เกษตร 4.0-ทุนใหญ่เกษตร กับแนวคิด 'อ.ยักษ์'
การเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของ วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการสานต่อเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา ถูกจับตามองและตั้งความหวังจากหลายฝ่ายไม่น้อยว่า ด้วยประสบการณ์และแนวคิดด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงของ อ.ยักษ์-ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตในเรื่องศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ ป่า เมื่อเข้ามาเป็นเสนาบดีในกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องกับคนตั้งแต่เกษตรกรจนถึงกลุ่มทุนใหญ่ธุรกิจการเกษตร อาจทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นในวงการเกษตรเมืองไทย
วิวัฒน์-อ.ยักษ์ ที่ใช้เวลาตัดสินใจ 1 วันหลังมีโทรศัพท์สายตรงจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ทาบทามให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เปิดห้องทำงานในกระทรวงเกษตรฯ พูดถึงการทำงานต่อจากนี้หลายเรื่อง ทั้งการนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์พระราชาไปขับเคลื่อนเพื่อต่อยอดให้มากขึ้น การสานต่อโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงแนวคิดเรื่อง เกษตร 4.0 และมุมมองต่อ ทุนใหญ่ในธุรกิจการเกษตร
ถามว่ามองอย่างไร กับเสียงที่พูดกันมาตลอดว่ากระทรวงเกษตรฯ ออกนโยบายลักษณะเอื้อกลุ่มทุนภาคเกษตรบางกลุ่มในลักษณะทุนผูกขาด วิวัฒน์-อ.ยักษ์ ตอบว่าผมรู้มานานแล้ว เห็นปัญหานี้มานาน เรื่องนี้คิดว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป แล้วที่สำคัญที่สุดน้ำหนักจะไปอยู่ที่การเดินตามรอยพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เอื้อกลุ่มทุน แต่ขณะเดียวกันท่านก็มีรับสั่งว่าลูกเหมือนกัน กลุ่มนายทุนคนรวยก็เป็นลูก เป็นลูกคนโต คนจนก็เป็นลูกคนเล็ก ถ้าคนรวยรังแกคนจน พี่รังแกน้องก็ต้องลงโทษ แต่หากพี่มาช่วยอุ้มชูน้องก็ให้รางวัลพี่ ก็เป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นคนไทยด้วยกัน ก็ต้องอุ้มชูกัน หากน้องยังอ่อนแอ ยังไม่แข็งแรง ยังเดินไม่ได้ จะไปใช้งานหนักก็ไม่ได้ ต้องดูแลอุ้มชูกัน
สังคมก็แบบนี้ ท่านก็เคยมีรับสั่งว่าสามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย น้ำหนักเราจะทุ่มไปที่คนที่ด้อยโอกาสเป็นหลัก รายย่อยที่อยู่นอกเขตชลประทาน แต่กลุ่มทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชลประทาน มีกำลังมากกว่า มีที่ดินเป็นร้อยไร่ หรือทุนใหญ่มีที่ดินเป็นแสนไร่ ก็ต้องให้อยู่ด้วยกันให้ได้ เหมือนกับคุณเป็นนักเรียน เรียนมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก อยู่ห้องเดียวกัน ในห้องเรียนก็จะต้องมีทั้งคนดี คนเอาเปรียบเพื่อน คนมีน้ำใจกับเพื่อน แต่ยังไงก็ต้องอยู่ด้วยกัน เรียนด้วยกันจนจบให้ได้ นี่คือแนวพระราชดำริที่ให้พี่น้องอยู่ด้วยกัน แต่พี่ต้องมาช่วยอุ้มชูน้อง
- ก็คือไม่ได้ปฏิเสธกลุ่มทุน?
จะปฏิเสธได้อย่างไร เกษตรกรจะไปค้าขายได้อย่างไรหากไม่พึ่งคนค้าขายเก่งๆ ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่ต้องมีกระทรวงพาณิชย์ คือก็ต้องมีคนค้าขายเก่งๆ แต่ต้องให้ชาวบ้านเขาผลิตเก่ง บางอย่างเขาขายกันได้เอง แต่หากจะไปขายแข่งในระดับโลก ทำมาเสร็จแล้วบินไปขายเลย เอาข้าวไปขายที่เมืองจีน แล้วจะรอดหรือชาวนา เพียงแต่ต้องไม่มีการเอาเปรียบกัน ต้องมีระบบที่โปร่งใส เชื่อมโยงกันให้ได้ เปิดข้อมูลให้ดู
ผมคิดว่ามันเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ว่ามันจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินภายใน 1 ปี 2 ปี เป็นไปไม่ได้ อย่างเรื่องการเลิกทาสต้องใช้เวลากี่ปี ลองไปศึกษาดู รัชกาลที่ 5 ก็ยังค่อยๆ ผ่อน ใช้เวลาหลายปี แล้วคนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้
