จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก (ที่มีคนไทยอยู่) นั้นคือการใช้ “สิทธิชุมชน” ซึ่งผมอยากจะนำเรื่องสิทธิชุมชนนี้มาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้สิทธิชุมชน โดยขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดของผลการเจรจา เพราะมีรายละเอียดปรากฏตามข่าวเยอะแล้ว
การออกมาใช้ “สิทธิชุมชน” ของคนเชียงใหม่นั้นไม่ใช่ของใหม่ ที่ผ่านมากลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทย ต่างออกมาเรียกร้องสิทธิกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน น้ำ ป่า หรือสิทธิในการทำประมงชายฝั่ง จึงเกิดมีคำถามตามขึ้นมาเสมอๆ ว่า ทำไมชาวบ้านถึงคิดว่าตนเองมีสิทธิในทรัพยากรเหล่านั้น ในขณะที่ภาคราชการกลับคิดว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิ อย่างเช่นในกรณีของสิทธิที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงในแม่น้ำมูล ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล หรือการที่ชาวบ้านลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตน ด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน หรือการสร้างท่อก๊าซ และล่าสุดคือกรณีป่าแหว่ง
กรณีต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความขัดแย้งในการตีความหมายของสิทธิ หรือการเข้าใจความหมายของสิทธิแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของสิทธิชุมชน เช่น สิทธิของชาวนา สิทธิชาวบ้าน และสิทธิของท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นความคิดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 แล้ว ล่าสุดคือรัฐธรรมนูญปี 60 ก็บัญญัติไว้ให้ชุมชนย่อมมีสิทธิ “จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”
การบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็เพื่อให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร แต่เนื่องด้วยความหมายที่ยังไม่คุ้นเคย จึงมีการตีความที่ไม่ตรงกัน
สิทธิชุมชนคืออะไร
ได้มีผู้ให้คำนิยามหรือความหมาย “สิทธิชุมชน” ไว้เยอะมาก
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า “แนวความคิดเรื่องสิทธิชุมชน สำหรับสังคมไทยอาจดูเป็นเรื่องใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุดขณะนี้เราก็สามารถปลูกฝังสิ่งนี้ลงไปในสังคม โดยผ่านกระบวนการนอกระบบการศึกษา จนในที่สุดมันซึมเข้าไปในระบบการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้หลายต่อหลายเรื่อง สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิ ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น ยังเป็นความหมายเพียงแค่ขอบเขตของปัจเจกบุคคล ได้ขยายความหมายของคำคำนี้ออกไปตามแนวคิดของโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ได้ เราไม่ควรไปติดกับชุมชนที่มีความหมายเป็นแค่เพียงพื้นที่เพียงอย่างเดียว เพราะในเมืองไทยมีสำนึกเกี่ยวกับชุมชนที่ไม่ได้เป็นพื้นที่อย่างเดียวมากมาย เช่น กรณีคนพิการขอให้มีบันไดเลื่อน ถึงแม้จะต่างคนต่างอยู่แต่เป็นประโยชน์ร่วมของเขา จากการที่เขานับตัวเองเป็นคนหนึ่งของผู้พิการ ดังนั้นเรื่องของชุมชนกับเรื่องของอัตลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่าตัวเองมีผลประโยชน์ร่วมกับคนอื่นอย่างไร หรือควรจะมีทรัพยากรของตัวเองร่วมกับคนอื่นอย่างไร เหล่านี้เองคือความเป็นชุมชน และการที่คนเหล่านั้นมีจินตนาการว่าตัวตนของตัวเองส่วนหนึ่งร่วมอยู่กับส่วนอื่นเพราะเหตุผลอย่างนั้น นี่คือสิทธิชุมชน”
เสน่ห์ จามริก, ยศ สันตสมบัติ และ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ใน “ป่าชุมชนในประเทศไทย แนวทางการพัฒนาเล่มที่ 1 ป่าฝนเขตร้อนกับภาพรวมของป่าชุมชนในประเทศไทย” เมื่อปี 2536 ชี้ว่าสภาวะของสิทธิชุมชน เกิดขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รัฐและทุนดำเนินการแย่งชิงทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งอาศัย กระบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ทรัพยากร เช่น การต่อสู้ ต่อต้าน การสัมปทานไม้ การกันแนวเขตป่าชุมชน สิทธิชุมชนจึงเสมือนเป็นประดิษฐกรรมทางสังคม ของชุมชน และขบวนการภาคประชาชน ที่สร้างขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจ จากภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อชุมชน
ที่ชัดเจนที่สุดก็คือความเห็นของ เย็นจิตร ถิ่นขาม ที่สรุปว่า “สิทธิชุมชน” คือ ข้อตกลง กฎเกณฑ์ทางสังคม หรืออาจพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันร่วมกันของกลุ่มคนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร การจัดการทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ กลุ่มคนดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกัน หรือเป็น “ชุมชน” ลักษณะชุมชนนั้นมิได้ยึดติดกับชุมชนหมู่บ้าน อันเป็นรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่เป็นเครือข่ายทางสังคมของผู้คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือมีแบบแผนการผลิต ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจจะมีขอบเขตชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายชุมชน หลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้จำกัดแค่ชุมชนชนบท แต่ขยายครอบคลุมถึงเมือง เป็นเครือข่ายท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นชุมชนในจินตนาการที่ผู้คนสัมพันธ์ผ่านสื่อ หรือนิยามว่าเราเป็นพวกเดียวกัน มีความสัมพันธ์ผ่านสิทธิร่วมกัน
สิทธิชุมชนในฐานะของอุดมการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน
ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่าสิทธิชุมชนในฐานะของอุดมการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ได้เปิดพื้นที่ทางสังคมและการเมืองอย่างกว้างใหญ่ไพศาล อันเป็นห้วงเวลาที่พื้นที่ทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับนโยบายเปิดช่องทางในการรวมตัว การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย งานศึกษาดังกล่าวได้ขยายไปสู่สถานภาพความรู้ของขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในการลุกขึ้นมาปกป้องเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากทิศทางในการพัฒนาของรัฐ
จากกรณีป่าแหว่งที่เชียงใหม่ ได้มีการพยายามอธิบายหรือป้ายสีการเคลื่อนไหวนี้ออกไปในหลายรูปแบบ บ้างก็บอกว่าเป็น “ขบวนการเขียวหางแดง” (ริบบิ้นสีเขียว-เสื้อแดง) บ้างก็บอกว่าเป็นขบวนการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการ บ้างก็บอกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแท้ๆ ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง และพยายามกีดกันนักการเมืองออกไปจากความเคลื่อนไหวนี้
ซึ่งในความเห็นที่ว่าไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะหากพิจารณาตามความหมายของคำว่า “การเมืองคืออะไร” ของ ฮาโรล์ด ลาสเวล (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันที่กล่าวว่า “การเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร (Politics is,who gets “What”, “When”, and “How”) แล้ว กรณีป่าแหว่งนี้ก็คือการเมืองอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยการใช้ “สิทธิชุมชน” ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.