ปัญหาห่วงโซ่ชาวนาไทย ที่ติดกับดักความยากจน ซึ่งผู้ค้าข้าวมักถูกต่อว่าต่อขาน ว่าเป็นต้นตอของปัญหา“กดราคา”รับซื้อข้าวมาโดยตลอด สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จึงต้องปรับจูนทัศนคติเกษตรกรไทย
ว่าพวกเขาไม่ใช่ต้นตอของปัญหา พร้อมกับการเข้าไปแบ่งเบา ปิดจุดอ่อน เปิดใจสื่อสารร่วมสร้างห่วงโซ่คุณค่ากับชาวนาไทย เพื่อให้ธุรกิจข้าวเติบโตจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน
วังวนความยากจนของชาวนาไทย มีต้นตอปัญหาหลากหลายปัจจัยที่บาดลึกมากกว่าคำว่า “ราคาตก” ที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยขอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ โดยพยายามสื่อสารกับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมแก้ไขปัญหานานาประการร่วมกัน
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เล่าถึงกิจกรรมที่เชื่อมต่อทำให้ชาวนา ต้นทางการผลิตข้าว “กินดีอยู่ดีทั้งระบบ” หลังจากที่ผ่านมาข้าวทั้งระบบต้องพัง โดยผู้คนมักจะเข้าใจว่าปัญหาชาวนาที่ยังยากจน เพราะราคาข้าวตกต่ำเท่านั้น วิธีการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จึงไปแก้ไขปัญหาข้าวด้วยการ“ขึ้นราคารับจำนำข้าวทุกเมล็ด”จนนำไปสู่การพังทั้งระบบ เพราะเมื่อราคาข้าวไทยราคาสูง โรงสี และผู้ส่งออกข้าวขายข้าวไม่ได้ แทนที่จะระบายสต็อกข้าวไปครึ่งหนึ่งเพื่อส่งออกเหมือนทุกปี ผลผลิตราว 20 ล้านตัน ส่งออกเฉลี่ยปีละ 10 ล้านแต่กลับต้องแบกสต็อกเก็บไว้ในประเทศถึง 18 ล้านตันและใช้เวลาระบาย 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2557-2560)
จนวันนี้ “เซ็ทซีโร่” ข้าวเพื่อการบริโภคหมดสต็อกแล้ว เหลือเพียงข้าวที่ในอุตสาหกรรมเพียง 2 ล้านตัน
สมาคมผู้ส่งออกข้าว ซึ่งเป็นปลายทางที่ตกเป็นเป้ามาตลอด จึงต้องเข้าไปใกล้ชิดต้นทางการผลิตมากขึ้น “เจริญ”ย้ำ
“สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งเป็นปลายทางส่งออกข้าวไทย ต้องลงไปดูถึงต้นทางการผลิตคือชาวนา เพื่อทำความเข้าใจต้นตอปัญหาได้ตรงกัน เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบข้าวให้ตรงจุด เพื่อนำไปสู่การยกระดับยั่งยืนในระยะยาว เมื่อชาวนามีกำไร ก็จะได้รับประโยชน์ทั้งซัพพลายเชน” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผย
เริ่มต้นจากปี 2558 สมาคมฯได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวพร้อมกับกระทรวงพาณิชย์ ณ หมู่บ้าน ดอนชี ซึ่งตั้งอยู่ลำน้ำเซบาย จ.อุบลราชธานี ที่มีปัญหาการส่งน้ำ มีการตั้งสถานีสูบน้ำยาวนานกว่า 20 ปี แต่ขาดท่อส่งน้ำมาลงพื้นที่เกษตรปลูกข้าว ซึ่งพื้นที่นี้มีความสำคัญ เพราะเป็นศูนย์พัฒนาพันธุ์ข้าวในจังหวัด
เจริญเล่าว่า เป็นปีแรก ที่สมาคมตัดสินใจใช้งบประมาณสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกว่า 10 ล้านบาทเข้าไปต่อท่อส่งน้ำความยาว 1 กิโลเมตร มาใช้ในพื้นที่ เพราะสมาคมต้องการปลดล็อกปัญหาเรื้อรังยาวนานกว่า 20 ปี ที่รอพึ่งงบประมาณของรัฐบาล ที่ช่วยส่งน้ำไปให้พื้นที่การเกษตรกว่า 1,000 ไร่
ปี 2559 ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวนาด้าน“รถเกี่ยวข้าว”ที่ขาดแคลนในหลายพื้นที่ สมาคมจึงซื้อรถเกี่ยวข้าวกว่า 10 คัน มูลค่ากว่า 11 ล้านบาท ในพื้นที่เพื่อบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยมีกรมกิจการทหารดูแล กระจายตามหน่วยงานพื้นที่อีสานเพื่อนำไปหน่วยละ 1 คัน โดยให้ทหารไปบริหารจัดการช่วยรถเกี่ยวลงไปเกี่ยวข้าวในพื้นที่