ผมเชื่อมั่นในปรัชญา-ทฤษฎี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านได้พระราชทานทฤษฎีต่างๆ ไว้ร่วม 40 กว่าทฤษฎี และมีตัวอย่างการปฏิบัติหลายหมื่นตัวอย่าง ก็ไปดูไปศึกษา แล้วนำมาปรับประยุกต์ให้เหมาะตามนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ที่ให้นโยบาย ต่อ-เติม-แต่ง เพื่อให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน เพราะโลกเปลี่ยนแล้ว เราต้องปรับตัว แต่จะปรับตัวอย่างไรสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมี ยุทธศาสตร์เพื่อให้การทำมีความต่อเนื่อง
จากที่บอกตอนต้นเรื่องนโยบาย ต่อ-เติม-แต่ง ของรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ในเวลานี้เรื่องดังกล่าวได้รับการขยายความไว้ดังนี้
วิวัฒน์-รมช.เกษตรฯ บอกว่า ได้รับมอบหมายจากนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ดูแลรับผิดชอบงาน โดยจะแบ่งออกเป็นการรับผิดชอบงานตามภารกิจกลุ่มงาน แยกเป็นงานด้าน น้ำ รับผิดชอบกรมชลประทานและกรมฝนหลวง ส่วนเรื่อง ดิน ได้รับผิดชอบกรมพัฒนาที่ดิน กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และภารกิจด้านคนก็จะรับผิดชอบงานด้านสหกรณ์ โดยหน่วยงานที่ได้รับผิดชอบคือ กรมส่งเสริมสหกรณ์, กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมหม่อนไหม รวมถึงองค์การมหาชน คือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่คลองหนึ่ง จังหวัดปทุมธานี งานในหน้าที่จึงรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น 7 กรม 3 องค์การมหาชน
นายวิวัฒน์-รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นโยบายหลักของกระทรวงเกษตรฯ รมว.ได้ให้นโยบายไว้ดีมากภายใต้หลัก ต่อ-เติม-แต่ง
โดย "ต่อ" ก็คือ การสานต่องานเดิมที่อดีตรัฐมนตรีของกระทรวงเกษตรฯ เขาทำไว้ดีแล้ว ก็ทำต่อไป โดยเร่งงานเดิมที่ทำไว้ให้มีประสิทธิภาพ
ส่วน "เติม" ก็คือการต้องมาช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอะไรต่อไป โดยฟังทั้งจากข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชน ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ที่มีสายสัมพันธ์ มีเน็ตเวิร์กกับประชาชนทั้งประเทศ จึงทำให้มีข้อมูลจากทุกภาคส่วน ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้มา เติม งานที่ต้องทำต่อไปให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อดูว่าการทำงานตรงไหนเป็นอย่างไร ขัดข้องอย่างไร
และสุดท้าย "แต่ง" ซึ่งงานส่วนไหนที่เมื่อทำไปแล้วลักษณะงานเปลี่ยน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยน คนเปลี่ยน ก็ต้องมาปรับเปลี่ยน ตกแต่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะจะให้ทำทุกอย่างเหมือนเดิมก็ไม่ได้ ก็ต้องมีทั้งเปลี่ยน ปรับ และแต่งให้เหมาะสมกับเกษตรกรและประชาชนที่มีรายได้น้อยมากที่สุด
ดังนั้น ผมคิดว่านโยบาย 3 ต. คือ ต่อ-เติม-แต่ง เมื่อได้รับข้อมูลต่างๆ มาแล้วก็จะทำให้การทำงานตามนโยบายของ รมว.เกษตรฯ มีความสมบูรณ์
ถามลงรายละเอียดว่า เรื่องน้ำจะมีแนวนโยบายการทำงานอย่างไร วิวัฒน์-รมช.เกษตรฯ ขยายความว่า เรื่องน้ำผมว่าคนไทยประเทศไทยเราโชคดีที่สุดในโลก ที่เรามีพระมหากษัตริย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านทรงเชี่ยวชาญเรื่องน้ำมากๆ เรื่องนี้คนไทยต่างรู้ดีอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องอธิบายมาก แต่ในเรื่องน้ำที่เป็นการจัดการแบบง่ายๆ ซึ่งต้องมาดูว่าเราจะทำอย่างไร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ให้แนวคิดไว้ว่าให้ทำตามแนวทางของรัฐบาลในเรื่อง ประชารัฐ ที่หมายถึงทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ต้องบูรณาการร่วมมือกันให้ได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เพื่อให้ประชารัฐเกิดพลังขึ้นในการแก้ปัญหา
เรื่องน้ำโดยพื้นฐานองค์ความรู้ที่ในหลวงท่านเคยพระราชทานเอาไว้ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับคนในกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้คนในกระทรวงเข้าใจงานของพระองค์ท่านให้ชัดเจน และจากนั้นเราก็ต้องมาดูกันว่าจะสื่อสารอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีบริหารจัดการน้ำ
