ถอดบทเรียนเกษตรกร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท กับการปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างยั่งยืน จากวิกฤตภาวะหนี้สินและความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน
ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย กลับยังพบว่า ‘ชาวนา’ เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ยังประสบปัญหาภาวะหนี้สิน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต จนเกิดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินของตนเอง
ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยิ่งชี้ชัด เกษตรกรมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ 25.5 เท่า โดยในปี 2557 มีภาวะหนี้สินรวม 1.32 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 8.26 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ 3.98 แสนล้านบาท สหกรณ์การเกษตร 8.38 หมื่นล้านบาท กองทุนในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.04 หมื่นล้านบาท และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 3.49 พันล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังเคยรวบรวมข้อมูลภาวะหนี้สินของเกษตรกร แบ่งเป็นหนี้อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐ 1.4 แสนราย มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท ที่น่าสนใจ คือ จำนวน 1.49 แสนราย เป็นหนี้ระบบ 2.1 หมื่นล้านบาท และในจำนวนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องจากเจ้าหนี้สูงถึง 9 หมื่นราย 1.3 หมื่นล้านบาท
ทำไมเกษตรกรไทยจึงเป็นหนี้?
มีคำตอบจากการศึกษาวิจัย ในเวทีเสวนา เรื่อง กระบวนการปรับตัวของชาวนาและเกษตรกร จัดทำโดยมูลนิธิชีวิตไท ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวนา ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากเกษตรกรกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
(ซ้าย) พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ (ขวา) วิมล เเย้มทับ
‘วิมล แย้มทับ’ ชาวนา ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้นอกระบบและภาวะความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน
จากการวิจัยพบว่า วิมลเข้าสู่วงจรหนี้โดยการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. 4 แสนบาท เพื่อนำมาลงทุนทำนาและค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน ต่อมาประสบปัญหาเพลี้ยและราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้ ในที่สุดเธอจึงเลือกที่จะกู้นอกระบบเพื่อนำไปชำระหนี้ ก้อนแรกจำนวน 5.7 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 3/เดือน (รวมเป็นเงิน 7.75 แสนบาท)
โดยหลักค้ำประกันเพียงอย่างเดียว คือ โฉนดที่ดินเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน โดยหารู้อนาคตว่า ที่ดินดังกล่าวกำลังจะหลุดมือเธอไป เพราะถัดมา 9 เดือน เมื่อครบกำหนดชำระหนี้นอกระบบ วิมลตัดสินใจกู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2 แสนบาท โดยให้เจ้าหนี้มารับเงินก้อนนี้ แต่เธอพลาดตรงที่ไม่มีหลักฐานการรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้
ทำให้ต่อมาวิมลจึงถูกฟ้อง โดยเจ้าหนี้แจ้งต่อศาลว่า เธอไม่เคยชำระหนี้เลย นั่นจึงทำให้นอกจากหนี้ที่ชำระไปแล้วสูญเปล่า เธอยังเป็นหนี้ ธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นอีก 2 แสนบาท
“เขาก็ไม่หักสองแสนที่เราให้ไปเลย ทั้งที่เราก็คิดว่าเป็นดอกเบี้ยปีแรก จึงเท่ากับสองแสนนั้นก็ฟรีไปเลย มันมีหลักฐานของ ธ.ก.ส. ไว้แล้วนะว่าวันที่เท่านี้ จ่ายดอกเบี้ยไปเท่านั้น แล้วพี่ก็จ่ายเงินให้เขาเซ็นรับเงิน แล้วก็ถ่ายเอกสาร แต่เขาไม่ให้เรา เขาไม่ให้หลักฐานเรา บอกว่าเขาจะไม่โกง”
วิมล บอกว่า หลังจากต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตหนี้สินและความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน จึงตัดสินใจปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเกิดความยั่งยืน โดยการทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้กลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร มีการทำปุ๋ยหมัก เลิกใช้สารเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต มีรายได้แน่นอน เพราะสามารถต่อรองราคากับกลุ่มทุนได้
นั่นจึงทำให้ชีวิตของ ‘วิมล แย้มทับ’ ค่อย ๆ ดีขึ้น แม้จะต้องประสบปัญหาโดนเจ้าหนี้ฟ้อง แต่เธอยังยืนหยัดจะสู้ต่อไป
บรรยากาศในเวทีนำเสนอผลการวิจัย
‘พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์’ ผอ.มูลนิธิชีวิตไท กล่าวเสริมว่า กลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์แก้ไขปัญหาหนี้สิน จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีแนวคิดในเรื่องส่งเสริมทำเกษตรอินทรีย์
ด้วยเหตุนี้จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา และกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างกันในการเรียนรู้เทคโนโลยีและตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำเกษตรอินทรีย์นั้นค่อนข้างมีปัญหา หลายคนจึงกังวลถึงความอยู่รอด
“ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร เมื่อใดปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรมาเป็นแบบอินทรีย์แล้ว พวกเขาจะมีรายได้จากตลาดที่แน่นอน และประสบปัญหาสามารถปรึกษาได้จากเครือข่าย ทั้งนี้ หากทำเรื่องตลาดและเครือข่ายให้เกิดความชัดเจนแล้ว และลงมือทำ เกษตรกรจะได้มั่นใจว่าการปรับตัวดังกล่าวทำได้จริง” ผอ.มูลนิธิชีวิตไทย ระบุ
ท้ายที่สุด จะพ้นจากวังวนอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ข้อค้นพบจากการศึกษา เชื่อว่า กระบวนการปรับตัวมีความจำเป็นต้องดำเนินการทั้งในระดับกลุ่มและปัจเจกบุคคล ผ่านทุนในการปรับตัวที่ทำหน้าที่หนุนเสริมศักยภาพให้ชาวนาและเกษตรกรปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนดังเช่น ‘วิมล แย้มทับ’ และกลุ่มส่งเสริมการเกษตรครบวงจร ต.บางขุด กำลังทำในวันนี้ .
ชีวิตของวิมล เเย้มทับ ในวันนี้ กับเเปลงเกษตรอินทรีย์
อ่านประกอบ:ชาวนาที่ดินหลุดมือ ผลวิจัยแนะรวมกลุ่มออมทรัพย์ บริหารจัดการเอง แทนกู้นอกระบบ
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/LocalAct/photos/pcb.1567065893409576/1567065703409595/?type=3&theater
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 17 ก.พ. 2561
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.