ปี 2560 เข้าไปช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน โดยร่วมกันกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย คัดเลือกสมาชิก 5,000 ราย ที่มีนาไม่เกิน 10 ไร่ โดยการจ่ายเงินไปทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไร่ละ 200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ต่อคน เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนผลผลิต
“เราต้องการเข้าไปช่วยลดภาระต้นทุนการให้กับเกษตรกรชาวนารายย่อยจริงจัง เพื่อช่วยเรื่องผลผลิต เช่น การเกี่ยวข้าว”
เจริญ ยังเล่าว่า สมาคมยังได้ปรับทิศทางการทำงานใหม่โดยการเข้าไปรับฟังปัญหาและพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมากขึ้น เพื่อทำงานใกล้ชิดและเข้าใจร่วมกัน หลังจากที่สมาคมผู้ส่งออกข้าว ถูกกล่าวหามาตลอด ซึ่งในความเป็นจริง สาเหตุที่ชาวนาไม่ได้ผลกำไรและชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น ยังติดกับดักความยากจน ไม่ได้เกิดจากราคา เพราะเรื่องของราคาเป็นกลไกตลาดโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ส่งออกจึงต้องแข่งขันเรื่องราคาขายกับคู่แข่งต่างประเทศ
สาเหตุที่แท้จริงที่เกษตรกรยังติดกับดักความยากจน เป็นเพราะต้นทุนการผลิต และปริมาณการเพาะปลูก ที่ชาวนากว่า 20-30 ล้านราย แต่มีสัดส่วน 80 % ของชาวนาทั้งระบบที่เป็นเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกเพียงรายละ10-12 ไร่ จึงมีผลผลิตน้อย รวมปลูกข้าวไม่เกินรายละ 4 ตันต่อปี หากขายได้ราคา 15,000 บาทต่อตัน จะมีรายได้ปีละ 60,000 บาท ต้นทุนรวมราว 20,000 บาท มีกำไรเหลือเพียงปีละ 40,000 บาท
นี่คือ สาเหตุที่เงินเหลือไม่เพียงเลี้ยงดูแลครอบครัว !
หนึ่งในวิถีที่ทางสมาคมเข้าไปพัฒนาคือการช่วยลดต้นทุนเพื่อให้มีกำไรเหลือ ในอนาคตจะมีการเติมเต็ม “องค์ความรู้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ทฤษฎีเกษตรผสมผสานที่มีการเพิ่มรายได้โดยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนทุกปี เป็นแนวทางพึ่งพาตัวเองสร้างรากฐานยั่งยืนในระยะยาวในพื้นที่มีจำกัด
สมาคมพยายามเข้าไปทำงานร่วมกันกับกลุ่มเกษตรกรที่พึ่งพาตัวเองได้ เช่น กลุ่มของพ่อมั่นสามสี บ้านโสกขุมปูน จ.ยโสธร ที่มีการรวมกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์และสมุนไพร จนเป็นต้นแบบให้กับการรวมกลุ่มเกษตรพึ่งพาตัวเอง สมาคมฯ ก็จะเข้าไปเสริมความต้องการในบางจุดเพื่อต่อยอดให้กลุ่มมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
“การสื่อสารที่มากขึ้นทำให้เกิดความเข้าใจและการเข้าไปทำงานช่วยต่อยอดและสนับสนุนในบางจุดอ่อนของเกษตรให้เติบโตตรงจุด จะเป็นแต้มต่อช่วยให้เกิดความเข้มแข็งระยะยาว และมีทัศนคติต่อสมาคมใหม่ เมื่อเกิดปัญหาข้าวราคาตกต่ำ ไม่โทษ(เบลม)ผู้ส่งออกข้าว ว่าเป็นต้นเหตุทำให้รายได้และต้นทุนหายไป” เขากล่าว
สิ่งสำคัญหลังจากหารือกันมากขึ้นตั้งแต่เกษตร โรงสี และผู้ส่งออกได้พัฒนาข้าวไทยทั้ง “ห่วงโซ่ซัพพลายเชน”ทั้งระบบ เป็น“ห่วงโซ่คุณค่า”ร่วมกันที่เติบโตไปพร้อมกันทั้งระบบรวมถึงการต่อยอดไปยังตลาดโลก โดยดึงผู้ซื้อข้าวไทยจากต่างประเทศเข้ามาสัมผัสกระบวนการปลูกข้าว วิถีชีวิต และคุณค่าของชาวนาไทย เป็นต้น
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.