รายงานพิเศษ
เมื่อครั้งวันแรกที่ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้ารับตำแหน่งวันแรกได้ลั่นวาจาว่า ใน 3 เดือนที่เข้าทำงานจะเห็นมรรคเห็นผล เกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย ต้องขายผลผลิตด้านการเกษตรได้ราคาดี โดยเฉพาะ ข้าว และยางพารา
ครบ 3 เดือนแม้ชาวนาจะไม่ได้ออกมาเรียกร้องอะไร เพราะขณะนี้ข้าวยังทยอยเก็บเกี่ยว ราคาที่ชาวนาขายได้ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง
แต่ยางพาราเหมือนจะเป็นสินค้าตัวเดียวที่แม้ราคากระเตื้อง แต่ยังมีการชุมนุมเรียกร้องจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ว่าราคาที่นายกฤษฎา ประกาศไว้ ณ วันที่ เข้ารับตำแหน่งต้องยืนเหนือ 60 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) นั้นยังห่างไกล
รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็กำชับมาหลายครั้ง กระทรวงเกษตรฯต้องร่วมกับภาคเอกชน ช่วยเหลือชาวสวนยางให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นเหนือต้นทุนการผลิตของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คำนวณไว้ที่ประมาณ 62 บาท/ก.ก.
ล่าสุดรมว.เกษตรฯ ทำหนังสือเชิญสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าหารือเพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าวและยางพารา
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ให้แนวทางเกี่ยวกับการปรับตัวเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพของเกษตรกร ว่า ภาคการเกษตรของไทยจำเป็นที่ต้องปรับตัว เพราะความสามารถแข่งขันของไทยลดลงเรื่อยๆ จากต้นทุนที่สูง และความสามารถที่เคยมีถูกไล่ล่าโดยประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะเพื่อนบ้านที่เพาะปลูกพืชชนิดเดียวกับไทย คือ ข้าว ยางพารา และปาล์ม
เกษตรกรไทยจึงต้องปรับตัว โดยพัฒนาโครงสร้างเกษตรทั้งระบบ พัฒนารายสินค้า ปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรให้แม่นยำและทันเวลา รัฐบาลต้องเน้น การลงทุนด้านการวิจัย นำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ ใช้ระบบความร่วมมือระหว่างกัน โดยการศึกษา ติดตาม คัดเลือก ประเมินผล ร่วมกันระหว่างรัฐ สถาบันการศึกษา ประชาสังคม และเกษตรกร
“รัฐบาลควรหยุดสนับสนุนเงิน หรือการันตีราคา หรือแทรกแซงราคายาง ข้าว หรือสินค้าเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะ ข้าว ยาง มัน เพราะพืชเกษตรเหล่านี้ ล้วนเป็นพืชการเมือง เกษตรกรรวมตัวกันเข้มแข็งเพื่อเรียกร้องกับรัฐบาล หากราคาตกต่ำก็รวมตัวเข้ามาเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การพยุงราคา บิดเบือนราคาตลาด”
นายนิพนธ์กล่าวและว่า สิ่งที่รัฐบาลเลือกตั้งทำมาทั้งหมด คือทำลายความสามารถในการแข่งขัน ทำลายการพัฒนาอาชีพเกษตรกร ถ้ายังช่วยเหลือแบบนี้ต่อไป ทั้งราคา ข้าว ยาง ก็จะไม่มีทางปรับตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อมีรัฐบาลทหาร แต่ 3 ปีกระทรวงเกษตรฯยังคงทำงานเหมือนเดิม คืออุดหนุน แจกเงิน ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเลือกตั้ง การช่วยเหลือเกษตรกร หากต้องทำ รัฐบาลควรช่วยรายย่อย อาทิ ชาวสวนยางที่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ ชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และเร่งลดปริมาณเกษตรกรให้เหลือ 20% ของจำนวนประชากร เพื่อผลักดันให้รายได้ต่อหัวของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันเกษตรกรมีสัดส่วน 30% ของประชากร มีสัดส่วน 7.7% ของผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องเร่งลดสัดส่วนประชากรภาคเกษตร ให้เหลือน้อยลงใน 20 ปีข้างหน้า
“หากต้องการรอดพ้นจากกับดักเหล่านี้ ต้องทำอย่าง สหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรภาคเกษตรให้ลดลงให้เกษตรกรไปอยู่ในภาคอื่นๆ ต้องใช้เวลา 100 ปี ขณะนี้รัฐบาลมีการลงทะเบียนคนจน ควรช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการช่วยเหลือคนจน ทีดีอาร์ไอประเมินว่า ควรมีไม่เกิน 4 ล้านคน แต่รัฐบาล ลงทะเบียนมีกว่า 11 ล้านคน”
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว
ในที่ประชุมหารือ นายกฤษฎาสอบถามถึงนโยบายชะลอการกรีดยางพารา อุดหนุนเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง มาถูกทางหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ยอมรับว่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ พร้อมแก้ไขในระยะยาว เพื่อความยั่งยืนและให้ปรับเปลี่ยนอาชีพไปปลูกพืชอื่น
