ข้าวอินทรีย์เป็นการผลิตข้าวที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ตลอดจนสารสังเคราะห์ต่างๆ ทุกชนิด อีกทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และเทคนิคอื่นๆ ตามมาตรฐานอินทรีย์อีกมากมาย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานในประเทศจึงมีน้อย ขณะเดียวกัน ก็มีเกษตรกรรายใหม่สมัครใจเข้ามาปลูกข้าวอินทรีย์กันเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแรงจูงใจจากราคาขายและความต้องการของตลาดที่ยังเปิดกว้าง
คุณประมวล ขันธ์เพชร ประธานกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง” ตั้งอยู่เลขที่ 157 หมู่ที่ 5 ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ บอกว่า ในอดีตชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาการปลูกข้าวมายาวนานจนมีรายได้ลดลงหรือบางรายมีหนี้สินจึงตัดสินเปลี่ยนมาปลูกข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานภายใต้ความอดทนต่อระเบียบ เงื่อนไขทั้งในเรื่องขั้นตอนการปลูก รวมถึงความซื่อสัตย์ เพราะเล็งเห็นว่ากำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคซึ่งมีตลาดรับซื้อแน่นอนในราคาที่ดี
ประธานกลุ่มกล่าวยอมรับว่าการปลูกข้าวอินทรีย์ในยุคแรกของการปรับเปลี่ยนในสังคมคนทำนาด้วยกันยังไม่มีใครยอมรับ หรือแม้แต่ในจังหวัดอำนาจเจริญยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่เข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงต้องหันไปพึ่งแล้วร่วมมือกับทางกลุ่มข้าวอินทรีย์ของจังหวัดยโสธรที่มีระบบ มีความเข้มแข็ง และความโดดเด่นที่มากกว่า
จนกระทั่งเมื่อได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตข้าวอินทรีย์จาก IFORM จากนั้นกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มเริ่มขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วจนเป็นที่รู้จักของกลุ่มข้าวอินทรีย์จากที่อื่นๆ ตามมา
“การสร้างมาตรฐานในระบบอินทรีย์มิใช่เฉพาะขั้นตอนและกระบวนการปลูกข้าวเท่านั้น แต่สมาชิกทุกคนต้องเข้าร่วมแล้วยึดสัจจะตามหลักคุณธรรมด้วยการรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อตลาดผู้บริโภค จนทำให้ทุกวันนี้มีสมาชิกที่มีผลผลิตแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน โดยต้องผลิตข้าวอินทรีย์ทั้งระบบให้ครบวงจรตั้งแต่แปลงนา โรงสี การเก็บเกี่ยวจนไปถึงการบรรจุภัณฑ์”
สำหรับพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105, หอมมะลิแดง, ข้าวหอมนิล ขณะที่ใช้พันธุ์ข้าวดังกล่าวแพ็กใส่ถุงหรือขายเป็นกระสอบแล้ว ในลูกค้าบางกลุ่มยังต้องการให้ผสมข้าวต่างสายพันธุ์ไว้ในแพ็กเดียวกัน อีกทั้งยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์เป็นขนมเพื่อสร้างมูลค่าและทางเลือกให้กับผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย
คุณประมวล บอกว่า ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์จะคัดและเลือกเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในแต่ละรุ่นไว้เพื่อใช้ปลูกในรอบต่อไป แต่สำหรับรายใดที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มข้าวอินทรีย์สามารถใช้เมล็ดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่ก่อนหน้านี้ได้ แล้วให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ที่สมบูรณ์ต่อไปจนถึงในช่วงประมาณ 36 เดือน (3 ปี) จึงจะรับรองว่าเป็นอินทรีย์ ซึ่งชาวบ้านจะปลูกกันเฉลี่ย 10-50 ไร่ ต่อราย
อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาขายข้าวอินทรีย์ที่สูงกว่าราคาข้าวอื่นๆ ตามท้องตลาดแล้ว ทางกลุ่มยังเพิ่มแรงจูงใจให้แก่สมาชิกที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานอย่างสมบูรณ์โดยจะมีสิทธิพิเศษของการขายข้าวในราคาที่เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาทสำหรับในปีแรกเข้าร่วม แล้วจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาทในทุกปีต่อๆ ไปอีก 2 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่รับซื้อจากชาวนาในพื้นที่มีอยู่จำนวน 200 กว่าตัน แล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์แต่ละชนิด
