วันที่ 1 มีนาคม 2561 ที่ข่วงเมืองน่าน จ.น่าน เลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา (Pledge) ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์PGSน่าน ที่มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาในการใช้ห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบเพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ. น่าน และร่วมแก้ปัญหาป่าน่านที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน
นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ให้รายละเอียดงานว่า การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดน่านดำเนินการโดยเลมอนฟาร์ม ร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยดำเนินการพัฒนารูปแบบกรณีศึกษาการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มต้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 18 เดือน ในขั้นต้นมีเกษตรกรรายย่อยเป็นสมาชิกจำนวน 53 ราย พื้นที่ที่เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ 328 ไร่ ใน 7 อำเภอของจังหวัดน่าน จาก 3 เครือข่ายย่อย ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์พีจีเอสน่าน, กลุ่มฮอมใจ๋คนกล้าเกษตรอินทรีย์ พีจีเอสและกลุ่มCu Nan โดยในพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดเมื่อเข้าสู่กระบวนเกษตรอินทรีย์ได้หยุดการใช้สารเคมีเกษตรโดยสิ้นเชิง หยุดการปลูกข้าวโพด หยุดการบุกรุกป่าโดยทันที โดยเปลี่ยนมาสู่การฟื้นฟูดินในวิถีเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันในจำนวนสมาชิก 53 ราย ผ่านการรับรอง Organic PGS แล้ว 18 ราย อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 33 ราย ทั้งนี้เกษตรกรที่ผ่านระยะปรับเปลี่ยน 1 ปีแล้ว ได้เข้าสู่การเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่านและจำหน่ายในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว ได้แก่ ผักสลัดและพืชผักต่างๆ แคนตาลูป เกฟกูสเบอรี่ ข้าวก่ำ ถั่วต่างๆ ลูกเดือย งาขี้ม้อน เป็นต้น โดยในกรณีศึกษาเบื้องต้นนี้เกษตรกรบางรายมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชเคมีเชิงเดี่ยว 7 เท่า (จาก 1,500 บาท เป็น 5,000 – 11,000 บาท/ไร่ และบางส่วนสามารถทยอยปลดหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมทำเกษตรเคมี และเป็นอาชีพรองรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาและกลับสู่บ้านเกิด
กระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ภายใต้ Lemon Farm Organic PGS Model เป็นกระบวนการรับรองอย่างมีส่วนร่วมหรือ Participatory Guarantee System ที่ดำเนินการภายใต้ระบบ PGS IFOAM มาตรฐานของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ได้ประกาศในเดือนกันยายน 2560 ให้การยอมรับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS เป็น 1 ใน 3 เครือข่ายสำหรับเข้าร่วมโครงการสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน โดยเป็นระบบ PGS ที่อ้างอิงมาจากมาตรฐานอินทรีย์ระดับประเทศหรือสากล มีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมให้การรับรองของสมาชิกกลุ่ม
นอกเหนือจากการดำเนินการในจังหวัด โครงการฯยังได้มีการดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Organic PGS กับเกษตรกรรายย่อย 11 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด ภายใต้ “โครงการจัดการระบบการตลาดและการผลิตอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาพผู้บริโภค ผู้ผลิต” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ยโสธร และน่าน รวมสมาชิก 197 ราย พื้นที่ 2,009 ไร่ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์รูปแบบนี้ ความสำคัญอยู่ที่การดำเนินการทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Organic Value Chain) ตั้งแต่การตลาด การจัดการ และการผลิต จึงทำให้วงจรเกษตรอินทรีย์สามารถช่วยเกษตรกร ช่วยสุขภาพผู้บริโภคและช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่อง
ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับภาคี ภาครัฐ และเลมอนฟาร์มโดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาต้นแบบเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดน่านโดยใช้ Organic PGS Model เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นลดการใช้สารเคมีเกษตรลงซึ่งปัจจุบันน่านนำเข้าสารเคมีการเกษตร 2,400,000 กก./ปี ในปี 2558 รวมทั้งแก้ปัญหาป่าน่านที่เสื่อมโทรมลงจากการเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปัญหาหมอกควันจากการเผา และมุ่งหวังให้เกิดการสร้างอาหารดีให้แก่คนเมืองน่านเพื่อสร้างสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ต่อไป โดยตั้งเป้าหมายว่า ณ สิ้นปี 2562 จะมีเกษตรกรต้นแบบในส่วน Cu Nan Model ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็น 40 ราย พื้นที่เพิ่มเป็น 300 ไร่ (จาก 144 ไร่) มูลค่าการผลิต 1.2 ล้านบาท และสร้างอาหารเกษตรอินทรีย์ให้แก่ จ.น่านทดแทนการนำเข้าอาหารจากภายนอก ซึ่งปัจจุบัน น่านพึ่งพาแห่งอาหารจากภายนอก 92%
การทำปฏิญญาของเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์น่านทั้ง 3 เครือข่ายในวันนี้จึงเป็นการแสดงพันธะสัญญาต่อประชาคมน่านในการหันหลังให้สารเคมีและหันมาสู่การเกษตรอินทรีย์เชิงสร้างสรรค์ให้เป็นต้นแบบต่อเกษตรกรรายย่อย ต่อประชาคมชาวน่าน และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของป่าน่านที่เป็นต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.