จากการตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดทำโครงการ “การพัฒนานักวิจัยและระบบสนับสนุนนักวิจัยเพื่อชุมชนและสังคม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็น “นักวิชาการรับใช้สังคม” ที่สามารถผลิตผลงานวิจัยเพื่อสังคมอันนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชุมชน สังคม และประเทศได้อย่างยั่งยืน
โครงการนำร่องเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2560 โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อารี วิบูลย์พงศ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานชุดโครงการฯ ภายใต้ชื่อการจัดสรรทุนสนับสนุนนักวิจัยโครงการ “ทุนพัฒนานักวิจัยสู่ตำแหน่งวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม” ที่มุ่งเน้น “เศรษฐกิจชุมชน” เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน มีรูปแบบการรับทุน 3 ประเภท คือ ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง และทุนพัฒนาการเขียนบทความวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากอาจารย์ นักวิจัย และนักวิชาการทั่วประเทศ โดยตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการมีการจัดกระบวนการอบรม และประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องต่างๆ อาทิ การฝึกตั้งโจทย์วิจัย การเขียนรายงานวิจัย การผลิตผลงานหรือบทความสู่ตำแหน่งวิชาการ นอกจากนั้นยังมีการให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยที่ได้รับทุน เพื่อให้นักวิจัยเหล่านี้สามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าอบรมไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยของตนเองให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง
วิชาการผสานภูมิปัญญา สู่เศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง
ดร.ศิรดา นวลประดิษฐ์อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา หนึ่งในนักวิชาการผู้ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และได้รับคัดเลือกเข้าโครงการจากงานวิจัยในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพโดยใช้เทคนิคบัญชีบริหารและระบบบัญชีต้นทุนของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวสังข์หยดพัทลุง บ้านเขากลาง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง” กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้ของตนเป็นการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่หรือชุมชนเป็นครั้งแรก เนื่องจากในอดีตการทำวิจัยส่วนใหญ่ของตนนั้นจะเป็นเพียงแค่การทำงานเชิงเอกสารไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ชุมชนมากนัก ประกอบกับได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีจุดหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็น “นักวิชาการรับใช้สังคม” ทำให้ตนหันมาให้ความสนใจกับพื้นที่ชนบทไทย คือ จังหวัดพัทลุงซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของภาคใต้ ที่มี “ข้าวสังข์หยด” เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองและปลูกได้แค่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น โดยปัจจุบันข้าวสังข์หยดเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมาก เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวหายาก และมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทำให้มีความต้องการทางการตลาดสูง การจัดจำหน่ายและส่งออกข้าวสังข์หยดจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเมื่อได้เข้าไปศึกษากลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปข้าวสังข์หยดที่จัดตั้งในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดพัทลุง พบว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ ยังขาดการได้รับความรู้และการสนับสนุนในเรื่องการนำหลักบัญชีบริหารซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบมาใช้กับการจัดทำการบัญชีบริหาร และการจัดจำหน่าย เพื่อให้การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้
ดร.ศิรดา กล่าวต่อว่า จากการเข้าไปศึกษาจึงได้ทราบถึงปัญหาของการดำเนินการและบริหารจัดการที่มีระบบต้นทุนแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการคิดค้นต้นทุนการผลิตของสินค้าในปัจจุบันที่มีความต้องการและการแข่งขันสูง เนื่องจากกลุ่มวิสาหกิจฯ ไม่ได้มีการคิดบัญชีต้นทุนการผลิตข้าวหรือลงบัญชีอย่างเป็นระบบและไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจฯ ดำเนินการจัดจำหน่ายขาดทุนมาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการนำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมไปประยุกต์ใช้ในวิสาหกิจชุมชนข้าวสังข์หยดบ้านเขากลาง เพื่อศึกษาสภาพปัญหา และร่วมกันออกแบบหรือพัฒนาระบบบัญชีบริหาร ระบบบัญชีต้นทุนและระบบบริหารจัดการวิสาหกิจสำหรับการวางแผนและตัดสินใจ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน
สิ่งนี้ทำให้ตนได้นำความรู้เรื่องระบบบัญชีบริหารมาใช้กับการบูรณาการศาสตร์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยวางแผนโครงสร้างระบบบัญชีของวิสาหกิจชุมชนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ให้สามารถมีระบบบัญชีต้นทุนและเทคนิคการคิดต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเพื่อให้การดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนมีประสิทธิภาพและสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งนี่คือหลักการที่สำคัญของการเชื่อมแนวคิด ทฤษฎีทางวิชาการมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีองค์ความรู้และสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลางอย่างยั่งยืน
