ที่มา : http://basicincome.org
รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) เป็นแนวคิดที่กำลังมาแรงทั่วโลกวันนี้ อาจเรียกชื่ออื่น แต่โดยรวมแล้วหมายถึงการให้เงินฟรีๆ แก่ประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไข
รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (ต่อไปขอเรียกว่า รพถ. หรือ UBI) แตกต่างจากสวัสดิการที่รัฐให้ เพราะเป็นการให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ยุ่งยาก ให้ทุกเดือน เช่น ประเทศไทยอาจจะโอนเงินเข้าบัญชีของคนไทยทุกคนหรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าการเสียภาษี ทุกเดือน 5,000 บาท หรือรูปแบบอื่น
ฟังดูอาจจะฝันเฟื่อง หรือไม่ก็เป็นการหาเสียงของนักการเมืองประชานิยมสุดโต่ง แต่ลองศึกษาหาข้อมูลและหลักฐานข้อเท็จจริง (ซึ่งมีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต) อาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้
รพถ.ไม่ใช่เรื่องใหม่ โทมัส โมร์ (1478-1535) เมื่อเกือบห้าร้อยปีก่อน โทมัส เพน (1737-1809) เมื่อสองร้อยปีก่อนพูดถึงส่วนแบ่งที่เป็นธรรมที่ราษฎรควรได้รับจากภาษีรายได้ของรัฐ
มิลตัน ฟรีดมัน (1912-2006) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล มาร์ติน ลูเธอร์ คิง อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐหลายคน จนถึงริชาร์ด นิกสัน ที่เกือบผ่านกฎหมาย UBI ในปี 1971 ผ่านสภาล่างและไปตกที่สภาบน กฎหมายที่ต้องการ “แจกเงิน” คนอเมริกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
เรื่องดูเหมือนเงียบไปหลายปี มาเริ่มพูดถึงกันอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องเพราะความกลัวว่า อนาคตคนจะตกงาน โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่โรงงานต่างก็ย้ายไปอยู่ประเทศกำลังพัฒนาที่แรงงานถูกกว่า และงานทุกระดับกำลังถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จนนักอนาคตวิทยาบางคนทำนายว่า 12 ปีข้างหน้า (2030) จะมีคนตกงาน 2,000 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงานงานวันนี้
ขณะเดียวกัน โปรแกรมสวัสดิการต่างๆ ของรัฐก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้จริง คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง ความเหลื่อมล้ำถ่างออกไปทุกที และเป็นเช่นนี้ทั่วโลก ไม่ว่าประเทศรวยหรือจน ภาพรวมของทั่วโลกดูน่ากลัว
จึงไม่แปลกที่คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้และแนวทางแก้ปัญหาด้วย รพถ.จะมีนักการเมืองทั้งซ้ายและขวา ทั้งสังคมนิยมและทุนนิยม รวมทั้งมาร์ก ซักเคอร์เบอร์กแห่งเฟสบุ๊ก และอีลอน มัสก์แห่งเทสลา และบรรดาผู้ประกอบการในซิลิคอน วัลเลย์
ที่สำคัญ มีงานวิจัยทดลองนำร่องในหลายประเทศ อย่างที่แคนาดาที่ทำการทดลองในเทศบาลแห่งหนึ่งตั้งแต่เมื่อปี 1970 เศษ แต่วิจัยเสร็จไม่มีการนำผลมาวิเคราะห์เพราะเปลี่ยนรัฐบาลท้องถิ่น หลายปีที่ผ่านมามีการนำผลมาวิเคราะห์พบว่าได้ผลดี สุขภาพผู้คนดีขึ้น อาชญากรรมลดลง ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมมีมากขึ้น และอื่นๆ
ที่แคนาดาจึงมีการทดลองอีกเมื่อไม่นานมานี้ในอีกบางพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส อินเดีย นามีเบีย ยูกันดา เคนยา บราซิล และอีกหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการทดลองนำร่อง ประชากรเป้าหมาย 1,000-8,000 คน ระยะเวลาสองสามปีถึงสิบปี
มีหลายโครงการได้สรุปผลการทดลองในเบื้องต้นแล้วอย่างที่อินเดีย ที่เคนยา และหลายแห่งกำลังวางแผนทำการทดลอง ซึ่งธนาคารโลกเองก็ให้การสนับสนุนและได้ร่วมทำการวิจัยในหลายประเทศ แต่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ซึ่งงานวิจัยนำร่องต่างๆ ก็ให้คำตอบ เช่น