เรื่องการจัดการ พระองค์ท่านก็ทรงทำด้วยวิธีการคำนวณน้ำฝนที่ท่านทรงเชี่ยวชาญจริงๆ เช่นเรามีพื้นที่ 1 ไร่ หากมีฝนตกเฉลี่ยสมมุติว่า 1,000 มิลลิเมตร หรือ 1 เมตร หรือเท่ากับ 100 เซนติเมตร ที่แปลว่าหากน้ำไม่ไหลไปไหนเลยก็จะท่วมสูงเท่ากับ 1 เมตร หากคิดปริมาณตลอดทั้งปีเท่ากับท่วม 1 เมตร แต่ข้อเท็จจริงคือน้ำก็ต้องซึมลงดิน น้ำก็หลากทิ้งไป มันก็แห้งแล้ง
วิธีการง่ายๆ ก็คือต้องเก็บเอาไว้ ซึ่งตั้งแต่ยังไม่มีหน่วยงานราชการตั้งขึ้นมาทำเรื่องน้ำ ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาทำนาโดยวิธีการกั้นคันนาขึ้นใหญ่ๆ น้ำก็ซึมลงไปสักครึ่งหนึ่ง ก็จะเหลือครึ่งหนึ่ง เท่ากับน้ำก็จะถูกเก็บไว้ครึ่งเมตรหรือ 50 เซนติเมตร ก็เหลือเฟือในการทำนา แต่ 50 เซนติเมตรทันที จะไปตกกล้าได้อย่างไร จะไปดำนาได้อย่างไร เพราะยังเล็ก เขาก็ขุดหนองน้ำ ทุกบ้านจึงมีหนองน้ำ ทำให้น้ำก็จะตื้นลง แต่ว่าฝนไม่ได้ตกทีเดียว แต่ตกเฉลี่ยทั้งปี 5 เดือน เท่ากับ 1 ปี ฝนตกเฉลี่ยคิดเป็น 65 วันเท่านั้นโดยประมาณ อีก 300 วันฝนไม่ตก แม้จะเป็นฤดูฝนก็ไม่ใช่ว่าฝนจะตกทุกวัน ดังนั้นก็บริหารจัดการได้
ชาวบ้านเขาเก่งมาก เขาทำนาได้โดยไม่มีระบบชลประทาน ปัจจุบันนอกเขตชลประทานร้อยกว่าล้านไร่ ชาวบ้านก็ยังทำนากันได้อยู่ ทั้งที่ไม่มีชลประทานไปช่วยเขา ชลประทานจัดการได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ 40 กว่าล้านไร่ ตรงนี้สำคัญมาก
วิวัฒน์-รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายต่อ-เติม-แต่งข้างต้น ดังนั้นวิธีการของชาวบ้านที่ใช้การทำคันนาก็ต้องทำต่อไป เรามีช่างเทคนิคก็ต้องนำไปคำนวณวิธีการที่ผมบอก แล้วไปอธิบายให้ชาวบ้านฟัง หากเขาเข้าใจทุกอย่างก็จะง่าย ก็ด้วยวิธีการคือ เมื่อฝนตกมาอย่าไปทำคันนาเล็กๆ ต้องทำใหญ่ๆ แล้วบนคันนาก็ปลูกพืชอื่นๆ เช่น กล้วย พริก
ในความเป็นจริงผลผลิตบนหัวคันนามีค่ามากกว่าข้าวในนา อย่างข้าวตันละ 6,000 บาท เท่ากับกิโลกรัมละ 6 บาท แต่กล้วยตันละเป็นหมื่น หรือพริกตันละ 2-3 แสน เท่ากับกิโลกรัมละเกือบ 300 บาท แต่ข้าวเขาปลูกไว้เป็นอาหาร ไว้ทำบุญทำทาน ไว้เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อ เพราะเรากินข้าวเป็นอาหารหลัก แล้วพอเกี่ยวข้าวถึงค่อยวางแผนจะนำไปขาย ซึ่งขายก็ไม่ได้เงินมากเท่าใด แต่หากอยากขายแล้วได้เงินมากก็ต้องขายพืชที่ปลูกบนคันนา ขายพริก ขายผัก ขายกล้วย ขายหัวปลี
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ในหลวงทรงเคยแนะนำไว้แล้วว่า ให้ทำในสิ่งที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ บนหลัก ภูมิกับสังคม สังคมก็คือสิ่งที่ชาวบ้านเขาทำอะไร ศรัทธาอะไร เขากินอะไรไม่กินอะไร เช่นเขาไม่กินหมู ก็ไม่ควรไปส่งเสริมให้เขาเลี้ยงหมู และเรื่องสังคมก็มีอีกหลายมิติ เช่นหากเขาลงทุนไปแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นทำอะไรก็จะแห่กันไปทำตามหมด แบบนี้ก็ไปไม่รอด เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่ององค์ความรู้ที่ในหลวงท่านก็ทรงเคยพระราชทานเอาไว้ ตรงส่วนนี้เราต้องมาดูว่าเราจะไปสนับสนุนเขาได้อย่างไร แต่ รมว.เกษตรฯ ที่เป็นอดีต ผวจ.มาก่อน มีประสบการณ์มากในระดับพื้นที่ ก็จะสามารถไปประสานกับหน่วยงานระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ให้ทำงานให้เกิดผลเป็นจริงได้ ไม่อย่างนั้นหากเรา กระทรวงเกษตรฯ มีการประชุมกันในกระทรวง มีการมอบหมายงาน ให้งบประมาณไปทำ แต่การทำงานในพื้นที่เขาอยู่ที่จังหวัด เวลาประชุมก็ไปประชุมที่ศาลากลางจังหวัด แล้วลงไปทำงานกับชาวบ้าน ผวจ.จึงมีบทบาทสำคัญ
- ฟังจากที่บอกก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคนี้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนตามแนวทางศาสตร์พระราชา เช่น เศรษฐกิจพอเพียง?
แน่นอน
- แต่ตัวอาจารย์เองก่อนจะมาเป็น รมช.เกษตรฯ ก่อนหน้านี้ทำงานในภาคประชาสังคม มาวันนี้มาทำงานในระบบราชการ ในส่วนของกลไกราชการจะพร้อมขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหน?