“ตนได้นำเอาความรู้ทางด้านบัญชีและการเงินที่ตัวเองถนัด เข้าไปศึกษาต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคนิคบัญชีบริหาร เพื่อวางแผนการผลิตและการขายข้าวสังข์หยดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง เพราะการนำระบบบัญชีเข้าไปปรับใช้กับการคิดต้นทุนให้กับชุมชน จะทำให้กลุ่มวิสาหกิจมีระบบบัญชีที่ดีช่วยให้รู้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงและสามารถตั้งราคาขายได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่จะนำไปสู่การสร้างให้เกิดวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งได้”
บูรณาการข้ามศาสตร์ ต่อยอดแนวคิด เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน
นางสาวอัจฉรา พิเลิศ อาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศรีสงคราม มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม หนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับทุนพัฒนาการเขียนบทความวิจัยเชิงพื้นที่ เรื่อง “รูปแบบการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการใช้น้ำในชุมชนบ้านแก้ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม” กล่าวว่า ที่มาของการทำโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ในเรื่องนี้มาจากการที่ตนมีความสนใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัยและพื้นที่ในจังหวัด ซึ่งพบว่าชุมชนบ้านแก้งซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดนครพนมประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากวิถีชีวิตการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยในอดีตมีประชากรไม่มากทำให้การใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภคยังเพียงพอกับความต้องการ แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมากขึ้นทำให้ระบบน้ำประปาหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อความต้องการ ชาวบ้านจึงประสบกับปัญหาเรื่องความขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตร นี่จึงเป็นที่มาของการนำเสนอโครงการวิจัยนี้
นางสาวอัจฉรา กล่าวต่อว่า งานวิจัย “รูปแบบการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการใช้น้ำในชุมชนบ้านแก้ง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม” ศึกษาบริบทชุมชนของบ้านแก้ง การใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค การเกษตร การปรับตัว แก้ปัญหาเรื่องน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการศึกษารูปแบบในการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิต โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแก้ง ดังนั้นการที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตนได้นำเรื่องกระบวนการทำงานเชิงพื้นที่มาปรับใช้ในการดำเนินงานวิจัยที่เน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่การค้นหาปัญหาของชุมชนและพัฒนาโครงการวิจัย และร่วมกันวางแผนการทำงาน ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ ตลอดจนการบริหารจัดการโครงการวิจัย ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงความเป็นเจ้าของชุมชนมากขึ้น ได้แสดงความรู้ความสามารถที่มีอยู่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเองให้เกิดความยั่งยืน
“นอกจากจะได้ใช้องค์ความรู้ของตนเองในการทำงานวิจัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ว สิ่งสำคัญที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ยังเป็นการเรียนรู้วิธีคิดและพัฒนาการเขียนบทความวิจัยในเรื่องกรอบแนวคิดของโครงการวิจัยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมเรารู้แต่แนวคิดทฤษฎี ทำให้ขาดประเด็นสำคัญและรายละเอียดต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน เช่น เรื่องปริมาณน้ำในแต่ละฤดู คุณภาพน้ำ สี กลิ่น แต่ความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ ทำให้ตนได้หลุดออกจากกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ และแตกกรอบแนวคิดหรือต่อยอดในเรื่องการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและจัดการน้ำของชุมชนให้สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม”
นางสาวอัจฉรา กล่าวปิดท้ายว่า ผลจากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ความจริงแล้วพื้นที่บ้านเก้งไม่ได้ขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ หรือไม่มีความรู้เรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำภายในชุมชน จึงนำมาสู่การสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และรูปแบบในการกักเก็บน้ำหรือเพิ่มปริมาณน้ำ ผ่านการร่วมมือกันของคนในชุมชน เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ หรือการสร้างระบบประปาของหมู่บ้านให้สามารถมีน้ำใช้งานอุปโภค บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การทำวิจัยเชิงชุมชนทำให้ตนได้เรียนรู้การผสมผสานความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการทำงานที่แตกต่างจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ทำงานแต่ในห้องแล็บเพียงอย่างเดียว เพราะการวิจัยชุมชนมีตัวแปรที่หลากหลายและไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านคนที่มีหลากหลายความคิด ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญทำของการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะเลือกการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพบริบท เพื่อที่ผลงานวิจัยของเรานั้นจะสามารถสร้างคุณค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้อย่างแท้จริง”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ก.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.