บางคนว่าเกษตรกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นกับความล้าหลังเกษตรกรรมไทย ท่ามกลางกระแสพุ่งแรง ในบางมิติมุ่งไปสู่คุณค่าใหม่ๆ
แต่ผมกลับคิดว่าเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า มีลักษณะระดับโลก (World-class) อย่างแท้จริง
เกษตรกรรมในความหมายกว้าง มิใช่เพียงอาชีพ หากเป็นวิถีชีวิตผู้คน เป็นกิจกรรมและการผลิตเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และวัฒนธรรมชุมชน
ผลผลิตชุมชนเกษตร มีความหมายมากกว่าสินค้าเกษตรพื้นฐานอย่างที่เข้าใจ ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์
เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ฯลฯ ซึ่งได้รับการยกฐานะเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศมาช้านาน
หากรวมถึงผลผลิตมาจากธรรมชาติ หรือการผลิตที่ใช้วัตถุดิบหรือกระบวนการการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน เป็นงานคุณค่าสูงในโลกสมัยใหม่ เป็นงานฝีมือ อาทิ เครื่องจักรสาน ผ้าทอมือ ไปจนถึงงานเครื่องปั้นดินเผา
ตำนานการค้าระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก่อนยุคโลกาภิวัตน์ ล้วนเป็นตำนานการเกิดขึ้นของเส้นทางเชื่อมโยงการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งมีสินค้าคุณค่าเฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น เคลื่อนไปอีกท้องถิ่นหนึ่ง
โดยเฉพาะ อย่างที่เรียกว่า เส้นทางเครื่องเทศ เส้นทางสายไหม และ เส้นทางสายชา
สังคมยุโรปในยุคกลาง ซึ่งเป็นสังคมพัฒนาการอย่างโดดเด่น จะเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นสังคมบริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ก็ว่าได้ เป็นสังคมที่มีความต้องการสินค้าชุมชนเกษตรจากโลกตะวันออกหลากหลายชนิด ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าชั้นสูง ไม่เพียงเป็นความต้องการพื้นฐาน หากเป็นสินค้าที่แสดงสถานะและรสนิยมของผู้บริโภคด้วย
สินค้าคุณค่าระดับโลกอย่างแท้จริง มิควรเป็นสินค้าแบบเดียวกันใช้กันทั้งโลก ผลิตด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานเดียวกัน เป็นเพียงอยู่ในห่วงโซ่หนึ่งในการผลิตของผู้ผลิตสินค้าระดับโลกเท่านั้น หากเป็นสินค้าคงคุณค่าความเป็นท้องถิ่น งานฝีมือเชื่อมโยงกับวันธรรม มีเอกลักษณ์ มีสถานะโดดเด่นในโลก
ผมยังมองไม่เห็นสินค้าใดในสังคมไทยจะมีฐานะอย่างโดดเด่นเช่นนั้น หากสินค้านั้นไม่เชื่อมโยงกับวิถีชุมชนและเกษตรกรรม
ยุคต้นการค้าระหว่างประเทศ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น สินค้าชุมชนสังคมเกษตรไทย เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทยในยุคนั้น พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตร ความสำคัญสินค้าเกษตรในตลาดโลก กับความต้องการที่มีอยู่เสมอ เป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนา เพื่อผลิตสินค้าในมิติการเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เป็นเพียงมิติเดียว โดยเฉพาะในยุคสงครามเวียดนาม ปรากฏทางแยกขึ้นอย่างชัดเจน
น่าเสียดายกลายเป็นเส้นทางหลักสายเดียว แทบไม่หลงเหลือเอกลักษณ์หรือคุณค่าดั้งเดิม ควรเป็นอีกเส้นทางหนึ่งคู่ขนาน
การเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดโลก เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคนั้น ผลักดันให้สินค้าเกษตรเข้าสู่วังวนใหม่ หรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลที่เรียกว่า East Asia Economic Model (EAEM)
“EAEM ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ เงินลงทุนสูงและการพึ่งเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแง่การค้า และสายสัมพันธ์การลงทุนกับตลาดโลก ประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกส่วนใหญ่ รวมทั้งไทยได้ยอมรับ EAEM ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980”