เป็นโครงการที่แพงมากก็จริง แต่มีหลายรูปแบบ ถ้าหากคำนวณให้ดี ก็จะพบว่าไม่ได้แพงเกินกว่าจะหางบได้ เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้ม เพราะลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ปัญหาสังคม อาชญากรรม ทำให้คนมีการศึกษาดีขึ้น มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น คนมีอิสรภาพมากขึ้น
หรือวิจารณ์ว่า คนจะขี้เกียจและไม่ทำงาน ซึ่งไม่จริง เพราะถ้ามีเงินดำรงชีพพื้นฐานคนก็จะมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกงานที่มีความหมายต่อชีวิตของตนเองมากขึ้น มีพลังสร้างสรรค์และมีความสุขมากขึ้น
หรือบอกว่ายากจะเกิดขึ้นได้เพราะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างเลยทีเดียว ต้องเปลี่ยนระบบสวัสดิการ ลดงานสวัสดิการ แต่ก็เกือบเกิดขึ้นที่อเมริกาเมื่อปี 1971 และวันนี้กำลังเป็นที่สนใจของรัฐบาลหลายประเทศ
รพถ.เป็นการปรับกระบวนทัศน์เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ที่คนมีอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและสังคมมักคิดแทนประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน คิดโครงการแก้ปัญหา เป็นสวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เป็นร้อยเป็นพันอย่าง ตั้งเงื่อนไขมากมายให้คนปฏิบัติตาม
รพถ.ไม่ใช่สวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ แต่เป็นการให้เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรจะได้รับส่วนแบ่งอย่างยุติธรรมในมรดกที่บรรพบุรุษได้ทำไว้และส่งต่อมาให้เรา ระบบปัจจุบันทำให้คนรวยได้รางวัล คนจนถูกลงโทษ ซึ่งเป็นความอยุติธรรมทางสังคม
ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนเลวลง คนจนไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่เพราะไม่มีเงิน ไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนมีผลงาน (productive) และหลุดพ้นจากความจน
สังคมไทยก็มีสวัสดิการมากมายหลายอย่างที่ใกล้เคียงกับแนวคิด รพถ. อย่างสวัสดิการผู้สูงอายุ “สุขภาพถ้วนหน้า” รักษาได้ทุกโรค แต่บางสวัสดิการดูเหมือนจะดีแต่มีเงื่อนไขและเงื่อนงำ ให้คูปองซื้อของในร้านที่กำหนด แทนที่จะให้เงินสดไปซื้อของในตลาดนัดหรือที่ไหนก็ได้
หรือว่าสวัสดิการส่วนใหญ่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นกับดักความยากจน ไม่ได้ช่วยปลดปล่อยศักยภาพคนจนให้ “ระเบิดจากข้างใน” ไปสู่ความเป็นไท ?
------------------------
“เงินให้เปล่าสำหรับทุกคน” หรือ “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (Universal Basic Income – UBI) เป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วในหลายประเทศ คนอังกฤษประมาณครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ แต่เมื่อลงไปในรายละเอียดว่า จะต้องขึ้นภาษีเพื่อนำเงินมาใช้ คนที่เห็นด้วยก็ลดลง
ความจริง คำถามทีว่าจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อจ่ายในโครงการนี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงและหาทางออก ซึ่งน่าจะหาได้ถ้าลดงบประมาณด้านอื่นๆ และค่าใช้จ่ายสวัสดิการต่างๆ ที่น่าจะแทนที่ได้ด้วยรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (รพถ.) อยู่ที่ผลการทดลองนำร่องในประเทศต่างๆ ในสังคมและบริบทที่แตกต่างกัน
หลายปีก่อนมีโครงการทดลงที่ลอนดอนกับคนเร่ร่อน 13 คน ที่นอนกลางถนน ประทังชีวิตด้วยคูปองอาหารคนจน มีความพยายามช่วยคนเหล่านี้หลายสิบปีไม่มีอะไรดีขึ้น ถ้าคิดค่าใช้จ่ายในการ “ดูแล” ด้านต่างๆ ก็ไม่น้อย ผู้เกี่ยวข้องจึงเปลี่ยนมาลองให้เงินสดพวกเขาคนละ 3,000 ปอนด์ แบบไม่มีเงื่อนไข
