ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานป๋วยทอล์ค#5 (PUEY TALKS#5) ในหัวข้อ food democracy หรือ “ประชาธิปไตยทางอาหาร” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีการสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับเรื่องอาหารในหลากหลายมุมมอง โดยเฉพาะเรื่อง ‘สิทธิ’ เข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัย ที่ทุกวันนี้ยังมีคนไทยและคนทั่วโลกจำนวนมากขาดสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลให้เกิดวิฤติปัญหาต่างๆ ตามมามากมายอย่างคาดไม่ถึง
นางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า ประชาธิปไตยทางอาหารเป็นกระบวนการแสดงออกซึ่งสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (right to food) ที่เป็นของประชาชนตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการบริโภค เพื่อให้มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อสังคม และดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากขาดสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากระบบอาหารของไทยและโลกกลายเป็นระบอบที่ครอบงำการผลิต หรือ industrial food regime
“industrial food regime คือระบอบที่ครอบงำการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบที่มาทำอาหาร เช่น ไก่ที่กินกับเฟรนช์ฟรายส์คือไก่ที่มีอายุ 45 วัน มีการระบุว่าเป็นไก่ที่ไม่ได้นอน เพราะถูกทำให้อยู่ในระบบสายการผลิต เป็นระบบ ‘การผลิตที่ปล้นผลิตผล’ เป็น ‘ปฏิบัติการจี้ยึดเสบียงอาหารโลก’ เพราะไม่สนใจต่อเกษตรกรรายย่อย ต่อระบบนิเวศ และคุณภาพของอาหาร”
นางวัลลภาชี้ว่า วิกฤติในระบบอาหารวันนี้มองได้ 4 มิติ ที่ไม่ได้พูดถึงต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตอาหาร คือ ต้นทุนด้านสุขภาพ, ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม, ต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนด้านสังคม โดยทั้ง 4 มิตินี้ไม่ถูกนำมาคำนวณในการคิดราคาอาหาร
ทั้งนี้ ในวิกฤติต้นทุนด้านสุขภาพ พบว่าคนไทยมีปัญหาเรื่องโรคอ้วนถึง 30% และเป็นในเด็กถึง 11% เพราะมีรูปแบบการใช้ชีวิตไปกับการบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงในปริมาณมากเกินจำนวน ทั้งแป้ง น้ำมัน น้ำตาล เกลือ
แต่เมื่อต้องการบริโภคผักให้ได้ 400-600 กรัม ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด กลับพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีในผักผลไม้ถึง 50% เหมือนเป็นสถานการณ์หนีเสือปะจระเข้
ส่วนวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มเกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร มีการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัทอาหารเพียงไม่กี่ราย ทำให้กระบวนการได้มาซึ่งวัตถุดิบการผลิตอาหารอยู่ในมือบรรษัทเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการแปรรูปสมบัติสาธารณะ หรือ common property ไปสู่ private property หรือขบวนการแย่งยึดที่ดินด้วยระบบเกษตรเคมีขนาดใหญ่ ทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินและเกิดปัญหาหนี้สิน
นางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“งานวิจัยของกลุ่มมูลนิธิชีวิตไท (local act) บอกว่า เกษตรเคมีกับการเป็นหนี้สินของเกษตรกรมีนัยสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน และขบวนการแย่งยึดที่ดินนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังเกิดในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม มีปัญหาเดียวกันจากการลงทุน”
ในด้านวิกฤติด้านพลังงาน พบว่าประเทศไทยมีความต้องการส่งอาหารไปสู่ตลาดไกลๆ เพราะอยากเป็นครัวโลก แต่ขบวนการผลิตแบบนี้ค่อนข้างสิ้นเปลืองโดยเฉพาะการใช้พลังงานไปกับกับบรรจุภัณฑ์ เช่น อาหารแช่แข็ง เพราะการอยู่ในห้องแช่แข็งนั้นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก และยังพบว่า 1 ใน 4 ของขยะครัวเรือนเป็นขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์
