ภาพประกอบโดย อิศเรศ เทวาหุดี | ดัดแปลงจากแหล่งภาพประกอบ:Wikipedia(Public Domain)CEphoto/Uwe Aranasและ Crisco 1492(CC BY-SA 3.0)
GRAIN
เผยแพร่ครั้งแรกใน How RCEP affects food and farmers, 19-6-2018
ข้อห่วงกังวลเรื่องความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ไทยร่วมเจรจาพร้อมกับ 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยของภูมิภาค 420 ล้านคน ทั้งในเรื่องการกว้านซื้อและเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่ เมล็ดพันธุ์ในมือบรรษัท ความไม่มั่นคงของเกษตรกรรายย่อยและธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งการใช้สารเคมีในไร่นาจะพุ่งสูงขึ้น
ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เป็นข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาของ 16 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือประเทศอาเซียนกับอีกหกประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หากความตกลง RCEP ได้รับการเห็นชอบ จะมีผลต่อประชาชนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมด รวมทั้งเกษตรกรรมรายย่อย 420 ล้านคนซึ่งผลิตอาหารคิดเป็นร้อยละ 80 ในภูมิภาค ความตกลง RCEP จะส่งผลให้บรรษัทด้านอาหารและการเกษตรมีอำนาจมากขึ้นในนามของการส่งเสริมการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ประเทศร่วมเจรจา RCEP หลายแห่งยังเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership Agreements - TPP) ซึ่งเป็นความตกลงระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน แม้ว่าชะตากรรมของความตกลง TPP จะยังไม่แน่นอน แต่ทั้ง TPP และ RCEP อาจหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีแรงกดดันที่จะบีบให้ความตกลงทั้งสองมีเงื่อนไขให้สอดคล้องกันในหลายข้อ สรุปแล้ว RCEP จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในภูมิภาคหลายด้าน โดยการเจรจารอบที่ 24 กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP ส่วนใหญ่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเช่าซื้อ ได้รับใบอนุญาตหรือสัมปทาน และมีข้อจำกัดในรูปแบบที่แตกต่างกัน ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากบรรษัทและกองทุนเพื่อการลงทุน ต่างพยายามอย่างยิ่งที่จะกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไว้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในบรรดาประเทศภายใต้ความตกลง RCEP
นับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา มีการกว้านซื้อที่ดินโดยบรรษัทต่างชาติเพื่อทำการเกษตรคิดเป็น 60 ล้านไร่ การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินลักษณะนี้ส่งผลให้บรรษัทขนาดใหญ่มีอำนาจควบคุมในสิทธิในการใช้ประโยชน์ ทั้งยังทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมาก นำไปสู่การเก็งกำไร และส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยต้องถูกผลักดันออกจากที่ดิน
มีสองหมวดของเนื้อหาความตกลง RCEP ที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากในการเข้าถึงที่ดิน จากข้อมูลในร่างความตกลงที่รั่วไหลออกมา ในหมวดการลงทุน มีการเสนอให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ความตกลง RCEP เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ (‘national treatment’) ซึ่งหมายถึงว่านักลงทุนจากต่างชาติเหล่านี้ ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เว้นแต่รัฐบาลประกาศใช้ข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะ เนื้อหาตามร่างในหมวดนี้ยังกำหนดให้มีวลี ‘standstill’ และ ‘ratchet’ ซึ่งหากมีการรับรองจะส่งผลให้รัฐบาลต้องรักษาระดับการเปิดเสรีที่เป็นอยู่เอาไว้ หากในปัจจุบันมีการเปิดเสรีมากกว่าที่แสดงเจตจำนงไว้ตามความตกลง RCEP แล้ว รัฐบาลสามารถควบคุมกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับความตกลง RCEP ได้
