“ประชารัฐ” ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.สานพลังประชารัฐ.com อธิบายนิยามไว้ว่า หมายถึง“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม” โดยแบ่งเป็น “6 คณะขับเคลื่อน-6 คณะสนับสนุน” ภายใต้หลัก4 ประการ คือ “ธรรมาภิบาล-นวัตกรรมและผลิตภาพ-ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์-มีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง” มุ่งหมายใน 3 ประการ “ลดความเหลื่อมล้ำ-พัฒนาคุณภาพคน-เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” เพื่อนำไปสู่ความ “มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน” ของประเทศโดยรวม
ย้อนไปเมื่อ 20 ก.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานเปิดเวทีจุดประกาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ณ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาลนั้นเป็นการ “ร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ สร้างพลังในการทำความดีให้ประเทศชาติ” ไม่ใช่เพื่อตนเอง หรือข้าราชการ แต่ทำเพื่อประชาชนทุกคน
และคำมั่นสัญญานี้ “ไม่ใช่นโยบายหาเสียง” แต่ถือเป็นสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนที่จะร่วมมือแก้ไขปัญหา หรือแก้ไขความผิดพลาดในอดีตทั้งหมดให้ได้โดยความร่วมมือกัน อีกทั้งย้ำด้วยว่า “ไม่ใช่ประชานิยม” เพราะประชานิยมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความนิยมต่อภาครัฐ แต่รัฐบาลนี้เป็นความร่วมมือของรัฐบาลกับประชาชนในการแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการให้เกิดบุญคุณต่อใคร ต้องการทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน
ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป 2 ปีเศษ ก็เริ่มมี“คำถาม” ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าตกลงแล้วนโยบายประชารัฐ “ได้ผลจริงไหม?” เพราะขณะที่รัฐบาลกำลัง “ปลื้ม” กับตัวเลขส่งออกและการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ในอีกมุมหากไปถามพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร ตลอดจนอาชีพอิสระประเภท “หาเช้ากินค่ำ” ต่างมีแต่เสียง “บ่น”ดังระงมไปทั่วว่าเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง ทำมาค้าขายฝืดเคือง
ที่เวทีเสวนา “ประชารัฐคืออะไร เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีคนจนประมาณ 5.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 963,000 คนจากปี 2558 โดยกลุ่มคนที่จนที่สุดมีรายได้ประมาณ 9,604 บาทต่อเดือน มีรายจ่ายอยู่ที่ 12,163 บาทต่อเดือน ซึ่ง “ภาวะติดลบทางการเงิน” ทำให้คนจนไม่ได้รับอาหารเท่ากับเกณฑ์ที่ควรจะได้รับ
นักเศรษฐศาสตร์จาก ม.เกษตรศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตว่า ผลสำรวจของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ว่าด้วยตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน เปรียบเทียบระหว่างปี 2558 และ 2560 พบว่า “กลุ่มคนที่จนที่สุดรายได้น้อยลง” โดยเมื่อพิจารณารวมแล้ว “คนไทย ร้อยละ 40 รายได้น้อยลง ในขณะที่กลุ่มที่รวยอยู่แล้วกลับมีรายได้เพิ่มขึ้น” ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจเติบโตในกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะในเมื่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่เริ่มขยับตัวดีขึ้น แต่เหตุใดคนจนยังคงจนลง?
“ไม่ใช่ว่าอาหารไม่พอ แต่คนจนเข้าถึงอาหารไม่ได้เพราะมีราคาแพงขึ้นอย่างมาก ราคาที่แพงขึ้นนี้เกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์มากนัก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่คนกลาง และคนที่ได้มากที่สุดคือคนที่อยู่ปลายทาง ซึ่งเป็นคนที่ทำนโยบายประชารัฐ จะเห็นได้ว่า การดำเนินการนี้ทำแล้วยังไม่เห็นผลในภาพรวม แต่เห็นผลบางส่วนอย่างที่รัฐโฆษณากัน” ดร.เดชรัต ระบุ
อนึ่ง...วิธีการที่ “ภาครัฐดึงกลุ่มทุนใหญ่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” อย่างกรณีประชารัฐนั้น “ไม่ใช่เรื่องใหม่” แต่เคยมีมานานแล้วในต่างประเทศ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่าง “ไซบัตสึ” (Zaibutsu) หรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ของ ญี่ปุ่น มาตั้งแต่หลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองและปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ดร.วาสนา กล่าวว่า ในสมัยนั้นรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยขาดแคลนเงินทุนอย่างมาก จึงได้ชวนภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศเข้ามาผ่านระบบสัมปทานโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ผลคือหลังจากนั้น นายทุนได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าหนี้ให้เงินและเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสาธารณูปโภคไปด้วยอีกทาง ท่ามกลางรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ในมุมหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มทุนเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่น “พัฒนาอย่างก้าวกระโดด” ก็จริง แต่ก็กลายเป็น “แรงกดดัน” ให้รัฐบาลเร่งหาทรัพยากรวัตถุดิบและตลาดขายสินค้า จนนำญี่ปุ่นกระโจนเข้าสู่สงครามโลกในเวลาต่อมา