รมต.ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 3 คน เราได้คุยกันแล้ว ต่างก็เห็นตรงกันว่าเราทั้งสามคนต้องทำงานแบบคุยกันประจำ ใครมีข้อมูลอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน
..อย่างผมมีข้อมูลบางส่วนที่เคยทำงานขับเคลื่อนมากับภาคประชาสังคมกับภาคประชาชนมาเป็นแสนคน แต่อย่างในส่วนของ รมว.เกษตรฯ ก็มีข้อมูลมากกว่าผม เพราะเคยอยู่กระทรวงมหาดไทย มีการติดต่อกับคนที่อยู่ในสนามจำนวนไม่น้อย ก็จะนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนคุยกัน
ผมเคยเป็นครูสอนด้านการวางแผน เราก็รู้ดีว่าหากทุกคนมีเป้าหมายและมีการรับรู้แบบเดียวกัน ตรงกัน คือ เราจะเดินตามรอยพ่อ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านก็ได้พระราชทานแนวทางว่าให้สืบสานงานพ่อ และเชื่อมั่นว่าแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านเคยได้พระราชทานเอาไว้ หากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน วันที่ ครม.ได้เดินทางเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ท่านก็บอกไว้ว่าหากทำตามในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เชื่อมั่นว่าประชาชนจะพึงพอใจ จะแก้ปัญหาทุกข์ยากของประชาชนได้จริง สิ่งนี้ท่านได้พระราชทานหลัง ครม.ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ท่านก็ทรงให้คำแนะนำ ก็เป็นที่อบอุ่นใจของ ครม.ใหม่มาก
- ยืนยันว่า ครม.จะสานต่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา?
ทำเต็มที่ รมว.เกษตรฯ ก็ได้บอกกับ รมช.เกษตรฯ ทั้งสองคนว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้เต็มที่ และมีการบอกเรื่องนี้ไว้ในที่ประชุมข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยได้มอบหมายให้ผมเป็นคนรับผิดชอบประสานเรื่องนี้
สานต่อโครงการพระราชดำริ
วิวัฒน์-รมช.เกษตรฯ ยังได้กล่าวถึงโครงการพระราชดำริที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ ด้วยว่า สำหรับโครงการพระราชดำริที่มีเกือบ 4,600 โครงการ พบว่ากระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้องเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่มี 6 ศูนย์ กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบ 5 ศูนย์ ส่วนอีก 1 ศูนย์ที่เพชรบุรี รับผิดชอบโดยตำรวจตระเวนชายแดน แต่ว่าผู้ปฏิบัติงานในสนามเป็นคนของกระทรวงเกษตรฯ
คือไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดที่เป็นเจ้าของโครงการ แต่สุดท้ายแล้วผู้ปฏิบัติงานในสนาม ผู้ประสานงานกับชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคนของเกษตรฯ เกือบทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องการจัดการน้ำ ทุกโครงการที่ต้องการน้ำ ที่ต้องการให้ดินสมบูรณ์ขึ้น กรมชลประทานและกระทรวงเกษตรฯ ก็จะเข้าไปสนับสนุนทั้งสิ้น
ดังนั้น ทั้งเรื่องน้ำ ดิน และเรื่องคน รวมถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์ ซึ่งชาวบ้านก่อนหน้านี้เก่งมากในอดีต จนมีพืชพันธุ์ธัญญาหาร พันธุ์ข้าวที่เป็นที่หนึ่งของโลก เรื่องนี้เราไม่ธรรมดา จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้รักษาความรู้ความสามารถตรงนี้เอาไว้ให้ได้ รัฐก็มีหน้าที่ไปส่งเสริมสหกรณ์ให้เขาแข็งแรง มีการไปพัฒนาด้านต่างๆ เช่น พันธุ์พืช การแปรรูปจนนำไปขายได้ เพราะตลาดโลกก็ต้องการอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สุดในโลก แล้วต่อไปวิกฤติน้ำกับอาหารจะเป็นวิกฤติใหญ่ของโลกที่กำลังจะมาแล้ว
หลังเข้ารับตำแหน่งก็พยายามทำความเข้าใจกับงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็สบายใจเพราะหน่วยงานที่ได้รับผิดชอบกำกับดูแลก็เคยทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 มาแล้ว หลายคนก็ดีใจ ผมก็เหมือนกลับมาบ้าน
ในฐานะมีเครือข่ายภาคประชาสังคมมาก่อน ก็รู้จักคนมาก เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน จะนำสิ่งเหล่านี้มาสนับสนุนการทำงานที่รับผิดชอบได้มากแค่ไหน?
