ปัญหาที่ชาวนาเจอต้นทุนสูงผลผลิตต่ำ ทั้งที่ใช้ปุ๋ยมากเป็นแค่ปัญหาปลายทาง ดินที่ใช้ปลูกข้าวต่างหากเป็นปัญหาต้นทางที่จะต้องเร่งแก้ไข”
ผศ.ดร.แสงดาว เขาแก้ว ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า เป็นเพราะเกษตรกรมีความเข้าใจผิดๆ คิดว่าใส่ปุ๋ยมากเมื่อต้นข้าวเขียวจะช่วยให้ได้ผลผลิตข้าวสูง แต่ความเป็นจริงกลับทำให้ข้าวอวบน้ำ ใบมาก อ่อนแอต่อโรคและแมลง ต้นล้มง่าย
“หากเราไม่รู้จักโครงสร้างของดินที่ปลูกข้าว พืช ผัก ต่อให้หาวิธีลดปุ๋ย ลดเคมีภัณฑ์ดีแค่ไหน ไม่ช่วยทำให้ได้ผลผลิตตามเป้าที่วางไว้ สภาพโครงสร้างดินเป็นปัญหาใกล้ตัว แต่มีเกษตรกรไม่กี่รายที่ศึกษาวิเคราะห์ดิน เพื่อใส่ปุ๋ยตรงกับความต้องการพืช ภายใต้สภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ จะช่วยลดรายจ่ายค่าปุ๋ยเคมี และลดค่าสารเคมีกำจัดโรคและแมลง ช่วยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรงผลผลิตเพิ่มขึ้น”
เพื่อศึกษาปัญหาการทำนา ดร.แสงดาว พร้อมทีมวิจัยร่วมกับ ชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนา อ.บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี ปราชญ์ของแผ่นดิน ปี 2557 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทานในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี และสุพรรณบุรี
สีสนิมจากธาตุเหล็กที่ละลายออกมาจากขังน้ำไว้นาน.
ส่วนใหญ่ยังทำนาข้าวแบบคิดเอาเองว่า ใส่ปุ๋ยข้าวสูตรตามที่มีร้านค้าตัวแทนปุ๋ยแนะนำ...ชาวนาทำตาม ต้นทุนสูง ได้ข้าวไม่มาก หนำซ้ำหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ เพื่อให้ปลูกข้าวได้เร็วขึ้น บางแห่งใช้วิธีเผาตอซังก่อนไถ ทำลายอินทรียวัตถุในดิน
“ขณะเก็บตัวอย่างดินในแต่ละพื้นที่ เราจะแนะนำชาวบ้านให้รู้วิธีเก็บตัวอย่างดินตรวจวิเคราะห์ สภาพความอุดมสมบูรณ์ดินด้วยใช้ชุดตรวจปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ซึ่งจะรู้ผลในเวลา 30-45 นาที เพื่อให้รู้ว่าดินมีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม มากน้อยแค่ไหน และควรต้องผสมปุ๋ย (NPK) สูตรใด ถึงจะเหมาะสมกับพืช ควบคู่กับการเตรียมดินที่ดีช่วยให้ข้าวหยั่งรากได้ลึก ชอนไชดูดอินทรียวัตถุในดินมาหล่อเลี้ยงต้น”
ดร.แสงดาว บอกว่า วิธีนี้ทำให้ชาวนาไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมาก และแนะให้ชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกิน เพื่อให้ต้นข้าวที่งอกขึ้นมาไม่หนาแน่น มีการถ่ายเทอากาศระหว่างกอได้ดี ต้นข้าวสังเคราะห์แสงได้ดี ต้นข้าวสมบูรณ์
น้ำไม่ควรสูบมาแช่ขังในระดับสูงนานๆ เพราะจะทำให้ธาตุเหล็กที่อยู่ในดินละลายออกมามากเกินไป ส่งผลให้รากข้าวสั้น แตกกอน้อย ต้นข้าวไม่แข็งแรง
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 15 ม.ค. 2561