รายงานพิเศษ
อีกหนึ่งวาระร้อนของแม่น้ำสายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สนช.) คือ การผลักดันกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ตาม “ธง” อีกหนึ่งประการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557
หนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ที่เวลานี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)อันเป็นกฎหมายที่รัฐบาลนักเลือกตั้งไม่กล้าแตะ ไม่กล้าเอ่ย เพราะจะกระทบต่อนายทุนผู้สนับสนุนพรรค
จะมีเฉียดที่สุดในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่เผอิญตามกระบวนการเรื่องไปคาไว้ที่รัฐสภาจนกระทั่งมีการยุบสภาหลังจากเปลี่ยนขั้ว-ข้างการเมือง พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐบาลใหม่จะต้องยืนยันกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อ แต่เมื่อไม่มีการร้องขอจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายในกรอบ 60 วัน ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตกไป
จุดเริ่มต้นมหากาพย์ภาษีที่ดิน
มาถึงยุค คสช.มีการยื้อยุดฉุดกระชากร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลายครั้ง ผ่านมาเกือบ 4 ปี ยังออกเป็นกฎหมายไม่ได้
ไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่ทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มี สมหมาย ภาษี เป็น รมว.คลัง ในช่วง มี.ค. 2558 ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเปิดโฉมหน้าออกมาเป็นครั้งแรก แต่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังปรากฏข่าวว่าบ้านราคา 1 ล้านขึ้นไปก็ต้องถูกเก็บภาษี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งถอนเรื่องออกไปศึกษาใหม่ กระทั่งทีมเศรษฐกิจ “หม่อมอุ๋ย” ถูกปลด ในเดือนสิงหาคม 2558 เข้าสู่ยุคทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ถูกนำมาศึกษาใหม่อีกครั้ง
กระทั่งผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เป็นครั้งแรก เมื่อ 7 มิ.ย. 2559 สาระสำคัญ เช่น บ้านราคาเกิน 50 ล้านขึ้นไป เก็บตามขั้นบันได สูงสุด 0.5% ส่วนคนมีบ้านหลายหลัง ตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไปต้องเสียภาษีทันที แต่ร่างดังกล่าวก็ยังไม่ถูกส่งไปให้ สนช.พิจารณา ตามกระบวนการ เพราะถูกนำไปรื้อใหญ่ รื้อใหม่อีกครั้งหนึ่ง
และถูกส่งให้ ครม.เห็นชอบอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 และตั้งเป้าว่าจะบังคับใช้ได้ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 สาระสำคัญ อาทิ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการประกอบเกษตรกรรม กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านที่พักอาศัย กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี และที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดฐานภาษีที่ 2% และจะเพิ่ม 0.5 ทุก ๆ 3 ปี
สนช.ยื้อเวลาไปแล้ว 7 เดือน
จากนั้น 30 มี.ค. 2560 สนช. รับหลักการด้วยเสียง 190 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวดูเหมือนเป็นเรื่องยืดเยื้อเหมือนเป็นหนังชีวิต เพราะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ….. ประชุมกันไปแล้วเกิน 40 ครั้ง และขอขยายระยะเวลาการพิจารณาไปแล้วถึง 4 ครั้ง ใช้เวลาไปแล้ว 7 เดือน
ครั้งแรก 18 พ.ค. 2560 กมธ. ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน ให้เหตุผลว่า กมธ.ยังมีประเด็นอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกหลายประเด็น
ครั้งที่สอง 20 ก.ค. 2560 กมธ.ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน ให้เหตุผลว่า กมธ.ยังมีประเด็นอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกหลายประเด็น ในเรื่องกำหนดอัตราภาษี การยกเว้นภาษี และการบรรเทาภาระภาษีที่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ครั้งที่สาม 21 ก.ย. 2560 กมธ. ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน เพราะกำหนดอัตราภาษี การยกเว้นภาษี และการบรรเทาภาระภาษีที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะต้องลงไปเก็บข้อมูลจากพื้นที่จริงเสียก่อน
ครั้งที่สี่ 23 พ.ย. 2560 กมธ.ขอขยายเวลาออกไป 60 วัน เนื่องจากยังพิจารณาอีกหลายประเด็น เช่น พิจารณาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกรณีที่อยู่อาศัยที่เช่าระยะยาว และยังต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอัตราภาษีและผลกระทบที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราภาษีตามร่างกฎหมาย อีกทั้งต้องทำตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560
ลงมติให้การประชุมเป็นความลับ