วิวัฒน์-อ.ยักษ์ ย้ำว่าก็คงทำได้มากกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้มีหน้าที่ ไม่ได้มีงบประมาณ ไม่มีทีมงาน เราทำงานโดยใช้อาสาสมัคร ก็ทำงานอย่างที่เห็น แต่มาตอนนี้เรามีทั้งอาสาสมัคร มีงบประมาณและส่วนราชการร่วม 20 กว่าหน่วยคอยสนับสนุนเต็มที่ รวมถึงรัฐบาลก็สนับสนุน
ผมจึงเชื่อมั่น และเป็นการเชื่อแบบไม่ได้เชื่อลอยๆ เพราะผมเคยทำงานร่วมกับพวกเขา (ข้าราชการ) มาก่อน หลายคนศรัทธาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาก หลายคนทุ่มเททำงานในพื้นที่ อย่างเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่มีการจัดงาน "วันดินโลก" ที่โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เจ้าหน้าที่เขาทำงานทุ่มเทมาก เพราะมีคนไปศึกษาดูงานกันมากปีละเป็นแสนคน ผมก็เห็นว่าพวกเขามีกำลังใจและมีศรัทธาในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำเป็นตัวอย่างให้ดู รมว.เกษตรฯ ไปเห็นก็คุยกันว่าเราจะขยายสิ่งนี้ไปถึงชาวบ้านได้อย่างไร ก็จะมีการวางแผนการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือที่เน้นการประสาน เพราะแม้ที่ผ่านมาจะประสานกันอยู่แต่ก็ยังต่างคนต่างทำ จึงต้องมาดูว่าจะประสานอย่างไรเพื่อให้เป็นไปในลักษณะการ "ต่อ-เติม-แต่ง" จากงานที่เคยทำไว้ ไม่ใช่ว่าพอเปลี่ยนรัฐมนตรีในกระทรวงแล้วก็ไม่ทำเลย ไม่ได้อย่าไปทิ้ง อะไรที่ดีๆ ต้องคัดมาแล้วก็มาเร่งทำต่อโดยเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
การทำงานด้านต่างๆ ในเรื่องของงบประมาณที่เรามีจำกัด เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย เห็นได้จากจีดีพีของไทย เมื่อเรามีเงินไม่มากการใช้งบประมาณต้องระมัดระวัง ใช้ให้เหมาะสมมากที่สุด ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเทคนิคการบริหารจัดการ เช่น บางโครงการต้องดูเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เช่น หากดูแล้วถ้าไม่ลงทุน ในอนาคตอาจเกิดความเสียหาย 10,000 ล้านบาท แต่หากลงทุนตอนนี้ใช้งบ 1,000 ล้านบาท แล้วจะหยุดความเสียหายได้หมื่นล้าน แบบนี้ก็น่าลงทุน แต่หากลงทุนหมื่นล้านแต่จะไปแก้ความเสียหายได้พันล้าน แบบนี้ไม่น่าลงทุน แบบนี้คือความเหมาะสมทางการเงิน เราก็จะหยิบเรื่องเหล่านี้มาหารือกัน
ผมเชื่อว่าหากเราอธิบายให้ข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ ฟัง เขาจะเข้าใจ ผมก็เคยเป็นข้าราชการมาก่อน ผมจึงเข้าใจว่าข้าราชการเขาคิดอย่างไร เขาก็เป็นคนดี เพียงแต่ต้องสร้างโอกาสไปสนับสนุนเขาให้ทำงานเต็มกำลัง ระบบราชการมีระบบอยู่แล้วในการให้รางวัลคนที่ทำงานและระบบลงโทษ เราก็ทำตามระบบ ให้ระบบมันเดินไปให้ได้ พัฒนาคนขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แต่แน่นอนว่าก็ต้องมีความเพียร ต้องอดทน ต้องอภัย การเป็นรัฐมนตรีก็ต้องฟังให้มาก ไม่ใช่ว่าไปถึงก็สั่งๆๆ แล้วใครเขาอยากจะฟังเรา เรายังไม่ฟังเขา แล้วเขาจะมาฟังเราหรือ ผมก็ตั้งใจจะไปฟังเขา
เกษตร 4.0 สวนทางเศรษฐกิจพอเพียง?
วิวัฒน์-รมช.เกษตรฯ ให้ทัศนะกรณีนโยบายขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และเกษตร 4.0 หลังเราถามไป โดยได้เน้นย้ำว่า 4.0 หมายถึงว่าเราต้องพัฒนาแล้ว จะมาทำเหมือนเดิมทุกอย่างไม่ได้ เพราะเดิมคุณไปเปิดป่าขึ้นมา ฝนก็ตกตามฤดูกาล เปิดป่าดินก็สมบูรณ์มาก แล้วเอาเมล็ดข้าวโยนไป แล้วอีก 4 เดือนมาเกี่ยวข้าวได้เลย แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ฝนไม่ได้ตกต้องตามฤดูกาล เราต้องรู้เรื่องของเมฆและฝน
อย่างการทำโครงการ ทำห้องแล็บวิจัยเรื่อง Cloud Chamber ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อันนี้คือ 4.0 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงทำไว้แล้ว ที่เป็นเทคโนโลยีก้าวหน้า เป็นนวัตกรรมขั้นสูงของโลก อันนี้แหละคือ 4.0 ผมว่าหากเราทำกันจริงๆ งานที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านเคยทรงทำคือ 5.0 ด้วยซ้ำไป Beyond 4.0 เลย แบบนี้คือสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงคาดการณ์ไว้แล้ว เราก็เพียงแต่ต้องนำมาสานต่อท่าน ก็อย่างที่บอกคือต้อง "ต่อ-เติม-แต่ง" งานของพระองค์ท่าน แล้วสุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนยากคนจน เราก็มาต่อ-เติม-แต่งเพื่อให้งานของพระองค์ท่านมีพลังที่จะอุ้มชูคนได้มากที่สุด
- แม้รัฐบาลพยายามผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เกษตร 4.0 แต่ปัญหาของเกษตรกรก็ยังมีอยู่มากและเกิดมานาน เช่น หนี้สิน ความเหลื่อมล้ำ?