ส่วนวิกฤติด้านสังคม คือทำให้เกิดการแย่งทรัพยากร ปัจจุบันป่าชายเลนหลายแห่งกลายเป็นฟาร์มกุ้ง หรือพื้นที่ทางภาคเหนือปลูกไร่ข้าวโพด ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน คุณภาพชีวิตคนเชียงใหม่อยู่ในขั้นวิกฤติในช่วงฤดูที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเพื่อมาเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งใช้อยู่ในกระบวนการผลิตไก่หรือไข่ให้เรากิน
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า ประชาชนยังมีเสรีภาพที่จะกลับมาสู่คุณค่าที่แท้ของอาหารได้ แต่ต้องไม่เป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น เช่น สามารถรู้ได้ว่าใครคือผู้ผลิตอาหารของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรปลูกข้าวหรือปลูกผัก หากทำอย่างนั้นได้ เชื่อว่าระบบอาหารจะฟื้นคืนมา แม้กระทั่งผู้บริโภคจะลุกขึ้นมาเป็น food activists รณรงค์ขับเคลื่อนให้เกิดทางเลือกใหม่ด้านอาหารก็น่าจะทำได้
“เราจะเลือกไปสู่การผลิตอาหารแบบบรรษัท หรือจะเลือกแบบกระบวนการอาหารท้องถิ่น ผูกโยงเป็นระบบสมาชิก ซึ่งผู้บริโภคให้หลักประกันเกษตรกรและให้ราคาที่เป็นธรรม เกษตรกรก็ให้การรับประกันได้ ดังนั้น ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้รณรงค์ด้านอาหารได้ เพื่อนำประชาธิปไตยกลับมาสู่ระบบอาหารของเรา เหมือนที่ทุกวันนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากลุกขึ้นมาเป็นยังออร์แกนิกฟาร์มเมอร์”
นางวัลลภายังกล่าวว่า ในอนาคตจะต้องทำให้เกิดขบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤติระบบอาหารในเชิงระบบมากขึ้น อย่างเช่นขบวนการ food council ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และได้กระจายไปอยู่ใน 300 เมืองทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งขบวนของ food council เป็นการมองเห็น total food policy รู้ว่าอาหารมาจากไหน และรู้ว่าอาหารจะไปที่ไหน ซึ่งก็คือเรื่องขยะอาหาร (food waste) ว่าจะจัดการกับขยะจากอาหารที่มีจำนวนมากถึง 40% ได้อย่างไร
“เราอยากให้เกิดแบบนี้ขึ้นมาในเมืองต่างๆ และในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องมาช่วยกัน เพราะในกระบวนการสภาอาหารชุมชน เราจะรู้ที่มาและที่ไปว่าเราจะจัดการมันอย่างไร เป็นการผลิตอาหารและการเกษตรเพื่อชุมชน และเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง เพื่อผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของระดับเทศบาล ระดับเมือง”
ผศ. ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มาภาพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ. ดร.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ประเทศไทยมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ทั้งยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ฆ่าเชื้อรา หรือฮอร์โมนเร่งต่างๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
โดยสารเคมีเหล่านี้เข้าไปอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตโดยไม่สมควรจำนวนมาก
สำหรับสารเคมีที่ใช้กันมากคือ “พาราควอต” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมีที่อยากจะให้ประเทศไทยถอนออกจากทะเบียน เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำลายล้างทุกเส้นทางในร่างกาย ไม่มียาแก้พิษ ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง โรคพาร์กินสัน โรคผิวหนังแข็ง เป็นต้น
“พาราควอตเพียงแค่หนึ่งช้อนชา ถ้ากินเข้าไปเสียชีวิตได้ เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทำลายล้างทุกเส้นทางตั้งแต่ทางเดินอาหาร ตับ ไต ลำไส้ หัวใจ สมอง ปอด เป็นสารเคมีที่ไม่มียาแก้พิษ เพียงแค่นี้ก็สมควรที่จะต้องถูกถอนออกจากตลาดได้แล้ว”
ส่วนสารเคมีชนิดที่สอง คือ “คลอร์ไพริฟอส” มีการนำเข้ามานานกว่า 10 ปี ปีละ 63 ล้านกิโลกรัม คนไทยรับเข้าไปในร่างกายเฉลี่ยเกือบคนละ 1 กิโลกรัมทุกปี โดยนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ทำวิจัยได้ข้อสรุปว่า พิษของไกลโฟเซตจะไปดึงเกลือแร่ที่จำเป็นออกจากพืช และทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินและในลำไส้ของคน จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดโรคภัยต่างๆ มากมาย
