“การปรับตัวของชาวนาภาคกลางมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีเงินหมุนเวียนในครอบครัวน้อย มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อเกิดเหตุเดือดร้อนฉุกเฉินในครอบครัว ก็อาจถูกผลักดันให้ไปเป็นหนี้นอกระบบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ กลายเป็นปัญหาที่ทับซ้อนขึ้นมาได้”
มูลนิธิชีวิตไท ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชาวนา “ฉากหลังชีวิตชาวนา ..ภาระหนี้สินและผืนดินที่กำลังหายไป ชาวนา ชีวิตปริ่มน้ำ” ,‘หนี้นอกระบบเกษตรกร ฟางเส้นสุดท้าย สู่การสูญเสียที่ดิน’ เป็นตัวอย่าง ล่าสุดคือ การปรับตัวของชาวนาไทย
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการ ในฐานะบรรณาธิการ ผู้คร่ำหวอด เรียงความเป็นมาของงานวิจัยชิ้นใหม่ของเขาและคณะในบรรทัดถัดไป
ชาวนาไทยจะอยู่ต่อไปอย่างไร ท่ามกลางวิกฤตมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งต้นทุนทำนาสูง ค่าเช่านาเพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ไม่เคยเป็นใจ ไม่ว่าชาวนาจะได้ผลผลิตข้าวมากหรือน้อยแค่ไหน ฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม แต่ราคาข้าวก็มักจะวนเวียนกลับมาอยู่ที่เดิม ที่เกวียนละห้าพันบาทถึงเจ็ดพันบาทเท่านั้น
ยิ่งในระยะหลังที่สต็อกข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมทั้งสต็อกข้าวในระดับโลกก็สูงขึ้นกว่าในอดีตมาก เพราะแต่ละประเทศต่างก็เพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง นั่นชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตข้างหน้า โอกาสที่ราคาข้าวในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นไปได้ยากเต็มที
ภาระที่ชาวนาไทยแบกไว้อย่างหนักอึ้ง และไม่มีใครมาช่วยปลดแอกอย่างที่ชาวนาคาดหวังไว้ก็คือภาระหนี้สิน ที่อดีตเคยหลงทางไปกับการลงทุนทำนาด้วยเงินจำนวนมหาศาลเพื่อหวังกอบกู้ฐานะชาวนา มารู้ตัวอีกทีชาวนาส่วนใหญ่ก็เจอกับหมายศาลเพื่อให้นำเงินไปชำระหนี้ ไม่เช่นนั้น ทางเลือกที่พวกเขามีอยู่คือ การยอมขายทอดตลาดที่นาของตนเองที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หากไม่ยอม อาจจะต้องถึงกับติดคุก หรือถูกฟ้องให้กลายเป็นชาวนาผู้ล้มละลาย
เราจึงพบชาวนาไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวนาภาคกลาง อยู่ในสภาพชาวนาเช่า ต้องทำนาบนที่ดินของคนอื่น เพราะตนเองไม่มีที่ดินเหลืออยู่ หรือมีอยู่น้อยเต็มที เพียงครอบครัวละสองถึงห้าไร่เท่านั้น
ทางเลือกของชาวนาไทยในยุคสมัยปัจจุบัน ควรจะเป็นอย่างไร พวกเขายังมีทางเลือกเหลืออยู่ จริงหรือไม่
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำถาม ที่ทำให้เกิดงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทเรื่อง “กระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร เพื่อสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและหนี้สิน” โดยมีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อถอดบทเรียนปัจจัยเงื่อนไขของกลุ่มชาวนาในการปรับตัวไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านที่ดินและหนี้สิน รวมทั้งการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชาวนาเพื่อสร้างนวัตกรรมทางเลือกในการปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้ ดำเนินการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2560 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ในพื้นที่ภาคกลาง ที่ตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งชาวนามีที่ดินทำกินเหลืออยู่น้อย และมีภาระหนี้สินที่ค่อนข้างหนัก งานวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งมูลนิธิชีวิตไท กลุ่มส่งแสริมการเกษตรครบวงจร จังหวัดชัยนาท และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประขาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อค้นพบที่สำคัญคือ การปรับตัวของชาวนาภาคกลางมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากอยู่ในสภาพที่ติดลบ มีหนี้สินมาก ไม่มีเงินออม มีเงินหมุนเวียนในครอบครัวน้อย มีสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางไม่มั่นคง ทำให้มีความกลัว และไม่กล้าเสี่ยงกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อเกิดเหตุเดือดร้อนฉุกเฉินในครอบครัว ก็อาจถูกผลักดันให้ไปเป็นหนี้นอกระบบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ กลายเป็นปัญหาที่ทับซ้อนขึ้นมาได้
การที่ชาวนาภาคกลางจะปรับตัวเพื่อยกระดับไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง หมายถึงความพยายามในการปรับเปลี่ยนไปสู่อาชีพการเกษตรที่มั่นคงกว่าเดิม หรือให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งในฝั่งของตัวชาวนาเอง และฝั่งของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเพื่อให้ชาวนามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจัยเกื้อหนุนเหล่านี้ประกอบด้วยต้นทุนที่สำคัญ 5 ประการ
ประการแรกคือทุนทางความคิด หรือการสรุปบทเรียนและประสบการณ์ชีวิตที่มองให้เห็นถึงความล้มเหลวของการทำการผลิตหรือการทำนาที่ผ่านมา ทั้งการทำนาในพื้นที่ขนาดใหญ่เกินกำลังครอบครัว การเช่าที่นาจำนวนมาก และการทำนาอาบสารเคมีด้วยต้นทุนที่สูง ด้วยเหตุที่คาดหวังเพียงผลผลิตข้าวจำนวนมากและเงินก้อนใหญ่เพื่อล้างหนี้ แต่มักจบลงด้วยความล้มเหลว
ประการที่สองคือทุนทางความรู้ เมื่อชาวนามีบทเรียนความล้มเหลวจากการทำนาเคมีที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง พวกเขาต้องการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการผลิต โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการทำนาแบบอินทรีย์ หรือการทำเกษตรอินทรีย์ ที่รวมถึงการทำนา การผลิตผัก ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่พึ่งพิงอาศัยธรรมชาติและใช้ต้นทุนต่ำ พบว่าชาวนาภาคกลางจำนวนมากไม่มีองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และไม่มีความมั่นใจหากต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การทำนาแบบอินทรีย์และต้นทุนต่ำ พวกเขาไม่มั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถทำได้ หากต้องเผชิญกับโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างรุนแรง ความไม่มั่นใจเหล่านี้ ต้องการการหนุนเสริมด้วยโอกาสในการศึกษาดูงาน และฝึกอบรมด้านเทคนิคการเพาะปลูกแบบอินทรีย์
ประการที่สาม คือทุนทางสังคม เป็นเรื่องที่ยาก หากชาวนาทั่วไปต้องการจะปรับไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนแต่พวกเขาไม่มีกลุ่มองค์กร หรือเครือข่ายทางสังคมที่คอยหนุนเสริม ให้กำลังใจ และแลกเปลี่ยนความรู้ พบว่ากลุ่มชาวนาที่ต้องการปรับตัวไปสู่การผลิตแบบใหม่ ต้องการการหนุนเสริมและสร้างเครือข่ายในหลายด้าน เช่น เครือข่ายด้านการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชผักอินทรีย์คุณภาพดี เครือข่ายหนุนเสริมความรู้หากประสบปัญหาจากการปรับเปลี่ยนไปสู่อินทรีย์ที่สำคัญมากคือ เครือข่ายเกษตรกรที่รวมกลุ่มและแบ่งปันการใช้ประโยชน์ที่ดินกันเพื่อให้กับเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยหรือไม่มีที่ดินเลยได้ทำการผลิตด้วย รวมไปถึงเครือข่ายที่หนุนเสริมด้านตลาดอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนของเกษตรกร หากไม่มีเครือข่ายด้านตลาดอินทรีย์ พบว่าชาวนาจำนวนหนึ่ง ไม่กล้าพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากการลงทุนปรับเปลี่ยน เนื่องจากไม่มีความมั่นใจว่าจะนำผลผลิตไปขายที่ไหน ด้วยราคาที่คุ้มทุนหรือไม่