อันนี้คือเรื่องใหญ่ คือคุณผลิตแบบเดิม ผมยกตัวอย่างปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ข้าวอย่างเดียว ยางพาราอย่างเดียว ผมเคยบอกกับคนที่มาเรียนกับผม เป็นลูกศิษย์ผมที่มีร่วม 3-5 แสนคน ว่าอย่าไปทำอะไรแบบตามแห่ เห็นคนอื่นปลูกอะไรก็แห่ตาม สิ่งที่ในหลวงท่านเคยสอนคือ ให้ไปดูว่าบรรพบุรุษ ท่านทำอย่างไร บรรพบุรุษแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกข้าวกิน แล้วที่เหลือก็ไว้ทำพันธุ์ในปีหน้า แล้วก็นำที่เหลือไปแจกให้คนอื่นกินด้วย เอาไปทำบุญ แบบนี้คือสิ่งที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ดีแล้ว เราก็ต้องนำสิ่งนี้ มาทำต่อ
และเมื่อมีพื้นที่บางส่วนที่น้ำท่วมแล้วมันหลากลงมา ก็ทำเป็นแหล่งรับน้ำ ทำเป็นหนองน้ำ นำไปเลี้ยงปลาเลี้ยงกุ้ง จะได้มีสายบัวกิน ผักกูด มีพืชน้ำสารพัดกิน เราจะได้มีอาหารปลอดภัย สิ่งนี้บรรพบุรุษเราพ่อแม่เราทำไว้ดีแล้ว เราก็มาทำต่อ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมตอนนี้มันเปลี่ยนแปลง เป็น Climate Change Adaptation เราก็ต้องดูว่าเราจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะที่โลกแปรปวนขนาดนี้ จะอยู่แบบเดิมก็ไม่มีทาง อยู่ไม่ได้ คุณจะไปปลูกข้าวขายข้าวกิโลกรัมละหกบาทแล้วหวังจะรวย แค่คิดก็ผิดแล้ว
เศรษฐกิจพอเพียง beyond 4.0
ถามย้ำอีกรอบแนวนโยบายเกษตร 4.0 ไม่ได้สวนทางหรือขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง วิวัฒน์ ตอบกว่าก็ทำให้มันเต็มสมบูรณ์ แล้วจะก้าวหน้าขึ้น แนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่าน ผมว่า ล้ำมากกว่า 4.0 แต่ 4.0 จะต้องเป็นฐานสำคัญให้กับปรัชญาของพระองค์ท่านในยุคปัจจุบัน เพราะยุคปัจจุบันเปลี่ยนเยอะมาก เช่นนอกเขตชลประทานคุณจะทำอย่างไร จะให้รอฝนตกอย่างเดียวโดยที่ไม่มีระบบจัดเก็บน้ำ ถามว่าคุณจะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน ก็ต้องทำแบบคนจน ทำด้วยการปั้นคันนา ขุดหนองขุดคลองเล็กๆ ผมทำแบบคนจนมาตั้งแต่เล็กๆ ที่บ้านผมมีหนองน้ำสามหนอง คลองก็ทำ ก็มีกังหันสูบน้ำเข้านา แล้วบนคันนาก็มีทั้งต้นมะพร้าว มีกล้วย มีสะเดา เนื้อไม้สะเดาก็เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านทำมาตั้งแต่อดีต เมื่อทำไว้ดีแล้วก็เอามาทำต่อ เรื่องที่ดีที่เคยทำกันในอดีตยังมีอีกเยอะ แล้วที่สำคัญในหลวงได้พระราชทานคำแนะนำไว้แล้วว่าอย่าเอาไปทิ้ง ของดีของเก่าก็ต้องนำมาทำต่อ-เติม-แต่งให้ได้ให้เหมาะกับสังคมยุคปัจจุบัน จะอยู่แบบเศรษฐกิจสมัยหินมันไม่ได้หรอก
ในหลวงท่านก็เคยทรงบอกไว้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เศรษฐกิจสมัยหิน อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่าต้องลาออกแล้วไปอยู่ในถ้ำ คอยนุ่งใบไม้ อันนั้นคนตีความไปเอง
“แท้จริงแล้วผมอยากบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง beyond 4.0 เลยพระองค์ท่านคิดไปก้าวหน้า คิดเลยไปล่วงหน้าเป็นร้อยปี ท่านไม่ได้ทรงคิดแค่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือแค่ระยะสั้น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผมว่าน้อยกว่าพระเจ้าอยู่หัวหลายเท่า”
