นอกจากรสชาติ ยังมีอีกหลายเรื่องของอาหารเกี่ยวพันกับเราตั้งแต่บนโต๊ะกินข้าวไปจนถึงการดำรงเผ่าพันธุ์ของเรา
วันนี้ ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันจะมีมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน
หลายคนมองหาวัตถุดิบมากมายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อรังสรรค์เมนูตามใจนึก หรือถ้าง่ายกว่านั้น เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หยิบอาหารปรุงสำเร็จอุ่นเพียง 3 นาที แม้แต่ใช้แอพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนไม่นานเกินรอก็ได้เมนูโปรดมาวางอยู่ตรงหน้า
แต่เคยสังเกตไหม ว่าอาหารที่เราเข้าถึง และสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันเหล่านี้นั้น ยังผูกพันกับ “ความมั่นคง” และสิทธิในการเข้าถึงอาหารเอาไว้ด้วย ในความหมายที่ว่า ทุกเวลา ต้องมีอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการครบถ้วน เพื่อที่จะมีชีวิตอย่างมีคุณภาพแม้ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ และอาหารที่ได้มานั้นต้องสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อเอ่ยถึง “ความมั่นคงทางอาหาร” จะต้องมี “อธิปไตยทางอาหาร” ควบคู่ไปด้วยทุกครั้ง โดยในวงเสวนาสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561 ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้ชวนสังคมมอง สถานการณ์อาหารตั้งแต่ภาพใหญ่ระดับโลกไปจนถึงตู้กับข้าวในครัว ที่กำลังท้าทายเราอยู่ในปีนี้
อดเพิ่มก็อ้วนเพิ่ม
แม้ว่าในปี 2030 หรืออีก 12 ปีข้างหน้าองค์การสหประชาชาติจะกำหนดเป้าหมายว่าโลกควรจะขจัดความอดอยากหิวโหยให้หมดสิ้นไป ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน แต่ในปีที่ผ่านมานั้นยังปรากฎตัวเลขความอดยากของประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 815 ล้านคน จาก 777 ล้านคนเมื่อปี 2016 ซึ่งมีสาเหตุมาจากภัยพิบัติ ความแห้งแล้ง และสงคราม เป็นหลัก
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีประชากรโลกอีกส่วนหนึ่งมีภาวะ “น้ำหนักเกิน” จากโภชนาการในระบบอาหารสมัยใหม่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่คาบเกี่ยวอยู่กับทั้ง 2 เรื่องนี้อย่างแยกไม่ออก
สำหรับบ้านเรา พบว่า ปี 2016 มีคนไทยมากถึง 6.5 ล้านคนที่ได้รับอาหารไม่เพียงพอ เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 6 แสนคน ขณะที่มีอีกกว่า 5 ล้านคนกำลังประสบภาวะ “อ้วน” เพิ่มเป็น 2 เท่า จากปี 2005 ที่มีอยู่ 2.5 ล้านคน
อุตสาหกรรมเนื้อ-นม ทำปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่คิด
เรามักคิดว่าอุตสาหกรรมน้ำมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะมากที่สุด แต่ GRAIN ร่วมกับ IATP และ HEINRICH BOLL ศึกษาพบว่า จริงๆ แล้วบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อ และนมต่างหากที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากทีสุดในโลก!
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่า ในประเทศไทย มีบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งผลิตเนื้อสัตว์อยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีการผลิตไก่เนื้อต่อปี 632 ล้านตัว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5.6 ล้านตัน เป็นอันดับ 6 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก
กฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งอาหาร
รัฐบาลบางประเทศเริ่มออกมาตรการทางกฎหมายในการบังคับให้ซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่กระจายอาหาร ต้องนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายเข้าสู่ระบบการจัดการอาหาร ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายบังคับให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดตั้งแต่ 400 ตร.ม.ขึ้นไป ต้องบริจาคอาหารให้กับองค์กรการกุศล มิฉะนั้นจะต้องโทษปรับ 3,750 ยูโร หรือ 1.45 แสนบาท ขณะที่ในเอเชียนั้น พบว่า มีอาหารเหลือต่อปีมากถึง 449 ล้านตัน แทนที่จะถูกใช้ไปลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอาหาร
ขึ้นแบล็กลิสต์สารกำจัดวัชพืช
สารเคมีที่มีการใช้มากที่สุดในโลกอย่าง พาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช เมื่อปลายปี 2016 หลายประเทศได้ประกาศแบนไปเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งจีน และบราซิล ทำให้เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังใช้อยู่ สำหรับเมืองไทย ถึงแม้เมื่อต้นปีจะมีมติให้แบนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ พาราควอต ถือเป็นสารเคมีที่ประเทศไทยนำเข้ามากที่สุด โดยคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของสารเคมีทั้งหมด ขณะที่ ไกลโฟเซต สารกำจัดศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งก็เริ่มถูกแบนด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปมีการประชุมว่าจะใช้ไกลโฟเซตต่อไปหรือไม่ มีประเทศที่เห็นว่าควรแบน 9 ประเทศ ใน 28 ประเทศ
เฝ้าระวังกฎหมายห้ามเก็บพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ คืนชีพ!
หลังจากที่มีการคัดค้านกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเมื่อปลายปี 2017 ที่ผ่านมา กรณีเรื่องการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อนั้นมีความผิดทางกฎหมาย โดยมีการชะลอการร่างกฎหมายไว้ แต่ขณะนี้ได้มีการเตรียมผลักดันให้เกิดกฎหมายนี้ต่อแล้ว เพราะหนึ่งในหัวข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปคือการแก้กฎหมายให้เป็นไปตาม upov 1991 หนึ่งในนั้นคือ การที่มีบทบัญญัติไม่อนุญาติให้ชาวบ้านที่ซื้อพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ นี่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาผูกขาดพันธุ์พืชอย่างเข้มข้น และทำลายพื้นฐานสำคัญของการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสัมพันธ์กับอาหารในอนาคต
หลากหลายขึ้น แต่ลดลง
การค้าขายสินค้าและบริการสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดในปี 2014 ประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 61 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่การค้าดั้งเดิมเหลือเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และใน 61 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นสัดส่วนที่เรียกว่า ไฮเปอร์มาเก็ต อย่าง บิ๊กซี โลตัส มากถึง 79 เปอร์เซ็นต์
แม้ในประเทศอุตสาหกรรม โมเดิร์นเทรดอาจจะถูกแทนที่โดยระบบการค้าแบบอื่นเช่นการค้าออนไลน์ แต่ในประเทศเศรษฐกิจใหม่ เช่น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม โมเดิร์นเทรดกำลังจะมาแทนที่ร้านค้าปลีกและตลาดแบบดั้งเดิมอย่างรวดเร็ว
ข้าวโพดราคาดี พร้อมๆ กับปัญหาหมอกควัน
ปีนี้ข้าวโพดราคากิโลกรัมละ 9-10 บาท ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบจากการเผาไร่ข้าวโพดภายหลังการเก็บเกี่ยว โดยที่เชียงใหม่ติดอันดับพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศสูงที่สุดของโลกเนื่องจากมีการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนมาก และปัญหาที่ตามมาคือ หมอกควันที่ปกคลุมเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างกว้างขวาง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 มี.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.