คงจะหลงใหลได้ปลื้มกับดัชนีความทุกข์ยากที่ไทยได้รับการจัดอันดับให้มีต่ำสุดในโลก จนกลบความเป็นอันดับ 3 ชาติที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกไปได้ชั่วคราว
ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ผลการจัดอันดับประเทศที่มีความทุกข์ยากตามดัชนีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ (Misery Index)โดยประเทศไทยยังคงครองแชมป์ประเทศที่มีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลกเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ตามมาด้วยสิงคโปร์ ,ญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์ และไต้หวัน จนนายกรัฐมนตรีเป็นปลื้มนั้น
แท้จริงแล้ว เป็นภาพลวงตา เพราะตัวชี้วัดค่าความทุกข์ยากตามที่บลูมเบิร์กใช้จัดอันดับนั้น มีแค่ 2ตัวคือ อัตราขยายตัวของเงินเฟ้อกับอัตราจ้างงาน
ตัวชี้วัดความทุกข์ ความสุข ฐานะทางเศรษฐกิจ หนี้สิน ความเหลื่อมล้ำทั้งทางสังคม ทั้งรายได้ สุขภาพ สวัสดิการสังคม ฯลฯ มีนับสิบๆตัวชี้วัด
การใช้อัตราเงินเฟ้อกับอัตราจ้างงานเป็นตัวชี้วัดจึงไม่สะท้อนความสุขความทุกข์ได้ เพราะตัวชี้วัดเหล่านี้ สามารถควบคุมหรือบิดเบือนได้
อย่างอัตราขยายตัวของเงินเฟ้อนั้น ยามใดที่อัตราขยายตัวของเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลาง ไม่ว่าจะFed ของอเมริกา BOJ ของญี่ปุ่นPBOC ของจีน ECB ของยุโรป จะใช้วิธีขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ธนาคารกลางของเรา ( BOT) เรียกว่าดอกเบี้ยนโยบาย
ตอนนี้ BOT กำลังขัดกับกระทรวงการคลัง เพราะคลังต้องการให้มีสภาพคล่องในระบบคือเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นโดยการลดอัตราดอกเบี้ย
แต่ BOT ยังทำเฉย ประชุม กนง.ล่าสุดเมื่อ 14 ก.พ. ยังคงยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%
เป็นอัตราที่คงที่มาตั้งแต่การประชุม 29 เม.ย. 2558 มาจนถึงปัจจุบัน 36 เดือน(จนถึงประชุม กนง.ครั้งหน้ากลางเดือนหน้า)
ดอกเบี้ยสูง ต้นผลิตสินค้าก็สูงของก็แพง คนก็จับจ่ายใช้สอยน้อยลง การบริโภคภายในประเทศต่ำ
ช่วงปี 2558-59 อัตราเงินเฟ้อเคยติดลบต่อเนื่องกว่า 15 เดือนจนเข้าข่ายเงินฝืด อันเป็นคำเดียวกันกับ “ฝืดเคือง” เหตุกำลังซื้อในประเทศหดตัวหรือลดลงอย่างรุนแรง
สำหรับปีนี้ ยังจะถูกกดให้ต่ำอยู่อีก หากใช้เป็นองค์ประกอบในการหาค่าดัชนีความทุกข์ยาก ไทยก็คงจะเป็นแชมป์เหมือนปีนี้
โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ 1.6% จากปี 60 ที่เฉลี่ย 0.8 %
หากต้องการให้เกิดสภาพคล่องสูง ลดดอกเบี้ยลงอีกสัก50 สตางค์ อัตราขยายตัวของเงินเฟ้อน่าจะเป็น 2.0-2.5% คือเฟ้ออ่อนๆ เงินหาง่าย ทำมาค้าขายคล่อง
การที่ดอกเบี้ยสูง ทำให้ต้นทุนผลิตสูง สินค้าย่อมจะแพงตามต้นทุน ผู้บริโภคก็จะกินใช้น้อยลง การบริโภคภายในประเทศอันเป็นส่วนหนึ่งของอัตราเติบโตของจีดีพี ก็จะต่ำ
กำลังซื้อต่ำ ยังสะท้อนถึงการจ้างงานต่ำ เพราะรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่เกิดจากการจ้างงานหรือมีงานทำ