หนึ่งปีให้หลัง 7 คน มีที่พักอาศัย คนอื่นๆ กลับไปหาลูก หาญาติ หาความรู้ในการทำสวนทำงานที่ตนเองอยากทำ เฉลี่ยใช้เงินไปคนละ 800 ปอนด์เท่านั้น ไม่มีใครเอาไปซื้อเหล้าหรือยาเสพติด แต่เอาไปซื้อมือถือ ซื้อของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น
กาย สแตนดิง ศาสตราจารย์ที่สถาบันตะวันออกและแอฟริกันศึกษา (SOAS) ที่ลอนดอน ผู้สนใจเรื่องรพถ.และร่วมก่อตั้งเครือข่ายทั่วโลกชื่อว่า BIEN (Basic Income Earth Network) ได้ทำการวิจัยทดลองที่อินเดียโดยการสนับสนุนด้านการเงินจากยูนิเซฟ เมื่อปี 2011
โครงการนี้ทำที่ 8 หมู่บ้านที่รัฐมัธยมประเทศ โดยทุกคนทุกเพศทุกวัยในหมู่บ้านเหล่านี้ได้รับเงินทุกเดือน 200 รูปี (ผู้ใหญ่) 100 รูปปี (เด็ก) (1 รูปีเท่ากับ 50 สตางค์) ต่อมาเพิ่มเป็น 300 (ผู้ใหญ่) และ 150 (เด็ก) ตอนแรกจ่ายเป็นเงินสด ต่อมาโอนเข้าบัญชีธนาคาร เป็นเงินให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยต่อคน (ครอบครัวหนึ่งได้ไม่น้อย) แต่หลังจาก 18 เดือนมีการประเมินผลเบื้องต้นพบเรื่องดีๆ มากมายที่แย้งกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเป็นการเสียของและทำให้คนทำงานน้อยลง
หลายคนนำเงินไปซ่อมบ้าน ห้องน้ำ ผนัง หลังคา มีมุ้งป้องกันมาลาเรีย โภชนาการดีขึ้น วัดได้จากน้ำหนักเด็กเฉลี่ยตามวัยสูงขึ้น ชาวบ้านไปซื้อข้าวของจากตลาด ได้ผักผลไม้สดอาหารมารับประทาน ไม่ใช่ไปรับแจกจากโกดังอาหารคนจนด้วยอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ดีบ้างเน่าบ้าง สุขภาพดีขึ้นดูได้จากการไปโรงเรียนของเด็ก พ่อแม่มีเงินให้ลูกนั่งรถไปโรงเรียน มีเสื้อผ้ารองเท้าใส่
การแจกเงินคนจนทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ริเริ่มกิจการเล็กๆ ร้านเล็กๆ งานซ่อมแซมข้าวของเครื่องใช้ คนทำงานมากขึ้น มีงานที่คิดเองลงมือเองมากขึ้น ลดการออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน ลดหนี้สิน หนี้นอกระบบที่จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน
โครงการนี้ไม่เป็นที่พอใจให้ข้าราชการที่ทำงานโครงการสวัสดิการของรัฐ บัตรคนจน อาหารคนจน และอื่นๆ เป็นร้อยเป็นพันโครงการเพื่อ “สงเคราะห์” คนจน 350 ล้านคน หรือร้อยะ 30 ของประชากร ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แม้ว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตสูงมาก แล้วยังเป็นโอกาสให้เกิดคอร์รัปชั่นมากมาย
โครงการทดลองวิจัยนี้ได้รับความสนใจจากรัฐบาลอินเดีย และกำลังเตรียมขยายการทดลองในอีกหลายรัฐ รวมทั้งเตรียมแนวทางการประยุกต์ใช้ในระดับชาติ
ศาสตราจารย์กาย สแตนดิงสรุปว่า จากการวิจัยทดลองที่อินเดียและหลายประเทศในเบื้องต้นสรุปได้ว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าลดความยากจนได้จริงและน่าจะมีผลที่ยั่งยืนกว่าโครงการสวัสดิการต่างๆ ที่ทำทำมาหลายสิบปีทั่วโลก แต่คนจนกลับจนลง ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น
โครงการนี้จะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้เพราะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อการสงเคราะห์คนจน แต่มองว่าเป็นสิทธิที่คนจนจะได้รับเพราะเป็นสมาชิกของสังคม และควรได้รับส่วนแบ่งจากทรัพยากรในขั้นพื้นฐานเพื่อดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี
โครงการนี้ทำให้เกิดความเท่าเทียม เกิดเสรีภาพมากขึ้น ไม่ถูกครอบงำ หรือต้องทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่ถูกบังคับให้ทำตามเงื่อนไขต่างๆ เพื่อจะได้รับการสงเคราะห์ ตกอยู่ในสังคมอุปถัมภ์และกับดักความยากจนอย่างถาวร
โครงการรพถ.ทำให้คนมีทางเลือกมากขึ้น การได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานทำให้ไม่ต้องทนทำงานที่รู้สึกว่าไม่มีความหมาย ทำให้แม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้โดยไม่ต้องดิ้นรนออกไปหางานทำทิ้งลูกไว้ให้ใครก็ไม่รู้เลี้ยงดูให้
