การขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรและคนจนในชนบทเป็นปัญหาเรื้อรังและสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน ข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนคนจนทั่วประเทศของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ(ศตจ.) ในปี 2547 พบว่า มีคนจนและเกษตรกรรายย่อยจากทั่วประเทศมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือด้านที่ดินทั้งหมดประมาณ 4,800,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรและคนจนไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย และมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 811,279 ราย
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่การแก้ไขปัญหาด้านที่ดินในสังคมไทยไม่อาจสำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการกระจุกตัวของที่ดิน มีคนรวยไม่กี่คนถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและคนจนซึ่งมีความต้องการที่ดินเพื่อการยังชีพ) กลับไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่มีสิทธิเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ดังนั้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองปัจจุบัน การคิดค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากรูปธรรมตัวอย่างเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรและคนจนไร้ที่ดิน อาจเป็นทางออกที่สามารถเป็นไปได้ โดยรูปธรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แนวทางการส่งเสริมศักยภาพ การมีส่วนร่วมของชุมชนและคนจนไร้ที่ดินในชนบทให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากจากป่าชุมชนเพื่อการยังชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ยศ สันตสมบัติ(2548) ได้ประมวลไว้ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเก็บหาอาหารเป็นกิจกรรมที่ สำคัญอันดับแรก และเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นระบบเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ ลักษณะสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีขนาดเล็กที่ปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติแม้ในธรรมชาติที่ดูแร้นแค้น ผู้คนอยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจาย ออกหาอาหาร ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีการผลิต ในทางสังคมไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น อาศัยเรื่องเพศเป็นเกณฑ์แบ่งงานกันทำ สังคมแบบนี้หากมองจากภายนอกจะขัดแย้งกับกรอบคิดเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารและความยากจน” เพราะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ เทคโนโลยีอยู่ในขั้นต่ำ ไม่มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสั่งสมมูลค่าส่วนเกินได้ แต่งานศึกษาทางมานุษยวิทยากลับพบว่า ด้วยวัฒนธรรมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ดี หลายสังคมสามารถทำมาหากินอย่างง่ายดายและเพียงพอต่อความต้องการ หากเรียนรู้ที่จะพัฒนารูปแบบการผลิตและจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนฐานระบบนิเวศให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ป่าชุมชนบ้านชัยคลี กับการพึ่งพิงป่าของคนไร้ที่ดินทำกิน
ชุมชนบ้านชัยคลี ตำบลหนองแก้ว อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นตัวอย่างชุมชนที่มีการพึ่งพิงทรัพยากรอาหารจากป่า เริ่มต้นจากกระบวนการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของคนจนไร้ที่ดิน ลุกขึ้นมาดูแลรักษา ปกป้อง และบริหารจัดการทรัพยากรป่าชุมชนให้ตอบสนองปัญหา ความต้องการ ผลประโยชน์ของชุมชนและเกิดความยั่งยืน
ป่าชุมชนบ้านชัยคลี เป็นป่ารอยต่อเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีเนื้อที่ทั้งหมด 281 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนในปี 2553 มีทรัพยากรพืชอาหารจากป่าที่ชุมชนเข้าไปเก็บหาที่สำคัญ ได้แก่ เห็ด ผักแต้ว ผักหวานป่า ผักชะมวง หน่อหวาย ไข่มดแดง ผลไม้ป่า มันเทียน เป็นต้น ปัจจุบันมีทั้งคนในชุมชนและชุมชนรอบนอกเข้ามาใช้ประโยชน์เก็บหาของป่าเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนมากกว่า 100 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน ในจำนวนนี้ประมาณ 10 ครัวเรือน เป็นกลุ่มคนไร้ที่ดินทำกินในชุมชน ที่พึ่งพิงและเก็บหาของป่าอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักจำนวนหลายหมื่นบาทต่อปีต่อครัวเรือน
นิวัตร กงแก้ว หรือพี่ตุ่น หนึ่งในคนจนไร้ที่ดินบ้านชัยคลี ซึ่งดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงทรัพยากรอาหารจากป่าชุมชน ทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อขาย มีรายได้เฉลี่ยประมาณวันละ 300-500 บาท ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ปีที่ผ่านมาเคยมีรายได้สูงสุดถึงวันละ 2,000 บาท จากการขายเห็ดโคนที่ขึ้นอย่างชุกชุมช่วงฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม-กันยายนของทุกปี ประมาณการณ์ว่ารอบหนึ่งปีพี่ตุ่นมีรายได้ทั้งจากการเก็บหาของป่าด้วยตนเอง และเป็นผู้รวบรวมผลผลิตอาหารจากป่ามาขายต่อ เฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อปี
เมนูเด็ดอาหารจากป่าชุมชน
ฝนพรำยามนี้เห็ดป่ามากมายกำลังขึ้นให้ชาวบ้านชัยคลี ได้เก็บกินและเก็บขาย จากป่าชุมชนของพวกเขา เห็ดน้ำหมาก เห็ดโคน เป็นหนึ่งในบรรดาเห็ดขึ้นชื่อของที่นี่ เห็ดทั้งสองชนิดนี้ จะเกิดในเขตป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง มักเกิดเป็นดอกเดี่ยว บนพื้นดินร่วนปนทราย แต่จะอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 2-5 ดอก ราคาซื้อขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200 บาท
เมนูอร่อยจากเห็ด ได้แก่ น้ำพริกเห็ด โดยการนำเห็ดมาย่างให้หอมแล้วน้ำไปตำกับพริก เป็นน้ำพริกเห็ด หากจะย่างจิ้มน้ำจิ้ม หรือทำต้มยำเห็ดก็อร่อย
นอกจากนี้ในป่าชุมชนบ้านชัยคลี ตามรายทางที่ทีมงานเดินสำรวจรายทาง พบพืชเถาวัลย์พันกิ่งไม้เป็นระยะๆ คือต้น "มันเทียน" เริ่มออกหัวช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี
เมนูอร่อยจากมันเทียน คือ หัวนำมาต้มให้สุก รสชาติหวานมันเหนียวหนึบ ชิ้นกำลังพอเหมาะพอกิน หรือนำไปทำของหวานก็ได้ ปัจจุบันหามันเทียนกินยากมาก ใครอยากกินแวะไปทานได้ช่วงปลายฤดูฝน
ความยั่งยืนของป่าคือความอยู่รอดของชุมชนและคนจนไร้ที่ดิน
ป่าชุมชน เป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นทางเลือกการจัดการระบบนิเวศป่าไม้โดยมีชุมชนเป็นฐาน หรือเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน นอกจากนั้น ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ นักวิชาการด้านวนศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวว่า ป่าชุมชนเป็นกิจกรรมของคนชนบทในการจัดการทรัพยากรต้นไม้และป่าไม้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวและชุมชน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูก จัดการป้องกัน และเก็บหาผลประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืน
น่าเสียดายว่า หลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ป่าชุมชนบ้านชัยคลีซึ่งเป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะคนจนไร้ที่ดิน เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงกระตุ้นให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของป่าเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการใช้ประโยชน์เก็บหาของป่าอย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งขยะในเขตป่า ไม่เก็บขูดสปอร์เห็ด ไม่บุกรุกจับจองพื้นที่เขตป่าเป็นของส่วนตัว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้สามารถที่จะดํารงอยู่ได้เช่นเดียวกับชุมชนในระยะยาว โดยที่ป่าไม้ได้รับการดูแลจากชุมชนและชุมชนได้รับผลประโยชน์จากป่าไม้เป็นการตอบแทน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 สิงหาคม 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.