ตลาดโลกยุคนี้สิบูม! เกษตรอินทรีย์ คิดใหญ่ทำน้อยได้มาก การค้า “เกษตรอินทรีย์” กำลังมาแรง และอินเทรนด์สุดๆ ตัวเลขตลาดมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผลผลิตที่ยังมีไม่มาก แต่สามารถขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าปกติที่ไม่ได้เป็นอินทรีย์
น่าสนใจว่า...บางสินค้าราคาเพิ่มขึ้นจากปกติเป็น 100–300% เลยก็มี ถือเป็นโอกาสสำหรับสินค้า “เกษตรอินทรีย์ไทย” หากพัฒนาการเพาะปลูก การผลิต ทำคุณภาพมาตรฐานให้ได้ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ก็จะขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
สะท้อนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยขณะนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ราวๆ 2,700 ล้านบาท เติบโตปีละประมาณ 20% แบ่งเป็นตลาดภายในประเทศ 800 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 1,900 ล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 0.07% ของมูลค่าตลาดโลก...ทำให้ไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก
ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 กระทรวงพาณิชย์เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เป็นกำลังหลักในการผลักดัน นับตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการส่งออก ...ทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 2 ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ที่มีความยั่งยืน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดอินทรีย์ 4 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง... ...การสร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลาดห่วงโซ่อุปทาน สอง...ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ สาม...พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์
ความท้าทายสำคัญ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน มองว่า คือการเพิ่มและขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าอินทรีย์ของไทยสู่ตลาดโลก เราจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้มีมากขึ้นก่อน ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่ที่ 3 แสนไร่ ในปี 2564 ตั้งเป้าเพิ่มให้ถึง 6 แสนไร่ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว
“นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นราย ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ผ่านกลไกประชารัฐ เข้าไปส่งเสริม...ผลักดัน ให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก และเมื่อผลิตสินค้าได้ก็จะช่วยหาช่องทางการตลาดให้”
ต้นน้ำเกษตรกรที่มองหาลู่ทางวางแผนที่จะหันมาทำ “เกษตรอินทรีย์” ให้ศึกษาข้อมูล เรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรไปก่อน เมื่อสำเร็จได้ผลผลิตแล้วก็ต้องเตรียมแผนการหาตลาดรองรับ
กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะผลักดันสัดส่วนตลาดในประเทศกับตลาดส่งออกเป็น 40% กับ 60% ตลาดในประเทศ...จะเร่งสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคให้เห็นถึงความสำคัญของการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพราะหากมีการบริโภคสูงขึ้นจะทำให้เกษตรกรหันมาสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น
ด้วยมูลค่าตลาดสินค้าอินทรีย์สูงกว่าสินค้าเกษตรปกติ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ตอนนี้... หลายคนอาจจะได้เห็นสินค้าเกษตรอินทรีย์วางจำหน่ายในห้างฯ ทั้งในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เกต เดอะมอลล์ หรือร้านที่เป็นร้านเฉพาะอย่างฟาร์มเอาต์เลต เปิดแล้วในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตและเริ่มได้รับความนิยม รวมถึงร้านค้าที่อยู่ในหมู่บ้านอินทรีย์ ที่กระทรวงได้เข้าไปส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันมีแล้วถึง 8 แห่ง
การผลักดันให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในช่องทางต่างๆเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ควบคู่ไปกับตลาดต่างประเทศ ที่จะผลักดันนำผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น งานไทยเฟ็กซ์ และงาน BIOFACH ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าอินทรีย์นานาชาติที่ใหญ่และมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในโลก เพื่อสร้างโอกาสส่งออกให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออแกนิกของไทย 22 ราย ไปร่วมงาน BIOFACH 2018 ที่เยอรมนี น่าดีใจว่า...เฉพาะงานนี้มียอดสั่งซื้อทันที 13 ล้านบาท และภายใน 1 ปี คาดว่าจะมีการซื้อขายสูงถึง 190 ล้านบาท
สินค้าที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์จากข้าว ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ ชา กาแฟ น้ำตาลมะพร้าว เส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าว เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง
บุณยฤทธิ์ ย้ำว่า เพื่อให้มีการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยออกสู่ตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท NurnbergMesse จำกัด (NM) ประเทศเยอรมนี ผู้จัดงาน BIOFACH พร้อมสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้จัดงานแสดง จำหน่ายสินค้าอินทรีย์และสินค้าธรรมชาติที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่องาน BIOFACH Southeast Asia 2018 และ NATURAL Expo Southeast Asia 2018 โดยไทยถือเป็นประเทศที่ 7 ที่ได้รับเลือกให้จัดงานระดับโลก
จากปัจจุบันที่มีการจัดงานที่เยอรมนี สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น โดยแผนจัดงานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12–15 ก.ค.2561 ที่อิมแพค เมืองทองธานี จะเป็นการยกระดับการจัดงานของไทยเข้าสู่มาตรฐานสากล และช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง... เจรจาการจำหน่ายสินค้าอินทรีย์อย่างครบวงจร และรับคำปรึกษาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงมาตรฐานต่างๆ
ที่สำคัญ...ยังเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการผลิต การตลาด การรับรองมาตรฐานอินทรีย์เพิ่มมูลค่า ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของภาคเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในงานจะมี 4 กลุ่มสินค้าคือ สินค้าอาหารอินทรีย์ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารแปรรูป สินค้าอินทรีย์ที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สินค้าสุขภาพ ธุรกิจบริการ เช่น สปา โรงแรม ร้านอาหาร และ สินค้าธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ...เอกชน ในการผลักดัน เชื่อมโยงการตลาด ข้อมูลการค้า กฎระเบียบ และมาตรฐานการรับรองระหว่างภูมิภาค ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการบริโภคเพื่อสุขภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ฉายภาพโอกาสสำคัญที่พลาดไม่ได้ในงานนี้ ทางเยอรมนีจะเชิญชวนผู้ประกอบการต่างชาตินอกภูมิภาคอาเซียนให้เข้ามาร่วมจัดงานแสดงสินค้า...เจรจาธุรกิจ คาดหวังกันว่าจะมีจำนวนผู้ซื้อต่างประเทศเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัว ได้เห็นการพัฒนาสินค้า การพัฒนามาตรฐาน ที่จะส่งผลดีต่อการนำไปใช้ในการพัฒนาสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานระดับโลกต่อไป...ผู้สนใจอย่าตกขบวนโดยเด็ดขาด
ที่ผ่านมา หากยังจำกันได้ ยุทธศาสตร์ “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผุดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของคนไทยและต่างชาติ สร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับชุมชนได้อย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ตนเองผลิตได้ และยังจะมีรายได้อื่นๆตามมา
แต่...วันนี้ เราต้องก้าวไปอีกขั้นเข้มแข็งอย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วยการขยายตลาดสินค้า...บริการเกษตรอินทรีย์ไปสู่ตลาดโลก...สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทย อย่างที่เรียกกันว่า “ทำน้อยได้มาก” บนวิถีปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”.