ผมเคยฟังที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้ว่า ถ้าเราพัฒนาพื้นที่ปลูกพืชเดี่ยว เช่น ปลูกยางหรือปลูกสับปะรดในภาคตะวันตก หากปลูกสับปะรดป่าหมด หรือทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ป่าก็จะหมด แม้มีพื้นที่เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นไร่ก็จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด เพราะปริมาณน้ำฝนไม่ตกตามฤดูกาล จึงต้องมีระบบนิเวศน์คอยควบคุม บ้านเราไม่มีหิมะก็ต้องอาศัยป่า ป่าก็มีความชื้น เมื่อเมฆเดินทางมาเจอความชื้นที่อยู่เหนือป่าปกคลุม เมฆก็จะอ้วนแล้วก็ตกมาเป็นฝน สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติ คุณจะไปอยู่เหนือธรรมชาติได้อย่างไร ฝนเทียมที่จะไปเลี้ยงเมฆให้อ้วนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรื่องนี้เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน เรื่องแบบนี้ต้องนำมาสานต่อกันจริงจัง ที่เคยมีรับสั่งว่าบรรพบุรุษเราทำไว้ดีแล้ว คือในนาข้าวเขาต้องขันน้ำไว้สูง ไม่ใช่แค่ 15 เซนติเมตรตามเทคโนโลยีที่ตะวันตกสอนมา ที่ไม่ใช่เพราะเขากั้นไว้ที่ 50 เซ็นแล้วก็คอยดักกุ้งฝอยที่ราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท ก็ได้เงินมากกว่าขายข้าวที่ราคาสมมุติว่าตันละหมื่น ก็เท่ากับกิโลละสิบบาท หากคุณจับกุ้งฝอยได้ทุกวัน วันละห้ากิโลกรัมพอ แล้วกิโลกรัมละสองร้อยบาท แปลว่ามีรายได้วันละพันบาท สิบวันก็มีรายได้หมื่นบาทแล้ว เท่ากับเก็บกุ้งฝอยสิบวันมีรายได้เท่ากับขายข้าวหนึ่งตัน แปลว่าหนึ่งไร่ทั้งปีทำทั้งฤดูกาลก็ได้หนึ่งหมื่นบาท หักต้นทุนไปหกพันบาทก็เหลือสี่พันบาท
อันนี้คือสมมุติว่าข้าวตันละหมื่นบาท แต่ข้อเท็จจริงราคาก็ไม่ถึงก็แค่หกถึงเจ็ดพัน จะทำนาเอาเงินหรือจะทำนาเอาหนี้ ถ้าทำนาอยากได้เงินต้องให้กุ้งฝอยอยู่ให้ปลาอยู่ เพราะเมื่อมีกุ้งฝอยก็จะมีปลามากิน ก็จะเป็นระบบนิเวศน์ แล้วขี้กุ้งขี้ปลาก็เอาไปทำปุ๋ยได้ ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ย
ความรู้เหล่านี้พระองค์ท่านเคยสอนไว้ทั้งสิ้น ก็ต้องนำมาอธิบายกัน แล้วสิ่งที่อธิบายดีที่สุดคือต้องทำต้นแบบให้เขาเห็น.
.........
สานต่อโครงการฝนหลวง ระดมทุน Cloud Chamber
วิวัฒน์-รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้รับผิดชอบกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เรื่องฝนหลวงเป็นเรื่องที่อยู่ในพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทุ่มเทพระวรกาย ทุ่มเททุกอย่าง เพื่อที่จะไปช่วยพื้นที่นอกเขตชลประทานร้อยกว่าล้านไร่ การที่จะขนน้ำใส่รถบรรทุกวิ่งไปมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ในหลวงท่านก็ทรงพัฒนาทำโครงการฝนหลวงขึ้นมา
โดยระยะเริ่มต้น ต้นทุนที่จะไปทำเมฆ โดยในพื้นที่ซึ่งเมฆมีไม่มาก การจะไปรวมเมฆให้อ้วนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ในหลวงพระองค์ท่านทรงทำสำเร็จแล้ว แล้วต้นทุนดำเนินการก็ไม่มาก
ผมถามอธิบดีกรมฝนหลวงฯ เขาก็บอกว่าต้นทุนหนึ่งไร่คือ 150 บาท ซึ่งต้นทุนการเอาน้ำขนบรรทุกเข้าไปยังสูงกว่าเสียอีก แต่ความสามารถในการทำฝนมันขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศ ที่เรียกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ที่ต้องมี 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ต้องใช้เวลาเลี้ยงเพื่อทำให้เกาะกัน จนความชื้นสัมพัทธ์อยู่ที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปก็จะเกิดเป็นฝน กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาทำแล้วก็มีต้นทุนสูง
ปัจจุบันมีการทำวิจัยเพื่อให้ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถทำได้แล้ว แต่พบว่าต้นทุนดำเนินการยังสูงอยู่ ผมก็หารือกับอธิบดีกรมฝนหลวงฯ เขาบอกว่าต้องการทำแล็บ Cloud Chamber ซึ่งหากไปซื้อมาก็จะใช้เงินมาก แต่หากวิจัยทำเองก็ใช้งบประมาณอยู่ที่ล้านกว่าบาท เรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงมีความเชี่ยวชาญมาก คนยอมรับกันทั่วโลก