ส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับภาคบริการ มีการเสนอให้ผู้ให้บริการจากต่างชาติต้องได้รับประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าบริษัทในประเทศ (‘national treatment’) รวมทั้งการเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อด้านงานบริการ ทั้งนี้ ประเทศต่าง ๆ อาจสามารถระบุข้อยกเว้นในด้านที่ดินภาคเกษตรได้ แต่จำเป็นต้องผ่านการเจรจาและได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเสียก่อน
หากรัฐบาลไม่ประกาศข้อสงวนต่อข้อกำหนดด้านที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ความตกลง RCEP จะเอื้อให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินอย่างกว้างขวางในภูมิภาค และทำลายนโยบายการปฏิรูปที่ดินและการเกษตรที่เกิดขึ้นอยู่ในบางประเทศ ในปัจจุบัน เกษตรกรที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินต่างตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดี การจับกุมและคุมขัง และอาจถูกสังหาร ด้วยเหตุนี้ การเห็นชอบในความตกลง RCEP อาจส่งผลให้มีการใช้ความรุนแรงทั้งจากรัฐและเอกชนมากยิ่งขึ้นในหลายพื้นที่
ปรกติเกษตรกรมักเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จากการเก็บเกี่ยวเพื่อใช้ในการเพาะปลูกรอบใหม่ แต่บริษัทเมล็ดพันธุ์และเคมีพันธุ์การเกษตรขนาดใหญ่อย่าง Monsanto และ Bayer ไม่ต้องการเช่นนั้นเพราะต้องการให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่เรื่อยๆ สำหรับรอบการเพาะปลูกแต่ละครั้ง เนื่องจากบริษัทจะได้ขายเมล็ดพันธุ์ได้มากขึ้น โดยบริษัทสามารถค้ากำไรลักษณะนี้ด้วยการล็อบบี้รัฐบาลให้ขยายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมชนิดพันธุ์พืชและสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของโลกในปัจจุบันอยู่ในกำมือของบรรษัทขนาดใหญ่สามแห่ง คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 60% ของการค้าเมล็ดพันธุ์ของโลก โดยบริษัท ChemChina ของจีน กำลังเจรจาควบซื้อบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ จะเห็นว่าจีนนั้นก็เล็งเห็นถึงผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากข้อกำหนดด้านเมล็ดพันธุ์ตามความตกลง RCEP เช่นเดียวกัน
ข้อมูลในร่างความตกลง RCEP ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญาที่รั่วไหลออกมา ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่าง ๆ อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พยายามผลักดันให้ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP ยอมเห็นชอบต่อ “อนุสัญญา UPOV 1991” ซึ่งเป็นระบบสิทธิบัตรของเมล็ดพันธุ์อย่างหนึ่ง โดยภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 เกษตรกรจะถูกห้ามไม่ให้เก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิบัตรไว้เพาะปลูกต่อ โดยอาจมีข้อยกเว้นบ้างแต่เข้มงวดมาก ภายใต้ข้อกำหนดนี้ เกษตรกรต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์เมื่อต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ตนเองเก็บไว้เพาะปลูก โดยเฉลี่ยแล้วค่าลิขสิทธิ์คิดเป็นสัดส่วนราว 10-40% ของราคาเมล็ดพันธุ์ในท้องตลาด และมีราคาแพงกว่าเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บรักษาในชุมชน ภาคประชาสังคมที่ตามเรื่องนี้อยู่วิเคราะห์ว่าอนุสัญญา UPOV 1991 จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 200-600 ในประเทศไทย และเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 400 ในฟิลิปปินส์
ยังเป็นไปได้อีกว่าจะมีการหนุนให้ความตกลง RCEP มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ TPP โดยความตกลง TPP กำหนดให้รัฐต้องอนุญาตให้มีสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมที่ “พัฒนามาจากพืช” (“derived from plants”) ซึ่งก็หมายถึง สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) นั่นเอง ในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมนั้นผิดกฎหมายในประเทศสมาชิก RCEP ยกเว้นออสเตรเลีย อินเดีย พม่า และฟิลิปปินส์ รวมทั้งในหลายมณฑลของประเทศจีนและเวียดนาม แม้มีแนวโน้มว่าความตกลง RCEP จะมีหมวดให้ปรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหาร แต่เรายังไม่เห็นหน้าตาของร่างดังกล่าว และไม่ชัดว่าจะมีการกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมหรือไม่ นโยบายเหล่านี้ไม่เพียงจะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์สูงขึ้นแต่อาจนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ อำนาจของบรรษัทข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น และการกำกับดูแลที่ลดลงสำหรับผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงสูงเช่นสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม
อินเดียมีเกษตรรายย่อยราว 100 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำปศุสัตว์ด้วย พวกเขานับเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมนมของอินเดีย แต่สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาต่ำลง ส่งผลให้เกษตรรายย่อยจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากลำบาก
ความตกลง RCEP จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยก่อนหน้านี้ เนื่องจากนิวซีแลนด์ไม่สามารถตกลงเจรจาทวิภาคีกับอินเดียได้สำเร็จ บริษัทผลิตสินค้านม Fonterra สัญชาตินิวเซีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงหวังใช้ RCEP เจาะตลาดสินค้านมในอินเดีย โดยได้ประกาศอย่างเปิดเผยว่า RCEP จะช่วยให้บริษัทเปิดตลาดใหญ่ ๆ ในประเทศอื่น ซึ่งในปัจจุบันตลาดในประเทศ RCEP หลายแห่งมีมาตรการปกป้องสินค้าในประเทศ รวมถึงตลาดของอินเดียด้วย โดยในอินเดีย Fonterra จะต้องเจอกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Amul ซึ่งเป็นสหกรณ์โคนมของอินเดีย นำมาสู่ข้อกังวลว่าเกษตรกรโคนมของอินเดียอาจต้องตกงาน หรือไม่ก็กลายเป็นลูกจ้างให้บริษัท Fonterra เพราะไม่สามารถแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ เกษตรกรโคนมในเวียดนามก็น่ากังวลเช่นเดียวกัน เพราะทาง Fonterra ก็ได้พยายามลงทุนเพื่อเข้าไปขยายกิจการในเวียดนาม
ในขณะเดียวกัน ประเทศภายใต้ความตกลง RCEP บางส่วน อย่างเช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ไม่เพียงทุ่มงบมหาศาลเพื่ออุดหนุนราคาพืชผลของตนเอง หากยังกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารที่ไม่สอดคล้องกับวิถีการผลิตอาหารและการแปรรูปอาหารของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศ RCEP อื่นๆ ผลกระทบที่ตามมาคืออาจมีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้านอาหารเพื่อส่งออกตลาดที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดีย และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทำให้มีการกีดกัน หรือถึงกับเข้ามาทดแทนเกษตรกรรายย่อยและธุรกิจแปรรูปอาหารระดับครอบครัว ซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ในชนบททั่วเอเชีย
คาดว่ายอดขายปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเอเชียแปซิฟิก โดยที่ผ่านมาได้เพิ่มมูลค่าการค้าจาก 1 แสนล้านเหรียญ เป็น 1.2 แสนล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2564 จีนจะเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรมากสุด ส่วนในอินเดียมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในขณะที่ประเทศทางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้นำเข้าสารเคมีทางการเกษตรมากขึ้น การที่จีนจะซื้อบริษัท Syngenta ซึ่งเป็นบริษัทสารเคมีทางการเกษตรใหญ่สุดของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดยาฆ่าแมลงในโลกกว่า 20% จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในความตกลง RCEP
รัฐบาลจีนคงเรียกร้องให้มีการเพิ่มระดับการเข้าถึงตลาดมากขึ้น โดยผ่านการเจรจาในหมวดการค้าสินค้าของ RCEP ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2560 จีนประกาศว่าจะยกเลิกการกำหนดพิกัดศุลกากรส่งออกสำหรับปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดนอกประเทศ เช่นเดียวกัน รัฐมนตรีการค้ากลุ่มประเทศ RCEP สัญญาจะลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือร้อยละ 0 สำหรับร้อยละ 65 ของการค้าสินค้า และจะลดภาษีในขั้นต่อมาสำหรับสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้รวมถึงสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรด้วย การใช้สารเคมีที่มากขึ้นนี้ย่อมทำให้สารตกค้างในอาหารและน้ำมากขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน
นอกจากนี้ หากรัฐบาลเห็นชอบตามร่างเนื้อหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความตกลง RCEP จะส่งผลให้เกิดการจดสิทธิบัตรวัตถุดิบอื่น ๆ มากขึ้น รวมทั้งเวชภัณฑ์สำหรับปศุสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร สินค้าที่ผลิตจากจุลินทรีย์ และสารเคมีทางการเกษตร การขยายอายุสิทธิบัตรจะทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาแพงขึ้น
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดของธุรกิจค้าปลีกด้านอาหารคิดเป็นกว่าครึ่งของโลก โดยญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านนี้ ผ่าน 7-Eleven และ Aeon โดย Aeon Agri Create ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ป้อนสินค้าเกษตรให้กับ Aeon ได้ก่อตั้งฟาร์มหลายแห่งในญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ Aeon ยังมีเป้าหมายผลักดันให้เกิด “ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะแบบไอซีที” (‘ICT farming’) ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการบริหารในแปลงเกษตร เมื่อเร็วๆ นี้ อินเดียได้เปิดให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจการค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ แม้ว่าในหลายรัฐยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้ามาเปิดร้านค้าปลีกประเภทที่จำหน่ายสินค้าหลายยี่ห้อ (multibrand retail) แต่ความตกลง RCEP จะยิ่งเร่งให้เกิดกระแสดังกล่าวรวดเร็วขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่น เช่น ร้านชำที่อยู่ในชุมชน
จากข้อมูลในร่างความตกลงที่รั่วไหลออกมา หมวดว่าด้วยภาคบริการของความตกลง RCEP จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถจำกัดหรือควบคุมเชนซุปเปอร์มาร์เก็ตจากประเทศ RCEP อื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลอาจไม่สามารถออกข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการอย่างเช่น Alibaba หรือ Aeon ต้องมีสำนักงานตัวแทนในประเทศ หรือต้องจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ
หากสถานการณ์ดำเนินไปแบบเดียวกับความตกลง TPP ความตกลง RCEP จะมุ่งสนับสนุนฟาร์มเกษตรอัจฉริยะขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปาทานและอีคอมเมิร์ชในภูมิภาค โดยเมื่อเร็วๆ นี้ อาลีบาบาของจีนเพิ่งลงทุนเป็นเงินจำนวน 1.25 พันล้านเหรียญเพื่อพัฒนาบริการส่งอาหารออนไลน์ ซึ่งการค้าปลีกจะเข้าไปผูกกับเทคโนโลยีมากขึ้น และเชื่อมโยงกับสินค้าท้องถิ่นและผลิตผลตามฤดูกาลน้อยลง พัฒนาการต่าง ๆ เหล่านี้นับเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อผู้ค้ารายย่อยและร้านค้าปลีกอื่น ๆ ในเอเชีย
ความตกลง RCEP จะทำให้บทบาทของภาคบรรษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีอำนาจควบคุมเหนือภาคอาหารและเกษตรของเอเชีย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในภูมิภาคอื่น ๆ การที่บรรษัทเข้ามามีบทบาทมากขึ้นจะทำให้เกิดทางเลือกที่แท้จริงน้อยลง และทำให้ราคาสำหรับผู้บริโภคแพงขึ้น ในอุตสาหกรรมอาหาร ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยาฆ่าแมลงและการใช้สารเคมี รวมทั้งยังส่งผลให้มีการกดค่าแรง และราคาพืชผลการเกษตรสำหรับเกษตรกร
คำตอบของภาคประชาชนไม่ได้อยู่ที่การปฏิรูป RCEP แต่เราจำเป็นต้องต่อต้านความตกลงลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่เอื้อให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มีอำนาจทางกฎหมายและเศรษฐกิจในการควบคุมเหนือภาคเกษตร ซึ่งไม่มีทางที่ภาคประชาชนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราจำเป็นต้องร่วมกันคิดและออกแบบนโยบายทางเลือกที่ส่งเสริมให้ระบบผลิตอาหารและการเกษตรมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ข้อตกลงการค้าควรมีจุดประสงค์เพื่อรับใช้ระบบที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภค มิใช่ระบบที่มีบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่พร้อมเอาเปรียบและคำกำไรจากประชาชน
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.