ส่วนที่ว่า อัตราจ้างงานของไทยสูงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภาพลวงตา
เพราะการว่างงานหรือจ้างงานนั้นมี 2 แบบ
แบบหนึ่งคือว่างงานแบบ ไม่มีงานทำ กับอีกแบบคือว่างงานต่ำระดับ คือมีงานทำ แต่ได้ค่าจ้าง ค่าแรงต่ำกว่าวุฒิหรือต่ำกว่าที่ควรจะได้
อย่างเช่นจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างคนใช้พม่าตามบ้านเป็นต้น
ถ้าเอารายได้เป็นตัวชี้วัดค่าของความสุข คนไทย 7 คน จะมีคนที่ไม่มีความสุขหรือสุขน้อยกว่าคนอื่นๆอยู่ 1 คน
ทั้งนี้เพราะคนไทยขึ้นทะเบียนคนจน 11 ล้านคน(ขอขึ้นทะเบียน 14 ล้านคน) จากจำนวนประชากร 77 ล้านคน
ขณะที่คนรวยแค่ 1% ครอบครองทรัพย์สิน เงินทองมากเท่ากับคนไทยอีก 99% มีรวมกัน
(ข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับของนิตยสารฟอร์บส)
อาจจะแย้งว่า คนจนก็มีความสุขได้ ซึ่งก็เป็นจริง คือดูที่พระสงฆ์(แท้)เป็นตัวอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีปัจจัย ไม่สะสมอาหาร บิณฑบาตยังชีพ ท่านก็มีความสุขได้
แต่สำหรับคนธรรมดา รายได้หมายถึงสิ่งยังชีพพื้นฐานด้วยปัจจัยสี่ อาหาร-ที่อยู่อาศัย-เสื้อผ้า-ยารักษาโรค
ตัวชี้วัดความสุข ความทุกข์อีกตัวคือความเหลื่อมล้ำตั้งแต่รายได้ไปจนถึงความเป็นอยู่สวัสดิการสังคมทุกด้าน
สถาบันการเงินเครดิตสวิส เปิดเผยรายงานความมั่งคั่งของโลก (Global Wealth Report 2016) เมื่อปีก่อน ระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย
โดยคนรวย ที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ
ปีนี้จะอยู่ที่เดิมหรือแซงอินเดียยังไม่อาจะคาดเดาได้ เพราะนับวันช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมีแต่ถูกถ่างออกไปยิ่งขึ้น
ความทุกข์ของคนไทยอีกกลุ่มก็คือหนี้นอกระบบที่จะทำให้ที่ดินเกษตรกรรมกว่า 31 ล้านไร่สุ่มเสี่ยงจะถูกบังคับจำนองหรือถูกยึด เพราะเอาไปขายฝาก
ที่ต้องขายฝากก็เพราะ เกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ยาก เนื่องจากขาดคุณสมบัติที่ธนาคารกำหนด
นอกจากนี้ ธนาคารในยามนี้ มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล คือหนี้เสียท่วมหัว เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าไม่มีปัญญาใช้คืนเงินกู้
ใช่แต่ที่ดินจะถูกยึด ทรัพย์สินมูลค่าระดับ พัน-หมื่น ที่ติดอยู่กับโรงรับจำนำส่วนในปีที่แล้ว ผู้จำนำไม่สามารถไถ่ถอนคืนตามกำหนดมีมากเป็นประวัติการณ์
เป็นรายงานจากโรงรับจำนำกทม.ที่มีกำไรถึง 11 ล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้สวนใหญ่มาจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ขาดการต่ออายุตั๋ว
จึงไม่น่าแปลกใจที่ รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว พบว่าเพิ่มสูงสุดในรอบ 20 ปีโดยเพิ่มขึ้นถึง 22%
ทั้งหมดนี้คือ Misery Index ที่แท้จริง
ใครจะหลอกตัวเอง แปลว่าดัชนีความสุขก็สุดแท้แต่
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 21 ก.พ. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.