ทำให้คนทำงานจิตอาสาด้วยความสบายใจเพราะมีรายได้ขั้นต่ำ ทำให้คนทำงานศิลปะวัฒนธรรมที่ทำให้มีความสุขและเป็นตัวของตัวเองด้วยความสบายใจ และงานอื่นๆ มากมายที่ไม่ได้มากับรายได้ แต่เป็นงานสำคัญสำหรับครอบครัวและสังคมมนุษย์
โครงการรพถ.ทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิต ทำให้สุขภาพกายสุขภาพจิตดีขึ้น ความเครียดลดลง เป็นตัวของตัวเองในการตัดสินใจต่างๆ ได้มากขึ้น เป็นการปลดปล่อย (emancipation)ให้เป็นอิสระ
วันนี้คนจำนวนมากเชื่อว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 21 ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่มีพลังในการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้จริง
อย่างที่วิคตอร์ ฮูโกบอก “พันกองทัพยังไม่เท่าความคิดหนึ่งที่ถึงเวลาของมัน” (Stronger than a thousand armies, is an idea whose time has come)
-----------------------
รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) เป็นแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ “ร้อนแรง” ที่สุดทั่วโลกวันนี้ ไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือยากจนก็สนใจ เป็นอุดมคติหรือยูโธเปียที่มีทางเป็นจริงได้ แต่คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน อาจใช้เวลาอีกหลายปี หรือหลายสิบปี
ที่ผ่านมา เมืองไทยมีโครงการสวัสดิการมากมายให้คนจน ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ละโครงการมีเงื่อนไขต่างๆ รวมไปถึงการช่วยเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างโครงการเงินฝันสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือโครงการต้นกล้าอาชีพและ “แจกเงิน” สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ขณะที่หลายประเทศในโลกเริ่มหาทางคิดใหม่และทำใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพราะไม่นาน คนจะตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ ระบบเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันทำให้คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น คนจนก็ยิ่งจนลง ภายในปี 2020 คนรวย 1% ในโลกจะมีสินทรัพย์มากกว่า 50% ของโลก
แต่การถกเถียงกันเรื่องนี้ดีไม่ดียังไงก็ไม่มีวันจบ ต้องลงมือทดลองถึงจะรู้ว่า ทำได้หรือไม่ จึงมีการทดลองนำร่องในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน
ที่สหรํฐอเมริกา บริษัท Y Combinator ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ทำการวิจัยกับคน 3,000 คนในสองมลรัฐ กลุ่มที่ 1 จำนวน 1,000 คน รับ 1,000 เหรียญต่อเดือนเป็นเวลา 5 ปี กลุ่มที่ 2 จำนวน 2,000 คน รับ 50 เหรียญต่อเดือนเป็นเวลา 5 ปีเช่นเดียวกัน
คนรับเงินในงานวิจัยนี้ไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย อยากใช้เงินทำอะไรก็ได้ งานนี้ต้องการทราบเพียงว่า คุณภาพชิวิตของผู้รับเงินเปลี่ยนไปหรือไม่ แรงจูงใจในการทำงานเป็นอย่างไร
ที่เมื่องอูเทรคท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังมีการทดลองให้เงิน 250 คน คนละ 960 ยูโร (ประมาณ 37,000 บาท) ต่อเดือนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เป็นเวลา 2 ปี
ที่ประเทศฟินแลนด์ กำลังทดลองให้เงินชาวฟินแลนด์ 2,000 คน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2017 อายุระหว่าง 25-58 ปี คนละ 560 ยูโร (ประมาณ 22,000 บาท) ต่อเดือนโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นเวลา 2 ปี โดยต้องการจะปรับระบบประกันสังคมให้รับกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน ต้องการดูว่า จะสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้นหรือไม่เพียงใด ส่วนหนึ่งป็นการลดภาระงานราชการเกี่ยวกับการจัดการสวัสดิการต่างๆ