“เครือข่ายธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก ล้วนเป็นผู้ซัพพลายสินค้าที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติป้อนตลาดโลก ระดับราคาสินค้าในตลาดโลก มีผลโดยตรงต่อผลตอบแทนธุรกิจ และอัตราค่าจ้างแรงงานเอเชีย…ผลในท้ายที่สุดคือ เงื่อนไขทางการค้าของเอเชีย-แปซิฟิก ย่ำแย่ลงทุกครั้งเมื่อดีมานด์ตลาดโลกที่มีต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตผลการเกษตร หรือสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมภูมิตกต่ำลง สิ่งนี้แหละเป็นตัวอธิบายเรื่องความหายนะแห่งวงจรของสงครามราคา”
บทความชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งโดยบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก อรรถาธิบายเชื่อมโยงโดยตรงมาจากการเกษตรพืชเศรษฐกิจพึ่งพิงการส่งออก
(ส่วนหนึ่งจากผลงานวิจัยของ Morgan Stanley Dean Witter ในหัวข้อเรื่อง Asia/Pacific Economics โดย Daniel Liam เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2544)
เป็นช่วงเวลาเดียวกับสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาและผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แรงปะทะต่อภาคเกษตรกรรมเกิดขึ้นอีกครั้ง และเกิดขึ้นในมิติต่างๆ อย่างหลากหลายกว่าที่คิด
“ผมคิดว่าจากนี้ไป เกษตรกรรมของไทยจะค่อยๆ กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมิได้เริ่มต้นจากพลังของรัฐ หากมาจากเอกชนทั้งระดับองค์กร และปัจเจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประเมินศักยภาพและพัฒนาการภาพรวมที่อาจเรียกว่า บูรณาการเกษตรกรรม” ผมเองเคยเสนอเรื่องนี้เมื่อปีปลายปี 2552
เกษตรกรรมได้สร้างโอกาสและทางเลือก ประหนึ่งพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของสังคมไทยก็ว่าได้ ขณะที่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้คนมองเห็นแต่ข้อจำกัด เกษตรกรรมไม่มีสัมปทาน ไม่มีใบอนุญาตที่ต้องวิ่งเต้น มีโอกาสและทางเลือกที่หลากหลาย จะยิ่งมีมากขึ้นในยุคใหม่
แนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมหลักของสังคมไทยที่เริ่มต้นอย่างจริงจังในช่วงการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวหรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อการส่งออก ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงความหวังใหม่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เมื่อมองเห็นปัญหาและข้อจำกัดมากขึ้นด้วย เชื่อว่าผู้คนผู้ประกอบการเกษตรกรรมใหม่ มองเห็นโอกาสที่แตกต่างมากขึ้น มีมุมมองในมิติใหม่ นำพาไปสู่กระแสการพัฒนาใหม่ เป็นขบวนและกระบวนการซึ่งก่อตัวอย่างเงียบๆ เชื่อว่าจะเป็นพลังสำคัญสำหรับอนาคต เกษตรกรรมยุคสมัย มุ่งเน้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ จากพื้นฐานความรู้ และวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม
เพื่อเชื่อมโยงกับการจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
ในเวลานั้น (ราวทศวรรษที่แล้ว) ผมสนใจปรากฏการณ์ ข้าวหอมมะลิ
กำลังก่อตัวกระแสใหม่ แม้ว่าข้าวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาขึ้นลงตามดีมานด์ซัพพลายนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาข้าวไทยสร้างปรากฏการณ์สินค้ามูลค่าเพิ่ม ในฐานะข้าวคุณภาพ โดยเฉพาะการกำเนิดและพัฒนาขึ้น–ข้าวหอมมะลิ จนกลายเป็นแบรนด์สินค้าในตลาดโลก
