“หนี้สินชาวนา” เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนพยายามคิดค้นหาทางแก้มาโดยตลอด รัฐบาลทุกยุคสมัยก็ล้วนมีนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ ออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร แต่ก็ยังไม่มีใครหรือรัฐบาลไหนดำเนินนโยบายที่ประสบผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าที่ผ่านมานโยบาย มาตรการ โครงการของภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรยังขาดความต่อเนื่อง เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ ผลก็คือชาวนาและเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้และการสูญเสียที่ดิน
สถานการณ์หนี้สินและการสูญเสียที่ดินของชาวนา
งานศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในปี 2558 พบว่า ชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ถึง 25.5 เท่า และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2557 พบว่า เกษตรกรมีภาวะหนี้สินรวม 1.322 ล้านล้านบาท
ปัญหาหนี้สินเป็นที่มาของความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน ส่งผลทำให้ชาวนาและเกษตรกรไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องจากที่ดินเป็นฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ปัจจุบันพบว่าชาวนาและเกษตรกรได้สูญเสียที่ดินทำกินในระดับหลายแสนไร่ต่อปี ดังสถิติตัวเลขการจำนองที่ดินและขายฝากที่ดินของเกษตรกรในปี พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีสูงถึง 29.7 ล้านไร่ และพบว่าพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ 149.2 ล้านไร่ มีชาวนาและเกษตรกรถือครองที่ดินของตนเองเพียงร้อยละ 48 หรือ 71.6 ล้านไร่ เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 52 หรือ 77.6 ล้านไร่ คือการทำมาหากินของเกษตรกรในพื้นที่ผู้อื่น พื้นที่เช่า และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
สาเหตุปัจจัยการเกิดหนี้ของชาวนา
จากงานศึกษาทบทวนเอกสารงานวิจัยของโครงการวิจัย “การสังเคราะห์องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรในระดับพื้นที่สู่ข้อเสนอทางนโยบาย” ดำเนินงานโดยมูลนิธิชีวิตไท ปี 2561 พบว่าปัจจัยสาเหตุการเกิดหนี้ของชาวนาและเกษตรกรเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก
ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกร เกิดจาก 1)การซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก (การบริโภคนิยม) 2)การเล่นการพนัน , สุรา 3)ไม่มีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน 4)การลงทุนทำการเกษตรและการผลิตเชิงเดี่ยว การลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่ 5)การลงทุนด้านการศึกษาบุตรหลาน 6)การรักษาพยาบาล 7)การขาดทักษะความรู้การคิดวิเคราะห์แบบครบวงจร (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ)
ปัจจัยภายนอกเกิดจาก 5 ปัจจัยสาเหตุหลัก นั่นคือ 1)ฐานทรัพยากรและฐานการผลิตลดลง ถูกทำลาย ภาวะโลกร้อน 2)การยอมรับกระแสสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างรวดเร็ว เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านวิถีการอุปโภคและบริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมประเพณีการใช้จ่ายเกินกำลัง 3)นโยบายให้กู้ยืมของรัฐบาล 4)วิถีการผลิตในชุมชนเปลี่ยนแปลง การลงทุนสูง แต่รายได้น้อย 5)นโยบายภาคการเกษตรของภาครัฐ
รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา
จากการสำรวจเอกสารการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกรที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนชาวนามีการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินใน 4 ระดับ นั่นคือ 1) การจัดการหนี้สินในระดับปัจเจก เช่น การปรับเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมค่าใช้จ่าย ปรับระบบการผลิตไม่ตามกระแส หารายได้เพิ่ม การพัฒนาศักยภาพเรียนรู้เรื่องหนี้สิน การประหยัด การออม 2) การจัดการหนี้สินในระดับครัวเรือน ได้แก่ จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าอาหาร ปลูกผักกินเอง 3)การจัดการหนี้สินในระดับกลุ่มองค์กรและชุมชน ได้แก่ องค์กรชุมชนท้องถิ่นมีการพัฒนาศักยภาพ มีแผนส่งเสริมอาชีพ การจัดการลดค่าใช้จ่ายเรื่องเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากตลาด มีการรวมกลุ่มกันซื้อขายผลผลิต รวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากวัสดุในชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ฟื้นฟูระบบนิเวศน์และทรัพยากรพื้นที่ 4)การจัดการหนี้สินในระดับนโยบาย ได้แก่ การปรับปรุงและแก้ไขด้านนโยบายของรัฐ
บัญชีครัวเรือน กุญแจสู่การตัดวงจรหนี้สินและสูญเสียที่ดินของชาวนา
ที่ผ่านมาเราพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินของชาวนา โดยพุ่งเป้าไปที่แนวทางลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มรายได้ แต่ดูเหมือนว่ายังขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เนื่องจากหากมองที่สัดส่วนรายจ่ายของครัวเรือนชาวนาและเกษตรกรปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ คือ พฤติกรรมการใช้จ่าย หรือวิธีคิด ดังนั้นโครงการและมาตรการความช่วยเหลือด้านต้นทุนและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าใด หากพฤติกรรมการใช้จ่ายสูงตามตัว ปัญหาหนี้สินก็ยังไม่ถูกแก้
หนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ของชาวนาและเกษตรกร คือการขาดความรู้เรื่องทางการเงิน นั่นคือการที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกรายรับรายจ่าย ขณะที่วิถีการเพาะปลูกและการใช้ชีวิตยุคปัจจุบัน ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุนที่เป็นตัวเงิน
การทำ “บัญชีครัวเรือน” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร บัญชีครัวเรือนไม่ใช่ยาวิเศษ ลักษณะเหมือนเป็นใบตรวจโรค ที่จะช่วยวินิจฉัยความเจ็บป่วยเพื่อจะหาทางเยียวยาแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาได้
วิธีการสำคัญคือต้องมีการวางเงื่อนไขให้มีการบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำทุกวัน และมีการนำมาวิเคราะห์เป็นระยะ เช่น ทุก 3-4 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการนำเครื่องมือบัญชีครัวเรือนเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้สู่การแก้ปัญหาหนี้สินแบบมีส่วนร่วม
การทำบัญชีครัวเรือน กับ การทำแผนลด ปลดหนี้ แผนการจัดการหนี้สิน สิ่งแรกที่ชาวนาจะรู้คือ รายรับรายจ่าย จำนวนหนี้สิน ที่มาของรายรับรายจ่าย และนำข้อมูลแยกแยะ จัดเป็นหมวดหมู่ จัดการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และหารายได้เพิ่มจากศักยภาพของตนเอง รวมทั้งบริหารทรัพยากรและที่ดินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บริหารรายรับรายจ่าย หนี้สิน กำหนดสัดส่วนการใช้เงิน ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระบบแหล่งเงินกู้ ไม่กู้นอกระบบ วางแผนการผลิต วางแผนการออม วางแผนการปลดหนี้รายเดือน รายปีด้วยการวิเคราะห์การจัดระบบดังกล่าว ทำให้เกิดวิธีคิด ปรับทรรศนะ ปรับวิธีคิดการจัดการหนี้สินอย่างเป็นระบบ สามารถปลดหนี้ได้ในเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้
สุดท้าย เราต้องยอมรับและอยู่กับโลกความเป็นจริง ปัญหาหนี้สินชาวนาจะไม่หมดไป ดังนั้นเป้าหมายคือ ชาวนาสามารถบริหารจัดการหนี้ และอยู่กับหนี้ได้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรครัวเรือนและชุมชนจะมีศักยภาพและความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความสามารถวางแผนและบริหารจัดการด้านการเงินได้อย่างเหมาะสม อันจะนำไปสู่การปลดเปลื้องหนี้สิน เพิ่มพูนรายได้ หลุดจากวงจรหนี้ที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 11 พ.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.