ดูเหมือนจะเป็นแนวทางการทำงานของบ้านเมืองเรา เมื่องานใดๆ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานมาช่วยกันทำ เสร็จแล้วบูรณาการการทำงานร่วมกันไม่ได้ก็จะแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งองค์กร หรือหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ
บางหน่วยงานก็จัดตั้งขึ้นมาเพราะอยากจะให้มีคนกำกับดูแลเพียงคนเดียว เช่น เรื่องของการบริหารจัดการน้ำของประเทศ มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ เดิมเมื่อแรกตั้งชื่อว่า สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นมาแล้วก็มาหาคนทำงาน โยกเอา ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ ซึ่งนั่งเป็นอธิบดีกรมชลประทานได้เพียง 2 เดือน มาเป็นเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แล้วก็ยืมบุคลากรของกรมชลประทานมาอีกโขยง เพื่อทำงานตามภารกิจของหน่วยงานใหม่ ในขณะที่ กรมทรัพยากรน้ำ ก็ยังอยู่กรมชลประทานก็ยังอยู่ และทั้ง 2 กรม มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกัน
ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลง จะจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ขึ้นมาอีกแล้ว วัตถุประสงค์คือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ให้สอดรับกับโครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยจะขยายพื้นที่เพาะปลูก สร้างมูลค่า และขยายตลาด
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์กว่า 2.27 แสนไร่ เกษตรกรกว่า 1 หมื่นราย เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกของประเทศประมาณ 150 ล้านไร่ ก็นับว่าน้อยมากเพียง 0.1% เท่านั้น แม้อยากจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอีกเท่าตัวก็ยังน้อยอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การผลิตพืชอินทรีย์ต้องใช้ความประณีตและเอาใจใส่ค่อนข้างสูง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เกษตรกรรายย่อยจึงไม่สามารถทำในพื้นที่มากๆ ได้ โอกาสจะขยายพื้นที่ให้ทันอกทันใจจึงดูจะยากยิ่ง
การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ณ เพลานี้จะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนไปรึเปล่า
ปัจจุบันหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ คือ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจสอบ และให้เครื่องหมายรับรอง Organic Thailand สำหรับพืช กรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์ในพื้นที่ กรมพัฒนาที่ดินพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมการผลิตสินค้าประมง และปศุสัตว์อินทรีย์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์
ถ้าจะตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้นมา เพื่อทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ครบวงจรก็คงต้องดึงภารกิจของหน่วยงานที่ว่ามาไปทำให้หมด รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือ CIM (Commerce Intelligence of MoC) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับตลาดสินค้าอินทรีย์ ตลอดจนภารกิจที่มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทำเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น การจัดทำหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ เข้ามาด้วย
เรื่องแรกที่สถาบันนี้ควรทำ ไม่ใช่การขอให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร เพื่อไปทำเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 5,000 ล้านบาท สิ่งแรกที่ควรทำคือการให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้รู้จักเกษตรอินทรีย์อย่างถ่องแท้ว่ามีกฎ กติกา สากลว่าอย่างไรจึงจะเป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าปลอดสารพิษเท่านั้น
ไปส่องดูยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็นประธานในขณะนั้น (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ก็พบว่ามีข้อหนึ่ง เป็นข้อสุดท้ายในยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ระบุว่า “จัดให้มีการศึกษาแนวทางในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในอนาคต”
แค่ให้ศึกษาเท่านั้น ยังไม่ได้ให้จัดตั้ง......ศึกษาหรือยังเจ้าคะ... เดี๋ยวจะไปไม่เป็นเมื่อนำภารกิจของหลายหน่วยงานมารวมกัน
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 23 มี.ค. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.