...เราจึงต้องสืบสานพระราชปณิธาน การจะทำให้กรมฝนหลวงฯ มีความเชี่ยวชาญมีขีดความสามารถ จะต้องมีงานวิจัย มีการทำสถาบันวิจัย สร้างคนขึ้นมา แล้วจัดหาเครื่องมือในการทำวิจัยให้เหมาะสม เพื่อที่ว่าแม้อากาศจะแล้งแค่ไหน แต่ก็สามารถค่อยๆ เลี้ยงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ให้มันอ้วนจนเป็นเมฆได้ สิ่งนี้คือความสามารถพิเศษที่ในหลวงท่านทรงเคยทำไว้ให้ดู จนได้รางวัลไปทั่วโลก ดังนั้นกรมฝนหลวงฯ ก็จะต้องทุ่มเททำเรื่องนี้จริงๆ
เบื้องต้นที่กรมต้องการทำแล็บ Cloud Chamber ผมก็คิดว่าอาจไม่จำเป็นต้องรองบประมาณที่ต้องให้ ครม.อนุมัติ เพราะเงินงบประมาณรัฐก็มีจำกัด ต้องนำไปช่วยเรื่องอื่นที่ประชาชนเดือดร้อน การจะพัฒนา Cloud Chamber บางคนไม่เข้าใจอาจจะไม่เห็นด้วย ก็เลยคิดว่าจะรวบรวมคนที่เขาเคารพรักศรัทธา อยากสืบสานงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะก็ใช้งบไม่มากล้านกว่าบาท ก็คิดว่าจะหาวิธีการระดมทุน เช่น ติดต่อคนต่างๆ หรือหาใครก็ได้มาช่วยระดมทุน เพื่อที่เขาจะได้มีงบประมาณไปจัดทำแล็บ Cloud Chamber ที่จะเป็นเหมือนห้องคอยควบคุมสภาพอากาศ เพื่อจะไปทำวิจัยทดลองว่า หากความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 องศาฯ เช่นลงมาที่ 45 องศาฯ ที่แห้งจนผิวเราแตก จะสามารถค่อยๆ ทำความชื้นให้รวมตัวกันเป็นเมฆ แล้วทำให้ตกมาเป็นฝนได้
ตรงนี้ผมว่าก็ต้องสนับสนุนเขา เพื่อให้ข้าราชการของกรมใช้ความสามารถนำมาช่วยคนจำนวนมากที่อยู่นอกเขตชลประทาน ที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนยากจน เราก็ต้องเร่งสนับสนุนเขาให้ทำงานสืบสานงานของพระองค์ท่าน เพื่อจะได้ช่วยคนยากคนจนให้ได้มากที่สุด
ผมก็ได้นัดหมายลูกศิษย์ให้มารวมกลุ่มกัน ตอนนี้ได้มาแล้วประมาณสามสิบคน ให้ไปทำประชาสัมพันธ์เพื่อจัดหางบประมาณนำไปให้กรมฝนหลวงฯ เพื่อให้ได้น้ำที่ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการขนน้ำไปแจก จากนี้เราก็จะระดมกัน ผมเชื่อว่าเงินล้านกว่าบาท พี่น้องคนไทยรักพระองค์ท่านอยู่แล้ว คงไม่นานก็จะมีเงินไปบริจาคให้กรมฝนหลวงฯ ไปทำโครงการ Cloud Chamber
...การทำเรื่องนี้ใจต้องทุ่มเท ต้องไปทดลองในหลายพื้นที่ จึงต้องใช้งบในการทำวิจัยที่สูง แต่หากวิจัยสำเร็จผมว่าต้นทุนอย่าว่าแต่ร้อยห้าสิบบาทต่อไร่เลย ผมว่าไร่ละห้าร้อยบาทก็คุ้ม เพราะข้าวกำลังจะได้เกี่ยวอยู่แล้ว รวงข้าวตั้งอยู่แล้ว หากรัฐบาลยอมลงทุนไร่ละห้าร้อยบาทต่อไร่โดยที่ชาวบ้านจะได้มีข้าวกิน ผมว่าคุ้มค่ามากเพื่อให้ชาวบ้านได้มีข้าวกิน ไม่ใช่เพื่อให้มีเงิน เพราะไม่มีจะกินถึงจะตาย ต้องทิ้งนาต้องอพยพครอบครัว ทิ้งพ่อแม่ไปเป็นลูกจ้างเขา ก็ไม่ได้ เราต้องช่วยเหลือเขา
ผมว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้ก็อยู่ในพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านทรงมีรับสั่งไว้กับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอีกหลายคนว่า งานยังไม่เสร็จ พวกเราก็จะต้องมาช่วยกันสานต่อ เราต้องช่วยกัน
- การมารับตำแหน่งนี้ ทั้งเอ็นจีโอ-ภาคประชาสังคม-เกษตรกร หวังกันไว้มาก?
ก็เข้าใจ ผมทำงานทุกเรื่อง ผมใช้เวลาไตร่ตรอง ปรึกษาหารือกับสมาชิก ก็เห็นว่าในช่วงเวลาสั้นๆ ต่อจากนี้ โดยดูจากโรดแมปที่จะให้มีการเลือกตั้งก็เหลือเวลาอีกสักประมาณหนึ่งปี เรื่องไหนทำอะไรได้ในระยะสั้นก็ต้องเร่ง ส่วนงานระยะยาวเช่นเรื่อง Cloud Chamber ของกรมฝนหลวงฯ ภายในปีนี้หรือปีหน้าอาจจะไม่ทัน แต่ก็จะเตรียมการเอาไว้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง มีรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามา เขาก็ได้ใช้ประโยชน์ ที่สำคัญประชาชนได้ประโยชน์.
................................
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.