โครงการอีสานโพล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจภาคอีสาน ไตรมาสที่ 1/2561 ในพื้นที่ทั้ง 20 จังหวัด
พบว่าด้านเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดต่างๆ รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องทางการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคครัวเรือน มีคะแนนอยู่ที่ 88.7 ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง
เมื่อนำผลสำรวจทั้งไตรมาส 3/2560 ไตรมาสที่ 4/2560 และไตรมาส 1/2561 มาเปรียบเทียบกัน ก็พบว่ามีคะแนนต่ำกว่า 100 ทั้งหมด แสดงถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ทรุดต่อเนื่องมากถึง 3 ไตรมาสติดต่อกัน
สวนทางกับตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
ที่ผ่านมา รัฐบาลคณะรัฐประหารจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่มาแล้วทั่วภูมิภาค เฉพาะภาคอีสานจัดขึ้นครั้งแรกที่ จ.นครราชสีมา และครั้งล่าสุดที่ จ.บุรีรัมย์ ไม่นับการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีและอนุมัติงบประมาณให้บางจังหวัด
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการต่างๆ ที่กระจายเม็ดเงินลงไปเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการไทยนิยม และงบประมาณการพัฒนาด้านอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน แต่เป็นที่สังเกตว่าผลสัมฤทธิ์กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อและแนวคิดการพัฒนาแบบจากบนลงล่าง อาศัยกลไกข้าราชการขับเคลื่อน ประสานกับบริษัทประชารัฐช่วยผลักดัน แทนที่จะให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำ
โดยประชาชนยังไม่รู้สึกว่าสัมผัสจับต้องได้
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เศรษฐกิจสำคัญอยู่ที่ภาคการผลิตทางเกษตรกรรมเป็นด้านหลัก โดยเฉพาะการทำนาปลูกข้าว และจะเริ่มฤดูกาลอีกในไม่ช้านี้
เรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการสนับสนุนส่งเสริม การเข้าถึงทุนที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิต และปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดหาปุ๋ยไว้รองรับ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเตรียมมาตรการรับมือไว้ด้วย ในกรณีหากเกิดผลกระทบจากธรรมชาติ ฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง น้ำท่วม เพราะระบบการจัดการน้ำและชลประทานไม่ทั่วถึง
เพราะเศรษฐกิจของภาคอีสานจะดีขึ้นหรือตกต่ำ มาจากภาคการเกษตรเป็นหลัก
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 10 พ.ค. 2561