“ลำไส้ของเราถูกจัดให้เป็นสมองที่สอง แต่เมื่อลำไส้ไม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เราจะเจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันตก ทำให้ร่างกายขาดแคลนอาหาร มีงานวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่าไกลโฟเซตทำให้เอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับกลไกในร่างกายทุกระบบเสียการทำงานไปประมาณ 290 ตัว ทำให้เกิดโรคสารพัด และถ้าใช้สารเคมีตัวนี้มากขึ้น โรคต่างๆ ก็พุ่งตามมา ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน ไขมัน อัลไซเมอร์ มะเร็งต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 22 โรค”
ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ จากการสำรวจล่าสุดพบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นเบาหวานไม่ต่ำกว่า 10% เป็นภาระของระบบมากมาย และยังเกี่ยวโยงกับอาการไตวาย นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลกจัดลำดับชั้นให้ไกลโฟเซตเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง รวมทั้งอาจจะเกี่ยวโยงให้เกิดผลกระทบกับระบบสมองในเด็ก มีโอกาสเป็นโรคออทิซึม ยิ่งใช้สารเคมีชนิดนี้เด็กจะยิ่งเป็นออทิสติกมากขึ้น ขณะเดียวกันยังตรวจเจอสารไกลโฟเซตในผู้หญิงตั้งครรภ์ พบสารเคมีชนิดนี้ในเด็กแรกเกิด ซึ่งมารดาได้มาจากอาหารกินแทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีสารเคมี “คลอร์ไพริฟอส” ที่จะทำลายสมองเด็ก ทำให้เกิดรอยแผลเป็นในสมอง ส่งผลกระทบต่อการเรียน การพัฒนาทางสมอง สมาธิสั้น ฯลฯ ทั้งนี้ มีงานวิจัยจากประเทศแคนาดาพบว่าถ้าเด็กไอคิวลดลงแค่ 5 คะแนน จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 3 หมื่นล้านเหรียญแคนาดา คำถามคือเด็กไทยจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบแบกภาระทางสังคมในอนาคต
“ที่เจ็บป่วยและตายจากสารเคมีวันนี้ เป็นเพียงปรากฏการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็งเหนือแม่น้ำเท่านั้น แต่ยังมีน้ำแข็งซ่อนอยู่ใต้แม่น้ำอีกมากมายมหาศาลที่รอโผล่ขึ้นมา เราจะแบกรับไหวมั้ย จะสร้างโรงพยาบาลอีกกี่โรงถึงจะรองรับได้”
นายอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักคิด-นักเขียน มองว่า อาหารเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกวันนี้หลายคนรู้จักอาหารที่กินน้อยมาก ไม่เหมือนกับในอดีตที่ห่วงโซ่อาหารหยุดอยู่ที่คนคนเดียว คือ ปลูก ปรุง และกินเอง ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่กินมาจากไหน กินแล้วดีหรือไม่ดี
นอกจากนี้การพูดเรื่อง food democracy ในปัจจุบันเหมือนเป็นการพูดกันอยู่เพียงสองกลุ่ม คือคนปรุงกับคนกิน แต่คนที่กำหนดวัตถุดิบแทบจะไม่ได้เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย ดังนั้นประเด็นปัญหาของ food democracy จึงกลายเป็นแค่เรื่องของคนกินเท่านั้น
นายอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักคิด-นักเขียน ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ในอดีต food democracy ของประเทศไทย ดำรงอยู่ทั้ง “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” โดยในส่วนรูปแบบมีลักษณะการแชริง (sharing) ยกตัวอย่างเช่น ลิ้นของคนไทยสมัยก่อนมีความหลากหลายมากชาติหนึ่งในโลก ใครเป็นคนต่างจังหวัดคงจำได้ว่า เวลาไปงานบวชหรืองานบุญใหญ่ บรรดาแม่ครัวแต่ละหมู่บ้านจะทำกับข้าวประชันฝีมือกัน มีการอวดอ้างว่าแกงของใครอร่อยกว่ากัน
หรือเวลาไปกินข้าวในวัดเวลามีงานบุญ อาหารทั้งสำรับหลังจากถวายเพลทั้งหมดจะถูกนำมานั่งกินร่วมกัน กินข้าวกับพ่อแม่พี่น้อง กินข้าวแบบเป็นหมู่เหล่า การกินอาหารแบบปัจเจก การกินแบบฮิปสเตอร์ คนเดียวเงียบๆ เหงาๆ เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนี้ และมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่
ดังนั้น รูปแบบการผลิตอาหารสมัยก่อนจึงเป็นแบบแชริง แชร์ทั้งวัตถุดิบ แชร์รสชาติ ทำให้โอกาสที่คนคนหนึ่งจะกินหวานไปทั้งชีวิต หรือกินเผ็ดทั้งชีวิต มีความเป็นไปได้น้อยมาก รวมทั้งทำอาหารแล้วแบ่งไปให้เพื่อนบ้านกินด้วย โรคภัยก็เกิดน้อย