เช่นเดียวกับที่ ฮ่องกง หลังจากกลับคืนสู่การปกครองของ จีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกข้อบังคับว่า “ผู้รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีน” ซึ่งปัญหาคือ ผู้ได้รับอนุมัติมักจะ “มาจากกลุ่มทุน” ทำให้การออกนโยบายต่างๆ เป็นไปเพื่อ “เอื้อกลุ่มทุน” มากกว่าประชาชนโดยรวม คุณภาพชีวิตของคนชั้นกลางและล่างบนเกาะฮ่องกงแย่ลง หรือแม้แต่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ณ กรุงปักกิ่ง ก็ใช้วิธีการเป็นพันธมิตรกันระหว่างกลุ่มทุนกับฝ่ายการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในปัจจุบัน
“อย่างไรก็ตาม นโยบายของจีนและญี่ปุ่นต่างกับประชารัฐ คือ บริษัทหลายบริษัทที่เข้าร่วมประชารัฐมีลักษณะข้ามชาติ กำไรของเขาไม่ได้กลับมาเพื่อความมั่นคงหรือความอยู่ดีกินดีของคนไทย ส่วนตัวจึงรู้สึกว่า พันธมิตรระหว่างอำนาจรัฐกับทุนในยุคประชารัฐมีแนวโน้มคล้ายกับจักรวรรดินิยมในอดีต”ดร.วาสนา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า “บริษัทประชารัฐรักสามัคคี” เป็นวิสาหกิจชุมชนจัดตั้งเพื่อให้เอกชนไปช่วยชาวบ้านและหาตลาดให้ ด้วยความคาดหวังว่า “บริษัทเอกชนจะนำความรู้ของภาคเอกชนไปช่วยชาวบ้าน” คำถามคือ“เหตุใดถึงไม่สนับสนุนบทบาทของวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้าน?” ที่มีอยู่แล้วดั้งเดิม ซึ่งเป็นกิจการที่ “ชาวบ้านถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์” และย้ำว่า การนำภาคธุรกิจเอกชนมาขับเคลื่อนที่แทบจะควบคุมรัฐ เป็นการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอันตราย
“ทำไมไม่เริ่มต้นจากด้านล่าง? ถ้าเอกชนบริสุทธิ์ใจที่จะช่วย ทำไมไม่เริ่มต้นจากฐานล่างที่เป็นประชาชนก่อน แทนที่จะไปเริ่มจากด้านบนอย่างรัฐหรือเอกชนเช่นนี้ หากจะทำประชารัฐ ภาคประชาชนจะต้องเป็นใหญ่ และสมาทานสิทธิในการเข้าถึงทุนหรือทรัพยากรของภาคประชาชน การจัดสรรที่ดิน ป่าไม้และน้ำ ที่ปัจจุบันถูกลิดรอนมาโดยตลอดต้องให้ประชาชนเข้าถึงให้ได้” ดร.สามชาย ทิ้งประเด็นคำถาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 8 ธ.ค. 2560 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับหลายหน่วยงาน ว่ารัฐบาลเตรียมแผนยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงความยากจนมากที่สุด อาทิ จัดทำฐานข้อมูลครบวงจร (Big Data) เกี่ยวกับการเกษตรตั้งแต่เพาะปลูกถึงส่งขาย ส่งเสริมกลไกสหกรณ์ชุมชน และสร้างการท่องเที่ยวในพื้นที่
นอกจากนี้สำหรับเกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญลงไปแก้ปัญหาแบบ “เสื้อสั่งตัด” วิเคราะห์หาหนทางที่เหมาะสมกันเป็นรายบุคคล เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพความเป็นอยู่ดีขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เมื่อสรุปมาตรการทั้งหมดแล้วจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยคาดว่าจะได้เห็นหน้าตามาตรการต่างๆ ในช่วงขึ้นปีใหม่ 2561 ที่จะถึงนี้ ดังนั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า...
ในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึง 1 ปี หากยึดตาม Road Map ที่จะต้องมีการเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินปี 2561 รัฐบาลโดย คสช. จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรได้มากน้อยเพียงใด?
ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2530’s ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมในชื่อ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) แม้มุมหนึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่มาก่อนการเข้าไปของอุตสาหกรรมดังนั้นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(ครศ.) หรือ EEC ได้เปิดเผยเมื่อเดือน มี.ค. 2560ว่ามีแนวคิดจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลงทุน EEC” (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) เพื่อดูแลชุมชนอย่างครบวงจรทั้งสิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข มุ่งหวังว่าจะให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 14 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.