณะเดียวกันยังพบเห็ดกินได้ชนิดอื่นๆ เช่น เห็ดถ่าน เห็ดหาด เห็ดครก เห็ดโคน และ เห็ดตะไคล อีกด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ การออกดอกของเห็ดระโงกนั้นมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนในช่วงต้นฤดูฝนอย่างชัดเจน สังเกตได้จากพบปริมาณเห็ดระโงกเป็นจำนวนมากในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม นอกจากนี้ การให้น้ำนอกฤดู ก็ทำให้เกิดเห็ดระโงกได้เช่นกัน
ด้านตลาด
เกษตรกรสามารถขายเห็ดระโงกในช่วงฤดูฝน ได้ในราคาเฉลี่ย 200-300 บาทต่อก.ก. ส่วนเห็ดระโงกนอกฤดูกาล( มกราคม – เมษายน) ขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นถึง 400-500 บาทต่อ กก. แต่ละเดือนเก็บเห็ดได้มากถึง 60 กก. สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 บาทต่อเดือน นับเป็นความสำเร็จของโครงการฯ ที่ยึดแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่างอีกด้วย
เมื่อทดลองนำเห็ดแก่จัดมาขยี้กับน้ำ นำน้ำสปอร์ที่ได้มาหยอดในกล้าไม้ขนาดเล็กหรือไม้วงศ์ยางที่มีอยู่ในแปลง เมื่อฝนตกลงมา เห็ดระโงกก็จะงอกขึ้นในพื้นที่ระหว่างแปลงของต้นยางนา ภายหลังจากใส่ หัวเชื้อราเห็ดระโงก ให้กับกล้าไม้ตั้งแต่กล้าอยู่ในถุงเพาะชำโดยรดบริเวณโคนต้น
เมื่อนำรากของต้นไม้มาตรวจสอบ พบว่า ลักษณะปลายรากหาอาหารของต้นไม้วงศ์ยางมีลักษณะบวงพอง แตกกิ่งก้านมากมาย และพบเส้นใยราปกคลุมอยู่ชัดเจน สันนิษฐานได้ว่าเห็ดระโงกมีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยางแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งแตกต่างจากเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม ที่เป็นราย่อยสลาย เซลลูโลสเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร
เห็ดระโงก จัดเป็นราไมคอร์ไรซาที่มีความสัมพันธ์กับไม้วงศ์ยาง เช่น ยางนา เต็ง รัง ฯลฯ ทั้งราไมคอร์ไรซาและเซลล์ของรากพืช ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเพื่อความอยู่รอด รากพืชทำหน้าที่ขับสารอาหาร ประเภท น้ำตาล โปรตีนและวิตามิน ให้ราไมคอร์ไรซาใช้เป็นอาหารเลี้ยงตัวเอง เมื่อราไมคอร์ไรซาได้รับความชื้นและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะพัฒนาเป็นดอกเห็ดระโงก เติบโตร่วมแปลงไม้วงศ์ยาง ตามธรรมชาตินั่นเอง
ราไมคอร์ไรซา ช่วยดูดซับน้ำและธาตุฟอสฟอรัส จากดินเพื่อเป็นอาหารของเซลล์รากพืช และช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อก่อโรคพืช สังเกตได้แปลงต้นกล้ายางนาที่มีราไมคอร์ไรซาจะมีอัตราการรอดสูง ต้นยางนาแข็งแรง โตเร็ว ทนแล้งได้ดีกว่าต้นกล้าที่ไม่มีราไมคอร์ไรซา เมื่อยางนาอายุ 2 ปี จะเริ่มเกิดเห็ดระโงกในเวลาฝนตกชุก ในช่วงต้นฤดูฝน เพราะรากยางนาเจริญแผ่กว้างขึ้น สามารถเก็บเห็ดได้ต่อเนื่องทุกปี
แนะวิธีสังเกต “ระโงกพิษ”
เห็ดระโงกที่บริโภคได้กับเห็ดระโงกที่เป็นพิษ คือ “ เห็ดระงาก” หรือ “ เห็ดระโงกหิน” จัดอยู่ในสกุลเดียวกันคือสกุล Amanita จึงมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก และมักสับสนในการจำแนก เนื่องจากเห็ดสกุลนี้ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน(ดอกเห็ดตูม)จะมีลักษณะเหมือนกันหมด หลายคนจึงเผลอเก็บเห็ดระงากไปทำอาหาร (เห็ดพิษมีสารที่ทนต่อความร้อน ) ทำให้ผู้บริโภคเห็ดพิษมีโอกาสเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์แนะนำให้เกษตรแยก “ระโงกพิษ” ออกจากเห็ดระโงกขาว โดยสังเกตจุดที่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรง
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมโครงการเพาะเห็ดระโงก สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานพัฒนาด้านป่าไม้ ได้ที่ www.rdpb.go.th หรือ 02-447-8500-6
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 15 ก.ย. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.