“ข้าวหอมมะลิ เป็นแบรนด์ที่มีคุณค่ามากกว่าสินค้าทั่วๆ ไป หนึ่ง-เชื่อมโยงกับภาพรวมประเทศไทย สอง-เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมของไทยที่มีความสำคัญในฐานะแหล่งผลิตอาหารคุณภาพของโลก สาม-เป็นแบรนด์ใหญ่ ภายใต้ร่มของแบรนด์ข้าวหอมมะลิ สามารถสร้างแบรนด์สินค้าย่อยๆ เชื่อมโยงกับข้าวหอมมะลิได้อย่างหลากหลาย” ผมได้เสนอแนวคิดชุดหนึ่งขึ้นด้วย
ข้าวหอมมะลิ เป็นสินค้าในฐานะแบรนด์สินค้ามีมูลค่าสูงที่สุดอย่างหนึ่งของไทยเลยทีเดียว
จากมูลค่าเฉพาะการส่งออกอย่างเดียว ปีละมากกว่าสามหมื่นล้านบาท เมื่อทศวรรษที่แล้ว (อ้างอิงจากตัวเลขการส่งออกในปี 2549) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นกว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว (อ้างอิงตัวเลขการส่งออกในปี 2558)
การบริการจัดการข้าวมะลิในฐานะสินค้าเกษตรทรงคุณค่าและแบรนด์ ควรเป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบกว่าที่เป็นอยู่ ในฐานะ “ห่วงโซ่” อย่างซับซ้อน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว การพัฒนาการเพาะปลูก และนำมาผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มต่อเนื่องอื่นๆ จนถึงบรรจุภัณฑ์ที่ดี บรรจุภัณฑ์ซึ่งรักษาคุณค่าสินค้า ทั้งพัฒนาระบบเชื่อมต่อกับระบบการค้าแบบใหม่ ฯลฯ
ต่อจากนั้นให้ความสำคัญ ดูแลและพัฒนาคุณค่าแบรนด์ โดยเฉพาะในตลาดโลก
เรื่องราว ข้าวหอมมะลิ ควรเป็นบทเรียนไปยังสินค้าเกษตรคุณค่าอื่นๆ รวมทั้งผลไม้ไทย อย่างกรณีทุเรียน ซึ่งมีการกล่าวถึงกันมาก และควรเป็นโมเดลธุรกิจในเชิงรุก เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ มิใช่เป็นเพียงชิ้นส่วนในห่วงโซ่ธุรกิจของคนอื่นๆ ขึ้นต่อกับพลังที่ไม่อาจต่อรองได้เท่าที่ควร อย่างที่หลายคนกังวล ว่าด้วยความเสี่ยงกรณี ดีล Alibaba ในฐานะคู่ค้ารายใหญ่มากๆ อาจมีอิทธิพลถึงขั้นควบคุมตลาดและราคา
มองบางมุมอาจเป็นเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจตามโมเดล EAEM (East Asia Economic Model) ซึ่งกล่าวไว้ตอนต้นๆ
อีกปรากฏการณ์หนึ่งเปิดฉากในช่วงเดียวกัน นั่นคือการกำเนิดสินค้า OTOP (One Tambon One Product หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) ภายใต้แรงผลักดันของรัฐ ซึ่งเริ่มต้นราวปี 2544
โดยพื้นฐานสินค้า OTOP เชื่อมโยงกับวิถีและวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรม ในความหมายกว้าง ว่าด้วยสังคมเกษตรกรรมไทย จึงไม่น่าแปลกใจนักว่าช่วงแรกๆ สามารถตั้งหลักและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
งานฝีมือ หรือหัตถกรรมไทย เป็นสินค้ามีคุณค่ามากขึ้นในยุคปัจจุบัน มาจากกระบวนการทางสังคมและชุมชนอันกระจัดกระจาย ซึ่งสืบสานต่อเนื่องกันมายาวนาน แม้จะแตกต่างไปจากจากโมเดลใหม่ -เกษตรกรใหม่ (โปรดอ่านเรื่อง “เกษตรกรใหม่” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2560) แต่บทสรุปนั้นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งเอื้อ สนับสนุน เสริมกัน และสร้างความหลากหลายให้มากขึ้น ไม่ว่ากรณีคลาสสิคอย่างไร่กำนันจุล และจิม ทอมป์สัน ไปจนถึงการบุกเบิกผลิตไวน์ไทย
จากกรณีว่าด้วยข้าวหอมมะลิ และ OTOP ในความหมายกว้าง ผลิตภัณฑ์ทางสังคม เชื่องโยงกับวิวัฒนาการชุมชนเกษตรกรรมไทย กับโมเดลเกิดใหม่ มาจากปัจเจก เอกชน-ธุรกิจ กับการกำเนิดเกษตรกรใหม่ ล้วนมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับวิถีและวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรมในระดับต่างๆ ผ่านผลิตภัณฑ์คุณค่า
สะท้อนถึงความละเมียดและลึกซึ้ง (sophisticate) ความยั่งยืน (sustainable) ภายใต้กระบวนการการเจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป (slow growth) อย่างมีพลวัต (dynamic) และมีความหลากหลาย (diversity) ด้วยกระบวนการทดลอง (experiment) ค้นพบคุณค่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจต่อไป
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.