ประการที่สี่ คือ เงินทุนที่ยั่งยืน หรือกองทุนเพื่อการปรับตัวของชาวนาที่มีความยั่งยืน อันหมายรวมถึงกองทุนที่ระดมเงินออมของกลุ่มชาวนาเอง เพื่อหมุนเวียนช่วยเหลือกันในอนาคต และกองทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตในระยะแรกของชาวนา ซึ่งควรเป็นกองทุนที่มีเป้าหมายช่วยเหลือด้านสังคมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีระยะเวลาใช้คืนที่นานเพียงพออย่างน้อย 5 ปี พบว่าการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอินทรีย์ ชาวนาที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านหนี้สิน มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องการการหนุนเสริมเงินทุนในระยะเริ่มต้น
ประการที่ห้า คือ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ หมายรวมถึง ทรัพยากรที่ดิน แหล่งน้ำในการผลิต ป่าและระบบนิเวศที่รักษาความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ เมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชผัก พบว่าชาวนาในภาคกลาง ที่ผ่านมาได้สูญเสียทุนทางทรัพยากรธรรมชาติไปมาก ทั้งการขาดแคลนที่ดิน การหวังพึ่งแหล่งน้ำจากชลประทานซึ่งไม่ประสบผล การเสื่อมโทรมของคุณภาพดินจากการใช้สารเคมีเข้มข้น การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชพื้นถิ่น ทุนทางทรัพยากรเหล่านี้ คือสิ่งที่ชาวนาภาคกลางต้องทำงานฟื้นฟูและรักษาเพื่อให้กลับคืนมามีสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอินทรีย์ ชาวนาต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ระบบการผลิตมีความมั่นคงและยั่งยืนนั่นเอง
ข้อค้นพบทั้งหมดของงานศึกษานี้ สะท้อนให้เห็นว่าการปรับตัวของชาวนาไปสู่ระบบการผลิตแบบใหม่หรือระบบอินทรีย์ที่มั่นคงกว่าเดิม ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งทั้งจากตัวชาวนาและเกษตรกรเอง รวมทั้งการหนุนเสริมที่จริงจังจากหน่วยงานภายนอก ทั้งภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐ ที่ควรปรับเปลี่ยนจากนโยบายที่หวังผลระยะสั้น แต่เก็บเกี่ยวผลในระยะยาวไม่ได้ เช่น การช่วยเหลือเงินด้านต้นทุนการเพาะปลูก การส่งเสริมให้ปลูกพืชไร่และเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจแทนการปลูกข้าว หรือการพยุงราคาข้าวตามฤดูกาล ซึ่งใช้งบประมาณของรัฐจำนวนมากในแต่ละปี แต่ยังขาดมิติที่สำคัญคือการหนุนเสริมศักยภาพในการปรับตัวของชาวนาไปสู่ระบบการผลิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ที่ผ่านมา นโยบายและมาตรการของภาครัฐยังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ของเกษตรกร ที่แม้แก้ไขไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ต้องกลับมาแก้ไขปัญหาซ้ำเดิมอีก
งานศึกษาชิ้นนี้ได้บ่งบอกว่า หากภาครัฐต้องการทำงานเพื่อหนุนเสริมกระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร เพื่อให้มีพลวัตไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ที่สะสมมายาวนาน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องมีวิสัยทัศน์ที่มากไปกว่านโยบายระยะสั้น และเห็นคุณค่าของการลงทุนทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นทุนด้านความรู้ ทุนด้านความคิด ด้านครือข่าย ด้านเงินทุนที่มีความยั่งยืนและการจัดสรรที่ดินเพื่อให้โอกาสทำกินกับเกษตรกร เพราะการลงทุนด้านสังคมทั้งหมดนี้ ในท้ายที่สุดแล้ว จะสร้างโอกาสและเสริมศักยภาพเพื่อให้การปรับตัวของชาวนาและเกษตรกรไทย.. เป็นไปได้บนเส้นทางที่ยั่งยืน
ทั้งหมดคือข้อสรุปและข้อเสนอแนะจากพงษ์ทิพย์ และคณะ
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 26 ส.ค. 2561
ผู้เขียน : พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.