จากการรับฟังข้อเสนอทีดีอาร์ไอแล้ว จะเรียก ผู้ประกอบการยางพารา ผู้ผลิตล้อยาง ผู้ผลิตถุงมือยาง ถุงยาง เข้าพบเพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อช่วยเหลือชาวสวน และรวมไปถึงจะหารือกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อขอความร่วมมือชะลอการกรีดยาง 3 เดือนโดยชดเชยให้รายละ 4,500 บาท/ไร่
ส่วน นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า มาตรการที่ใช้ ไม่เชื่อว่าจะผลักดันราคาเพิ่มขึ้นได้ ทั้งให้เงิน 4,500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน หรือการชะลอการส่งออก เพราะปัจจัยชี้นำราคายางคือราคาน้ำมันในตลาดโลก สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสื่อสารให้ชาวสวนยางรู้ว่ายางพาราเป็นพืชที่ไม่มีอนาคต ให้เขาเลิกปลูกเองเมื่อไม่ไหว ไม่ใช่เอาเงินไปให้แล้วบอกว่าเลิกปลูก
หากยังทำแบบนี้มันก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องปล่อยให้เกษตรกรคิดได้เองว่ายางพาราคือพืชที่ไร้อนาคต เมื่อนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนเรื่องปลูกพืชอื่น เคยถามหลายครอบครัวคนใน 3 ชายแดนภาคใต้ว่า จะปลูกพืชอื่นไหม เขาบอกปลูกยางดีกว่า แล้วถามว่าราคาเท่าไหร่จะหยุดกรีด ซึ่งจากที่สำรวจแรกๆ ชาวบ้านบอก 15 บาท/ก.ก. เพราะฉะนั้น อย่าไปบอกว่าอย่าปลูกเลยมันไม่ดี ให้บอกว่าในอนาคตไม่ดีแล้วให้ชาวสวนคิดเองดีกว่า
ผู้อํานวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ บอกอีกว่าที่ราคายาง ถูกกดราคาจาก 5 เสือส่งออก ส่วนตัวไม่เชื่อ เพราะตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือราคาน้ำมันดิบ และช่วงหนึ่ง ที่ราคาน้ำมันดิบขึ้น ราคายางก็เพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะว่าน้ำมันขึ้นได้ทันที ยางต้องรอเก็บก่อน อนาคตรถจะมีขนาดเบาลง ใช้ยางเส้นเล็กลง อายุการใช้งานของยาง ก็อาจจะนานขึ้นด้วย
สิ่งแรกที่รัฐควรทำ คือส่งสัญญาณว่ายางเป็นพืช ที่อนาคตไม่ค่อยสดใส อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่เมื่อรัฐบาลอุดหนุน ด้วยมาตรการพยุงราคา ส่งผลให้พืชเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว จีน พม่า ได้ประโยชน์ด้วยเงิน งบประมาณของไทย
ส่วนความร่วมมือกับ 3 ประเทศผู้ผลิตยาง ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่มีอะไรสำเร็จกันจริงจัง เพราะไม่มีการตรวจสอบ รัฐบาลไทยทำไปเหมือน การันตีราคาให้เอกชน มันก็คือการเอาเงินไปให้นายทุนแทนเกษตรกร
ขณะที่นายกฤษฎากล่าวว่า ไม่ต้องการแข่งกับใคร ทำเพราะต้องการให้ชาวสวนยางมีลมหายใจ กำลัง เดินหน้านโยบายให้ชาวสวนยางไปต่อได้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า แต่ว่าจะไม่ขยายพื้นที่การปลูกยาง ให้ บางส่วนเริ่มทำพืชแซมสวน ทำอาชีพอื่น พยายามบอกชาวสวนยางว่า ปรับเปลี่ยนอะไรแต่เกษตรกรมองว่า ยางทำราคาได้ดีกว่า ปัญหาน้อยกว่า
เมื่อเกษตรกรไม่ทิ้งมีด เราจะไม่บอกให้เขาหยุดทำอาชีพเกษตรกร สัปดาห์หน้าจะประชุมร่วมกับ ผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปยางภายในประเทศ ซึ่งจะเสนอมาตรการระยะต้น ระยะกลาง เพื่อให้ยางฟื้นตัวไปได้ จะเดินหน้าตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้า แต่อยากให้ตั้งใหม่แล้วเป็นยูเอสดอลลาร์ แข่งกับตลาดเซี่ยงไฮ้
อย่างไรก็ตามอนาคตยางและไม่สามารถกำหนดตลาดได้ แต่พอรัฐบาลประกาศหยุดกรีดราคายาง ก็ขึ้น วันนี้ราคายางอยู่ที่ 49 บาทต่อก.ก. และมี ผู้ประกอบการรายใหญ่โทร.มาบอกผมว่า ให้ผมยันเรื่องหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ไว้ เพราะจะเห็นราคายางไม่ต่ำกว่า 55 บาท ต่อก.ก.ภายในอาทิตย์หน้าแน่นอน ซึ่งไม่รู้ผมเชื่อเขาได้หรือเปล่า
ในเรื่องของราคายาง นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าฯการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยืนยันว่า มาตรการชะลอกรีดหรือชะลอส่งออก ทำทุกครั้งราคาเพิ่มขึ้นตลอด จึงมีแนวโน้มว่าจะเดินหน้า 1.ขอความร่วมมือหยุดกรีดยาง 2.เร่งรัดใช้ยางในประเทศมากขึ้น 3.ปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือปลูกพืชอื่นแซมสวนยาง
ดูเหมือนข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ที่อยากให้รัฐเลิกการอุ้มหรือพยุงราคายาง-ข้าว หรือมัน น่าจะทำได้ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลทหารก็หนีวังวนช่วยเหลือ”พืชการเมือง”นี้ไม่ได้
แต่อย่างน้อยเรื่องยางรัฐชัดเจนว่าจะไม่ให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมากกว่านี้ ส่วนจะทำได้อย่างที่หวังหรือไม่…ต้องตามดูกันไป
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.