ส่วน food democracy ในฐานะเนื้อหา ในสมัยก่อนนั้นขึ้นและอิงแอบอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ เสื้อผ้า ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่งอาหารกับยารักษาโรคเป็นตัวเดียวกัน ดังนั้น พิษในอาหารก็จะถูกขจัดด้วยกระบวนการปรุงอาหารเรียบร้อยแล้ว
ยกตัวอย่างคนที่เคยทำแกงขี้เหล็ก เวลามันขมมากๆ ก็ต้องซอยข่าลงไปเพื่อดับความขม ถามว่าสารที่เกิดขึ้นระหว่างข่ากับขี้เหล็กมันฆ่ากันยังไงเป็นเรื่องของโภชนาการ แต่สิ่งเหล่านี้มันเป็นภูมิปัญญา เพราะฉะนั้นอาหารไม่เคยเป็นพิษสำหรับคนไทยเพราะเราทำอาหารให้เป็นยามาตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นในกระบวนการองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหาร
ส่วนการทำอาหารที่อิงแอบกับเสื้อผ้า ยกตัวอย่างเช่น หม่อนไหมในตัวไหม สามารถนำมาทำชาหรือต้มไก่ หรือฟางที่ใช้ปลูกข้าว ก็สามารถนำไปผลิตกับดินเหนียวเพื่อทำเป็นฝาบ้าน ดังนั้น ในอดีต 4 อย่างนี้มันเป็นวัฏจักรของการหมุนเวียนซึ่งกันและกัน นี่คือ food democracy
“ฟู้ดต้องก่อให้เกิดที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยต้องแชร์ให้เกิดเสื้อผ้าได้ เสื้อผ้าก่อให้เกิดยา ยาก่อให้เกิดที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยก่อให้เกิดอาหาร อาหารก่อให้เกิดเครื่องนุ่งห่ม ทุกอย่างไม่เคยถูกแยกในปัจจัยการดำรงอยู่แบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันเราจึงมีปัญหา เพราะแยกอาหารออกจากกระบวนการคิดในการดำรงอยู่”
นายอนุสรณ์ยังเล่าว่า ไมเคิล พอลแลน นักเขียนเรื่องอาหารบอกว่า ไม่ว่าคุณจะทำอาหารเป็นหรือไม่เป็น ควรจะมีหนึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ที่หัดทำอาหารกินเอง เพราะเป็นการฝึกให้มือกลับมาทำงาน และจะได้รู้ว่ามีอะไรเข้าไปในร่างกาย ซึ่งประโยคแบบนี้น่าสนใจมาก ซึ่งหากวิเคราะห์แบบง่ายๆ ก็คือ ร่างกายมนุษย์หรือความเป็นมนุษย์ มันประกอบไปด้วย “2 อา”
ในแง่ของจิตใจมนุษย์ต้องการ “อากาศ” เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจ แต่ร่างกายต้องหล่อเลี้ยงด้วย “อาหาร” เราไม่เข้าใจอากาศและบอกว่าต้องจัดการกับมลพิษในกรุงเทพฯ แต่อีกด้านหนึ่งเรากลับอยู่กับมลพิษด้านอาหารเป็นเวลานานมาก โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามว่าเรากินอะไรเข้าไป
“กระบวนการความคิดเกี่ยวกับอาหารแบบนี้เองที่ผมคิดว่าร่างกายมันต้องรู้จัก 2 อา โดยเฉพาะอาหาร ที่เราไม่ตั้งคำถามว่าเรากินอะไร เพราะทุกคนไปกินของที่ซื้อกินได้ง่าย” นายอนุสรณ์กล่าว
นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาภาพ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายบุญสม อัครธรรมกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนบทความเรื่อง “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” โดยพูดถึงอาหารว่าเมื่อเราอยู่ในท้องแม่ แม่จะต้องได้รับอาหารที่ถูกต้องมีสุขอนามัย เพื่อให้ลูกในท้องพร้อมจะคลอดออกมาโดยสมบูรณ์ แปลว่าประชาชนทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกได้ว่าอยากได้อาหารที่ปลอดภัยเพื่อลูกหลาน เพื่อสุขอนามัยที่ดีในสังคมอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เด็กไทยวันนี้เป็นโรคอ้วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่โรคมะเร็งมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด ยังไม่นับโรคไตที่เครื่องฟอกไตมีไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่เข้าคิวรอฟอกไต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชี้ชัดว่าต้องมีความผิดปกติในเรื่องโภชนาการอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบทุนที่หนุนเสริมอำนาจรัฐใช่หรือไม่ อำนาจรัฐจึงบีบบังคับให้ต้องประชาชนกินอาหารหรือได้รับสารพิษอย่างไม่มีทางเลือก ดังนั้น ประชาธิปไตยทางอาหารจึงเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่ควรจะได้รับ หากรัฐบาลเห็นแก่คุณภาพชีวิตของประชาชนจริงๆ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.