ความมุ่งมั่นผลิตข้าวออร์แกนิกอย่างจริงจังของพี่น้องสองสาวเกษตรกรรุ่นใหม่ ดร.เชษฐกานต์ และ ดร.ขวัญชนก เหล่าสุนทร เจ้าของ แมคนีน่าฟาร์ม จ.เชียงราย หลังจากลงทุนลงแรงมาพักใหญ่ ในที่สุดได้ผลลัพธ์ดั่งใจหวัง ...ได้ใบรับรอง USDA ตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนที่แล้ว เป็นยังสมาร์ทฟาร์เมอร์ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์กลุ่มแรกของไทยที่ได้ตรารับรองนี้ “เราทำข้าวออร์แกนิกมาแล้ว 6 ปี ผ่านเข้าสู่ปีที่ 7 ที่ผ่านมาเรามีแต่ใบรับรองออร์แกนิกไทย ตลาดพอไปได้ ขายต่างประเทศผ่านโลกโซเชียลได้บ้าง ส่งไปสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แต่ได้แค่ครั้งละ 10-20 กก. เพราะไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกที่มีกระบวนการขั้นตอนยุ่งยาก ประกอบกับเรานำข้าวออร์แกนิกไปโชว์ตามงานแสดงสินค้าตามที่ต่างๆ ลูกค้าต่างประเทศไม่ค่อยยอมรับตรารับรองออร์แกนิกไทยแลนด์ เราจึงตั้งเป้าจะทำให้ทั้งโลกยอมรับข้าวอินทรีย์ไทยมากขึ้น และใบรับรองออร์แกนิกสูงสุด ที่ต่างประเทศให้การยอมรับมากที่สุด คือ USDA”
ดร.เชษฐกานต์ และ ดร.ขวัญชนก เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการไขว่คว้าใบรับรอง USDA...ที่ใช้เวลาในการปรับปรุงพื้นที่และกระบวนการผลิตนานถึง 5 ปี และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้เจ้าของมาตรฐาน USDA มาตรวจรับรองครั้งละไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนบาท ในขณะที่ใบรับรองของยุโรป ที่เรียกกันว่า IFOAM ใช้เวลาแค่ 3 ปี มีค่าใช้จ่ายแค่ 20,000 บาท
“แม้จะใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายแพงที่สุด เราต้องทำเพื่อศักดิ์ศรีข้าวไทย ข้าวดีที่สุดในโลก ขั้นตอนกว่าจะได้ใบรับรองมายากมาก กฎระเบียบตรวจเข้มดูกัน ตั้งแต่เรื่องน้ำมีการปนเปื้อนสารเคมีมั้ย แปลงนาต้องมีแนวต้นไม้เป็นกันชน ไม่ให้สารเคมีจากแปลงอื่นเข้ามา ปุ๋ยใส่ได้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และใส่ได้เฉพาะตอน และใส่ได้เฉพาะตอนเตรียมดินหลังจากปลูกไปแล้วห้ามใส่ปุ๋ยเด็ดขาด การกำจัดโรคแมลง ให้ใช้ได้เฉพาะเชื้อราบิวเวอเรีย กับไตรโคเดอร์มา เท่านั้น
จอบเสียม รถเกี่ยวข้าว ที่นำมาใช้ในนา ต้องล้างทำความสะอาด และต้องบอกด้วยว่า ล้างด้วยน้ำอะไร ข้าวเก็บเกี่ยวเสร็จส่งไปสีที่ไหน ขายให้ใคร ข้าวที่เหลือ สต๊อกเก็บแบบไหน ต้องทำบัญชีบอกรายละเอียดหมดทุกอย่าง และเมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ถามอะไรเราต้องตอบได้หมด และมีเอกสารให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกเรื่อง ต่างกับออร์แกนิกไทยแลนด์ลิบลับ บอกได้เลยว่า รายการจดบันทึกของ USDA แต่ละครอปมีมากถึง 300 หน้า ส่วนมาตรฐานไทยทำแค่ 11 หน้าเอง” นั่นเป็นเพียงบางส่วนของเบื้องหลังความสำเร็จที่เกษตรกรรุ่นใหม่คิดทำ...ฝันขั้นแรก พึ่งน้ำพักน้ำแรงและความพยายามของตัวเองและพี่น้องชาวนาให้เครือข่ายร่วมกันทำ ผ่านไปได้ด้วยดี ฝันขั้นต่อไปจะนำข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ไรซ์เบอร์รีอินทรีย์ มาตรฐาน USDA ไปขายในตลาดโลกที่กว้างกว่าเดิม
ฝันขั้นนี้ ต้องพึ่งพากฎระเบียบภาครัฐและราชการ ยากจะเป็นจริง เพราะจะให้ขายทีละ 10–20 กก.เหมือนเดิม ไม่มีทางจะได้ทุนค่าใบรับรองคืนแน่...ครั้นจะขายทีละ 1,000 กก. นอกจากต้องขอใบอนุญาตส่งออกที่ยุ่งยากมาก ขั้นตอนค่าใช้จ่ายสูงเป็นแสนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องโควตาส่งออกข้าวอีกต่างหาก จะส่งข้าวไปขายได้ต้องมีโควตา ถ้าไม่มีโควตาต้องไปขอซื้อโควตาจากบริษัทใหญ่ หรือส่งขายไปในนามบริษัทที่มีโควตา มันเลยเกิดคำถาม โควตานี่มาจากไหน ทำไมอยู่แต่ในมือพ่อค้ารายใหญ่... ทำไมคนทำนากับมือ ถึงไม่มีโควตา เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ ชาวนาไทยถึงได้จนดักดาน กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยหาคำตอบให้ชาวนาหายคาใจได้มั้ย.
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 28 พ.ค. 2561