จากการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนประเทศ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางให้แก่ผู้ร่วมประชุม ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดรวมกว่า 2,800 คน เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบวาระงานสำคัญด้านเศรษฐกิจและสังคม กับด้านความมั่นคง โดยมีนโยบายหลัก 10 เรื่อง
1.สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2.คนไทยไม่ทิ้งกัน 3.ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4.วิถีไทยวิถีพอเพียง 5.รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6.รู้กลไกการบริหารราชการ 7.รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8.รู้เท่าทันเทคโนโลยี 9.ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด 10.งานตามภารกิจของส่วนราชการ หน่วยงาน
ขับเคลื่อนโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ผ่านทีมขับเคลื่อนในระดับอำเภอ 878 อำเภอ ระดับตำบล 7,663 ทีม แบ่งเป็น 7,255 ทีมตำบล 208 ทีมเทศบาล 200 ทีมใน กทม. รวมหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ 83,515 แห่ง ลงไปสู่ประชาชน 66.1 ล้านคน โดยจะเริ่มคิกออฟพร้อมกันในวันที่ 21 ก.พ. 2561
ขับเคลื่อนจังหวัดส่งเสริมเกษตร
นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรับมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น สามารถนำนโยบายมาทำความเข้าใจกับทีมงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และอาจกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนด้วยการจัดประกวดละครเวทีไทยนิยม ยั่งยืนใน 10 หัวข้อ และนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เฟซบุ๊ก ไลน์กรุ๊ป ในการประสานงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้ประชาชนสามารถติดตามได้ ขณะเดียวกันนำ big data มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนชุมชนฐานรากให้ทันสมัยในฐานะที่เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ขอนแก่นจะเป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการนี้ เพราะมีความหลากหลายและเป็นเมืองที่ชูความเป็นสมาร์ทซิตี้ ไมซ์ซิตี้ เป็นเมืองที่เจริญ แต่ก็มีสังคมอีกแบบหนึ่งที่เป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่ เราจะต้องเดินไปด้วยกัน ให้ได้ประโยชน์ด้วยกัน ฝั่งที่เจริญก้าวหน้ากับฝั่งเกษตรกรรมจะได้ประโยชน์ร่วมกัน นี่คือจุดประสงค์ที่สำคัญที่ทำให้เกิดไทยนิยมยั่งยืน” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าว
ขณะที่นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้จังหวัดชัยภูมิได้ประชุมหารือกับทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคิดโครงการก่อนสรุปประเด็นให้เข้าใจตรงกัน และได้เชิญหน่วยงานหลักในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมส่งเสริมอาชีพทางด้านการเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ บริหารจัดการน้ำ บัญชีสหกรณ์ การพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลอยากให้เกิดการบูรณาการ ฉะนั้นต้องหาข้อสรุปในภาพรวมให้ได้ก่อน โดยมีนายอำเภอรับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ
“เราทำงานแบบเป็นทีมฟุตบอล โดยมีผมเป็นกัปตันทีม รองผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดเป็นกองหลัง ส่วนนายอำเภอเป็นหัวหน้ากลองกลาง และประชาชนคือกองหน้าที่ต้องยิงประตูให้สำเร็จ โดยต้องร่วมกับหน่วยงานราชการในการขับเคลื่อนโครงการ ก่อนการรับมอบนโยบาย ทีมงานได้มีการลงพื้นที่ไปพบกับผู้นำท้องถิ่นครบทุกอำเภอแล้ว เพื่อรับฟังความต้องการของประชาชน ซึ่งมีทีมตำบลทั้งหมด 125 ทีม 124 ตำบล 1 เขตเทศบาล ที่จะลงไปทำงานในวันที่ 21 ก.พ. 2561”
ชูท่องเที่ยวโดยชุมชน
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการระดับตำบล หรือทีมตำบล 89 ทีม และตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและอำเภอเรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำความเข้ากับเจ้าหน้าที่ในระดับอำเภอผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังจากประชุมรับมอบนโยบายจะเรียกทีมตำบล ทีมละ 7-12 คน มาพูดคุยกัน และมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการดูแล
คนละตำบลในวันที่ 21 ก.พ. 2561 จะคิกออฟรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จากนั้นจะเริ่มทำงานร่วมกันทั้งหมด 10 เรื่อง แต่ชูเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพราะจังหวัดเลยเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งในการดำเนินงานเลือกอำเภอละ 3-5 ชุมชน จาก 14 อำเภอ ให้ดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน
เช่นเดียวกับจังหวัดสตูล นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ออกคำสั่งจัดตั้งชุดปฏิบัติที่จะลงไปพูดคุยกับประชาชนและสั่งการถึงอำเภอเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ต้องให้ทีมลงไปพูดคุยกับชาวบ้านถึงปัญหาและความต้องการให้ตรงจุด เนื่องจากจังหวัดสตูลมีชาวมุสลิมจำนวนมาก จึงต้องมีการเชิญผู้นำศาสนามาให้ความคิดเห็นด้วย ขณะเดียวกันนั้นจะต้องมองถึงยุทธศาสตร์ของชาติ ภูมิภาค และจังหวัดด้วย โดยจังหวัดสตูลจะเน้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน
พร้อมคิกออฟนโยบาย “บิ๊กตู่”
ส่วนนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมามีผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนกว่า 75,000 คน ดังนั้นทีมตำบลต้องไปรับฟังปัญหาความต้องการของราษฎร 2 ระดับ ทั้งระดับบุคคลและระดับหมู่บ้าน โดยเริ่มดำเนินการวันที่ 16 ก.พ. 2561 และต้องแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
นอกจากนี้ต้องมีการจัดระบบเพิ่มเติมในเรื่องไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยการให้ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ เกษตรจังหวัด ไปเป็นที่ปรึกษาการปฏิบัติงานในแต่ละตำบล
ด้านนางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ตอนนี้จังหวัดเพชรบุรีมีกลไกการทำงานเตรียมพร้อมแล้ว และมีคำสั่งจังหวัดถึงนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ให้จัดตั้งชุดระดับตำบล 7-12 คน การเข้าร่วมประชุมรับมอบนโยบายจากนายกฯ ถือว่ามีการชี้แจงชัดเจนมาก ภายในวันที่ 21 ก.พ.จะต้องประชุมชี้แจงกลไกระดับจังหวัดครั้งที่ 1 เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในระดับอำเภอก่อนลงมือปฏิบัติงาน ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเห็นเป็นรูปธรรม เพราะต้องรู้ปัญหาภายในจังหวัดเสียก่อน จะได้รู้ว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร
แม้ช่วงเริ่มต้น “ไทยนิยม ยั่งยืน” จะได้รับการขานรับแข็งขันจากฝ่ายปฏิบัติ แต่เวลาจะพิสูจน์ผลงานว่า แนวทางใหม่จะตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ ก้าวสู่จุดหมายความยั่งยืนได้สำเร็จหรือไม่
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 ก.พ. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.