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มมีจำนวนกว่า 20 ชนิด โดยมีราคาจำหน่าย อาทิ ข้าวกล้องมะลิกิโลกรัมละ 50 บาท, ข้าวซ้อมมือมะลิกิโลกรัมละ 50 บาท ข้าวสามพญากิโลกรัมละ 65 บาท ข้าวกล้องนิลกิโลกรัมละ 75 บาท ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์กิโลกรัมละ 70 บาท ข้าวซ้อมมือก่ำน้อยกิโลกรัมละ 65 บาท ข้าวฮางหอมนิลกิโลกรัม 90 บาท ฯลฯ เป็นต้น
การการันตีคุณภาพข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง” ในระดับมาตรฐานสากลจึงทำให้มีลูกค้าประจำหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ จำนวนหลายแห่ง, ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, ไบเทค บางนา, ร้านอาหารซีซซ์เล่อร์ และอื่นๆ อีกหลายแห่ง
หลักประกันจากกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่นคง มียอดการสั่งเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีรายได้จำนวนมาก สามารถสร้างฐานะความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่สมาชิกทั้งเงินขายข้าว พร้อมกับสวัสดิการด้านต่างๆ จึงนับเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่เข้มแข็งระดับจังหวัด
นอกจากนั้นแล้ว ยังนำรายได้ไปเป็นเงินลงทุนซื้อเครื่องจักร สร้างโรงสี สร้างโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จึงทำให้มีกำลังการสีข้าว ซึ่งถ้าเป็นข้าวกล้องสามารถสีได้วันละประมาณ 2 ตัน ส่วนข้าวขาววันละประมาณ 1 ตัน โดยมียอดขายทั้งข้าวกระสอบและบรรจุแพ็กในแต่ละเดือนรวมกันมากกว่า 10 ตัน แล้วมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คุณประมวล เผยว่า ถึงตอนนี้ผู้บริโภคต่างให้ความสนใจกับสุขภาพเพิ่มมาก หันมาบริโภคข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากตลาดยังเปิดรับอย่างต่อเนื่องผู้ผลิตสามารถกำหนดแผนการปลูกที่ชัดเจนได้ ขณะเดียวกัน ชาวนาก็สามารถรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะมีรายได้แน่นอน
สำหรับลูกค้าที่สนใจสั่งซื้อข้าวจะมาสั่งโดยตรงกับผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้ตกลงซื้อ-ขายในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ขณะเดียวกัน ลูกค้าก็มีความสบายใจเมื่อมาพบว่าทางกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์จริง ไม่ได้หลอกลวง อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจผลิตข้าวอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง
ข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง” จะปลูกกันปีละครั้ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มจะไถกลบตอซัง หว่านถั่วเขียว ปลูกแตงโม ซึ่งพืชเหล่านี้ใช้น้ำน้อย แล้วยังขายมีรายได้อย่างต่อเนื่องจากข้าว ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่ปล่อยนาทิ้งไว้เปล่าประโยชน์
“อยากให้เกษตรกรชาวนาหันมาปลูกข้าวอินทรีย์กันมากๆ เพราะประโยชน์ที่แท้จริงจะเกิดกับผู้ผลิตที่ไม่ต้องยุ่งกับสารเคมีและดีต่อสุขภาพระยะยาวด้วย ขณะเดียวกัน ขอฝากผู้บริโภคให้ช่วยกันอุดหนุนข้าวอินทรีย์เพราะมิใช่ทำให้ท่านมีสุขภาพยืนยาวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พี่น้องชาวนาทั่วประเทศด้วย” ประธานกลุ่ม กล่าว
สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปได้ที่ กลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนร่วมใจโนนค้อทุ่ง” โทรศัพท์ (083) 127-4418 หรือที่ คุณประมวล ขันธ์เพชร โทรศัพท์ (093) 398-1550
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.