ยิ่งถูกจับตามองจากกลุ่มเอ็นจีโอและผู้ที่เฝ้าจับตามองร่างกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น เพราะเมื่อ 2 พ.ย. 2560 กมธ.ขอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาเพื่อมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของ กมธ.จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 33 และครั้งที่ 35 ซึ่ง สนช.ลงมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม จำนวน 186 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
“วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. … ได้ให้เหตุผลต่อที่ประชุม สนช. ที่ต้อง “ปกปิด” บันทึกการประชุมว่า
“เนื่องจากการประชุมดังกล่าวมีการนำเสนอผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้มีการระบุชื่อบุคคลเจ้าหน้าที่ กรรมสิทธิ์ มูลค่าทรัพย์ และประเภทของโรงเรือนอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการเสียภาษี ดังนั้น หากมีการเปิดเผยบันทึกการประชุมอาจมีผลกระทบต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงสมควรไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว”
สนช.รวยที่ดิน 9 พันล้าน
แต่ประเด็นที่ถูกวิจารณ์หนักที่สุด อาจเป็นเหตุผลที่แก้กันไปมาหลายรอบนั้น ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แลนด์ลอร์ดที่ดินในรัฐบาล คสช. และแม่น้ำ 5 สาย สุดท้ายอาจเป็นการเก็บภาษีที่ “เบาหวิว” เจ้าพ่อที่ดินไม่สะเทือน ไม่ต่างจากกฎหมายภาษีมรดกที่ผ่าน สนช.ไปก่อนหน้านี้
เพราะใน 250 สนช. นอกจากนายทหาร-นายตำรวจทั้งในและนอกราชการเกือบครึ่งค่อนสภาแล้ว ยังมีข้าราชการ-อดีตข้าราชการบำนาญระดับสูงและนักธุรกิจบริหารหลักทรัพย์แสนล้านรวมอยู่
เช็กชื่อแลนด์ลอร์ดนิติบัญญัติ
กลุ่ม Land Watch ที่เฝ้าตรวจสอบการพิจารณากฎหมายภาษีที่ดินได้รวบรวมข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สิน ที่ สนช.ต้องแสดงต่อ ป.ป.ช. ซึ่งพบว่า สมาชิก สนช. ทั้งหมด 247 คน ในขณะนี้ครอบครองที่ดินที่มูลค่ารวมกันถึง 9,803,618,528 บาท
ส่วน กมธ.ที่พิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีที่ดินอยู่ไม่น้อย 1.พล.อ.กิตติ อินทสร17,377,100 บาท 2.พล.อ.อ.ชนะ อยู่สถาพร 41,220,000 บาท 3.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 79,500,000 บาท 4.พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง 59,112,750 บาท 5.นายชาญวิทย์ วสยางกูร 22,415,345 บาท 6.พล.อ.อ.ชูชาติ บุญชัย 12,900,000 บาท 7.รศ.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล 21,490,000 บาท 8.พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 13,440,000 บาท
9.พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ 37,860,000 บาท 10.พลเอก ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ 19,359,000 บาท 11.พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต 133,350,500 บาท 12.นายพรชัย ฐีระเวช ไม่มีการถือครองที่ดิน 13.พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ 14,900,000 บาท 14.พล.ร.อ. ยุทธนา ฟักผลงาม 40,434,000 บาท
15.พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร 32,861,100 บาท 16.พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง 15,606,116 บาท 17.นายสมพร เทพสิทธาืไม่มีการถือครองที่ดิน 18.พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ 50,705,000 บาท 19.นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธุ์ 617,240,259 บาท 20.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 54,837,260 บาท
ส่วน สนช.คนอื่น ๆ ทั้งทหาร พ่อค้า อดีตข้าราชการ มีที่ดินติดอันดับต้น ๆ อาทิ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มีทรัพย์สิน ที่ดิน 65 ล้านบาท คู่สมรส 601.077 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 ล้านบาท พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีทรัพย์สิน ที่ดิน 1.2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง คู่สมรส 60 ล้านบาท
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าไทย มีทรัพย์สินที่ดิน 104.090 ล้านบาท คู่สมรส 18.534 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 170.322 ล้านบาท นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต ส.ว.ปี กรรมการผู้จัดการ โรงแรมซี เอส ปัตตานี มีทรัพย์สิน ที่ดิน 133.504 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 79 ล้านบาท
เมื่อบุคคลที่ร่วมหัวจมท้ายกับ คสช.จำนวนมากเป็นเศรษฐีที่ดิน หรือ “แลนด์ลอร์ด” ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … จึงถูกคาดการณ์ว่า
หลังกฎหมายประกาศใช้ บรรดาแลนด์ลอร์ดก็คงไม่สะเทือน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.