ที่แคลิฟอร์เนีย บริเวณแหล่งผลิตไวน์ Napa Valley เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์ ไร่ไวน์เสียหายเป็นจำนวนมาก แต่มีไร่องุ่นของครอบครัว Palmaz รอดพ้นความเสียหายมาได้ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี
ไร่องุ่นแห่งนี้เป็นของ คริสเตียน พาลเมซ เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ อยู่ที่ตีนเขา Mount George ในช่วงไฟป่า เหล้าองุ่นกำลังถูกบ่มอยู่ในถัง มันคือผลผลิต 90% ของไร่ และมีมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปกติมันถูกควบคุมดูแลโดยบุคลากรคอยตรวจสอบอุณหภูมิให้คงที่อยู่เสมอ
อุปกรณ์สำคัญคือเจเนอเรเตอร์ที่ต้องทำงานสม่ำเสมอ
ในขณะที่ไร่องุ่นอื่นๆ ต้องเสียหายมากมาย
แต่ไร่องุ่นของพาลเมซ ก็รอดพ้นไฟป่าที่รุนแรงที่สุดของแคลิฟอร์เนียมาได้ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์”
ปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้มีชื่อว่า Felix เป็นชื่อเรียกของ Fermentation Intelligence Logic Control Systems (Filcs) : ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่พาลเมซใช้สำหรับวิเคราะห์และบริหารอุณหภูมิถังเก็บไวน์ทั้ง 36 ถังของเขา
ปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มันสามารถรวบรวมข้อมูลละเอียด มีเซ็นเซอร์ตรวจอุณหภูมิ (temperature) และความหนาแน่น (density) มีขั้นตอนปรับการตั้งค่าให้เกิดความสมดุลของอุณหภูมิ
ระบบนี้เป็นเว็บเบสที่สามารถทำงานออนไลน์ได้มาตั้งแต่ปี 2014 โดยมี Amazon เป็นโฮสต์บริหารดาต้าเบส ทำงานคู่ขนานไปกับเฮดไวน์เมกเคอร์
พาลเมซเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์ธรณี ดังนั้น เขาจึงไม่ใช่เจ้าของไร่ไวน์ธรรมดา การนำความรู้ด้านบริหาร และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ด้วยระบบเซ็นเซอร์ทำให้การหมักบ่มไวน์ไม่มีปัญหา
พาลเมซเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ปล่อยทุกอย่างให้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ หากแต่ใช้เทคโนโลยีมาปกป้องผลผลิตของเขา
เรื่องของผลิตผลเกษตรเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยากเย็นแสนเข็ญ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะทำให้พืชผลเติบโตสมบูรณ์ ได้ขนาด รสชาติ และปริมาณตามที่ต้องการ ในอดีตทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติ น้ำมาก นาล่ม ก็ปล่อยให้เป็นไป ความมั่นคงของเกษตรกรไม่มี
ความเสียหายของนาข้าว นอกจากจะมีผลต่อชีวิตเกษตรกรแล้ว ยังกระทบความมั่นคงด้านรายได้เกษตรของที่กลายมาเป็นผลผลิตมวลรวมประชาชาติ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลเกษตรคือข้อได้เปรียบของเรา ข้าวไทยก็อร่อยกว่าที่อื่น ผลไม้ไทยก็อร่อยกว่าที่อื่น ผลิตผลเกษตรเคยทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คนไทยเองก็เกิดมาเป็นเกษตรกรโดยธรรมชาติ เราจึงต้องหวงแหนรักษาเกษตรกรรมของเราไว้ให้ดี
เกษตรกรรมคือสายเลือดของเรา
แต่ความช่ำชอง ชำนิชำนาญที่มีมา ไม่เพียงพออีกต่อไป
พันธุ์ น้ำ ปุ๋ย และภูมิอากาศคือปัจจัยสำคัญของการเกษตร แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น โลกต้องการอาหารมากขึ้น วิทยาศาสตร์ก็เข้ามามีบทบาท ในไม่ช้านี้ปัญญาประดิษฐ์ก็จะต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมความชื้นในนาข้าว
นั่นแปลว่าเกษตรกรที่ใช้ประสบการณ์ที่มีมาหลายชั่วอายุคนจะไม่เพียงพอแล้วหรือ เขาจะต้องอาศัยศาสตร์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหาย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น
นั่นหมายความว่าความสามารถของคนรุ่นพ่อจะไม่เพียงพอ แต่จะต้องผสมผสานกับความรู้ของคนรุ่นลูกที่คล่องแคล่วกว่าเรื่องเทคโนโลยี
นั่นหมายความว่าคนรุ่นลูกต้องมีการศึกษาดี เพราะตำรับตำราก็เป็นภาษาต่างชาติที่เป็นสากล
ข่าวเรื่องออสเตรเลียปลูกผลไม้บ้านเราได้ที่ส่งกันต่อกันมาทำให้คนไทยตกใจกันอีกครั้ง อยู่ดีๆ มังคุดก็ไปโผล่อยู่ที่สวนผลไม้ในออสเตรเลีย นี่แสดงว่าต้องมีการใช้วิทยาศาสตร์เข้าช่วย ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เขาเอาพันธุ์ไปจากไหน เขาปรับสภาพแวดล้อมอย่างไรถึงทำได้
ข่าวนี้ชาวสวนที่จันทบุรี ระยอง ปักษ์ใต้ รู้กันหรือยัง
และคิดอย่างไร
ชาวสวนคิดฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ภาครัฐคิดหรือยัง
กรมวิชาการเกษตรทำอะไร ที่แล้วมากรมนี้คงงานไม่ค่อยหนักเท่าไหร่ ต่อแต่นี้ไปจะมีงานที่ท้าทายระดับชาติ อธิบดีคนปัจจุบันดูเหมือนจะหลบเรื่องร้อนๆ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ไปอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร
ถึงเวลาแล้วต้องพิสูจน์ตัวเอง
โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง penseeppp@gmail.com
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.