ที่ออนตาริโอ แคนาดา เริ่มทดลองให้เงินประชาชขน 4,000 คน เป็นเวลา 3 ปี อายุระหว่าง 18-64 ปี ประมาณ 425,000 บาทต่อคนต่อปี (เดือนละประมาณ 35,000 บาท) ส่วหนึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนหนึ่งมีสวัสดิการ เป็นโครงการที่ใช้เงินประมาณ 3,750 ล้านบาท
ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อต้นปี 2017 นายเบอนัวท์ ฮามง ผู้สมัครประธานาธิบดีพรรคสังคมนิยมนำเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามาเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงว่า จะให้เงินคนฝรั่งเศสทุกคน 700-800 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 27,000 บาท) เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานและการขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เพื่อให้คนสามารถดำเนินชีวิตและเลือกงานที่ทำได้อย่างมีความสุข
เขาถูกโจมตีจากคู่แข่งอื่นๆ ว่าเป็นฝันที่เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้งบประมาณถึง 4 แสนล้านยูโร หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาทต่อปีเพื่อจะมีเงินจ่ายให้ชาวฝรั่งเศสทุกคน นายฮามงไม่ผ่านการลงคะแนนเบื้องต้น เขาเข้ามาในช่วงที่พรรคสังคมนิยมตกต่ำ อย่างไรก็ดี เรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (รพถ.) จะเป็นประเด็นถกเถียงในฝรั่งเศสไปอีกนานอย่างแน่นอน ประเทศนี้มักจะมีอะไรใหม่ๆ ให้ประวัติศาสตร์เสมอ
ที่ประเทศเคนยา องค์กรเอกชน GiveDirectly ของสหรัฐอเมริกากำลังทำโครงการวิจัยทดลองที่ใหญ่ที่สุด ใช้เงิน 30 ล้านเหรียญ โดยมีประชากรเข้าร่วมโครงการนี้ 16,000 คน ใน 200 หมู่บ้าน ส่วนหนึ่งรับเงิน 22.50 เหรียญต่อคนต่อเดือนเป็นเวลา 12 ปี ส่วนหนึ่งรับ 2 ปี และอีกส่วนหนึ่งรับทีเดียวยอดรวม 2 ปี
การทดลองนี้ไม่มีเงื่อนไข เมื่อรับเงินแล้วจะหยุดทำงานหรือจะทำธุรกิจ จะเอาเงินไปซื้ออะไรหรือเพื่อการศึกษาก็ได้ ผู้วิจัยอยากรู้ว่าอาชญากรรม ความรุนแรง การลักขโมยจะลดลงหรือไม่
เรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ามีหลายแนวคิด หลายรูปแบบ นักเศรษฐศาสตร์อย่างมิลตัน ฟรีดแมน เคยเสนอแนวคิดเรื่อง “ภาษีเงินได้แบบลบ” (negative income tax) คือ บุคคลที่มีรายได้น้อยกว่าเกณฑ์เสียภาษีก็ให้รัฐชดเชยให้ได้เท่ากับจำนวนรายได้ขั้นต่ำที่เสียภาษี เช่น คนไทยเสียภาษีเมื่อมีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ถ้าคนหนึ่งมีรายได้ 20,000 บาท รัฐก็จ่ายเพิ่มให้ 5,000 บาท
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมีความเห็นว่า รายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้าเป็นเหมือนการคืนภาษีให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันมากกว่าเป็นสวัสดิการ เป็นการแบ่งปันรายได้ที่รัฐเก็บจากประชาชนคืนให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าต้องยกเลิกสวัสดิการอื่นๆ ทั้งหมด บางประเทศอาจยกเลิกบางโครงการ เช่น การแจกอาหาร บัตรคนจน เป็นต้น เพราะเป็นเหมือนกับดักความยากจนอย่างยั่งยืน
เรื่องรายได้ขั้นต่ำถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหญ่ ยังมีข้อถกเถียงและข้อสงสัยอีกมาก ยังต้องมีการวิจัยทำโครงการนำร่องเพื่อเรียนรู้ดูปัญหาและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศที่มีภูมิสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
แต่วันนี้คนจำนวนมากเห็นด้วยกันแล้วว่า เรื่องนี้ไม่เพียงแต่เป็นไปได้ แต่ “ทำได้” (feasible) “มีงบประมาณจ่ายได้” (affordable) และ “พึงปรารถนา” (desirable) อยู่ที่จังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.