"...ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวย 1% ของประเทศ ถือครองทรัพย์สิน 58% และกลุ่มคนรวยเหล่านี้มีอำนาจมากในการแทรกแซงการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งสุดท้ายจะเอื้อประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มคนรวยเหล่านี้ เช่น กรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่สามารถผ่านจากความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้ได้ ก็เพราะเป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนรวย..."
นับเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทย
เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยล่าสุด พบว่าในปี 2559 ไทยมีคนยากจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,667 บาทต่อเดือนสูงถึง 5.81 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.6% ของประชากร เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีคนยากจน 4.85 ล้านคนหรือคิดเป็น 7.2% ของประชากร
“สาเหตุที่คนยากจนในปี 2559 เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภคของหมวดอาหารในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 1.16% และชนบทเพิ่มขึ้น 2.29% ในขณะที่รายได้ภาคเกษตรลดลง จากผลผลิตเกษตรลดลง 2.4% และค่าจ้างแรงงานเกษตรลดลง 1.9% ส่งผลให้ครัวเรือนยากจนในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 6.7 แสนครัวเรือนในปี 2558 เป็น 8.6 แสนครัวเรือนในปี 2559 หรือคิดเป็นจำนวนคนจน 2.08 ล้านคน เช่นเดียวกับครัวเรือนยากจนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มจาก 6.4 แสนครัวเรือนในปี 2558 เป็น 8.71 แสนครัวเรือนในปี 2559 หรือคิดเป็นจำนวนคนยากจน 3.73 ล้านคน” รายงานสศช.ระบุ
ในขณะที่คนยากจนกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ โดยพบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และน่าน (อ่านประกอบ : สภาพัฒน์ฯ แนะจับตาเทรนด์ใหม่อุตฯใช้เครื่องจักรแทนคน ขณะที่ “หนี้สินเสียผ่อนบ้าน” เริ่มทะยาน)
เส้นความยากจน สัดส่วนคนจน และจำนวนคนจน ตั้งแต่ปี 2531-2559
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจำนวน “คนจน” และ “ผู้ที่เกือบจน” ในปี 2559 พบว่ามีจำนวนรวมกัน 11.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.2% ของประชากร ซึ่งสศช.มองว่าตัวเลขคนยากจนและผู้ที่เกือบจนมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยเฉพาะผู้ที่เกือบจนหรือกลุ่มที่เปราะบาง มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5.63 ล้านคนในปี 2558 เป็น 5.79 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งภาครัฐควรเฝ้าระวังและมีมาตรการออกมาให้ความช่วยเหลือ
ส่วนสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในประเทศไทย สศช.พบว่าในปี 2559 กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุดที่ระดับ 8.18 เท่า ลดลงจากปี 2558 ที่ทั้งสองกลุ่มมีรายได้ต่างกัน 15.96 เท่า ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายระหว่างกลุ่มคนรวยสุดและกลุ่มจนสุด พบว่ายังมีแตกต่างกันสูงถึง 9.4 เท่า แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ของประชากรจะลดลง แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาสถานการณ์รายได้ของประชากร โดยสศช.ได้ใช้ฐานข้อมูลปี 2558 พบว่าประชากร 26.9 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 40% ของประชากรทั้งประเทศ มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อเดือนเท่านั้น แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 3,173 บาทต่อเดือนแต่ไม่เกิน 5,344 บาทต่อเดือน จำนวน 16.5 ล้านคน 2.กลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 2,644 บาทต่อเดือน แต่ไม่เกิน 3,173 บาทต่อเดือน มีจำนวน 5.6 ล้านคน และ3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 2,644 บาทต่อเดือน มีจำนวน 4.8 ล้านคน
“กลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดของประเทศ หรือ 26.9 ล้านคน มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่อย่างน้อย 300 บาทต่อวัน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบ มีงานทำไม่แน่นอน ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อยู่ในภาคเกษตร และกลุ่มแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง”รายงานระบุ
ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศหรือจำนวน 39.4 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,536 บาทต่อเดือน ส่วนกลุ่มที่มีรายได้เกิน 53,342 ต่อเดือนขึ้นไปมีจำนวนเพียง 6.7 แสนคนเท่านั้น
เกณฑ์รายได้สูงสุดของกลุ่มประชากร ปี 2558
อย่างไรก็ตาม สศช.มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยพุ่งเป้าที่ประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดของประเทศ เช่น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุข การทำให้แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามความสามารถ ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งตนเองได้และมีสิทธิจัดสรรทุนที่ดินและทรัพยากรในชุมชน และเร่งวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลการให้สวัสดิการของรัฐ เพื่อให้การช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อน และตรงกับปัญหาของแต่ละคน เป็นต้น
ด้านนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่าง 'ดร.นณริฏ พิศลยบุตร' นักวิชาการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาปัญหาความยากจนและจำนวนคนจนในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนคนยากจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 32,000 บาทต่อปี มีเพียง 4-5 ล้านคนเท่านั้น แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากกว่ากลับเป็นประเด็นความเหลี่อมล้ำด้านรายได้ในสังคมไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีคนรวยเป็นเจ้าของ เปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557-ไตรมาสที่สองของปี 2560 กลุ่มคนรวยที่เป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหุ้นมีผลตอบแทนสูงถึง 3.5-5% ต่อปี เมื่อเทียบกับจีดีพีที่เติบโตติดลบ0.4%-3.7% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารายได้ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย โดยเฉพาะคนรวยที่เป็นเจ้าของบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม SET100
“ความสุขและรายได้ของประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศรายได้เฉลี่ยไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก”ดร.นณริฏกล่าว
Figure 3: GDP Growth and ROA (Return on Asset)
ดร.นณริฏ ยังระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวย 1% ของประเทศ ถือครองทรัพย์สิน 58% และกลุ่มคนรวยเหล่านี้มีอำนาจมากในการแทรกแซงการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งสุดท้ายจะเอื้อประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มคนรวยเหล่านี้ เช่น กรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังไม่สามารถผ่านจากความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้ได้ ก็เพราะเป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนรวย
ดร.นณริฏ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังอยู่ในระดับที่สูง เป็นเพราะรัฐบาลที่ผ่านมาๆ ไม่มีสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เอง แม้ว่าจะมีโครงการที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เช่นการใช้ “บริษัทประชารัฐรักสามัคคี” ที่มีภาคเอกชนเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่างๆ แต่พบว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนโครงการกลับไม่มีผลเป็นรูปธรรมนัก
“การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องใช้วิธีการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่การสั่งการแบบรวมศูนย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายๆรัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจให้ชุมชนมาช่วยกันแก้ปัญหาของตัวเองก็จริง แต่ก็มีปัญหาตรงที่งบประมาณที่ลงไปมีน้อย และให้อำนาจในการจัดการแก่ชุมชนน้อยเกินไป มาตอนนี้เราก็มีรัฐบาลที่สั่งการแบบรวมศูนย์อีก ก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำยากขึ้นอีก”ดร.นณริฏกล่าว
ดร.นณริฏ เสนอว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาความยากจน น่าจะใช้โมเดลของประเทศจีนเป็นแบบ เพราะจีนเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนโดยมุ่งแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล เพราะสาเหตุความยากจนของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยส่งคน 2 ล้านคนเข้าไปติดตามกลุ่มคนที่ยากจน ตั้งแต่การเข้าไปสำรวจสาเหตุที่ทำให้ยากจน เช่น พ่อแม่แก่แล้ว ลูกพิการ หรือผลิตสินค้ามาแล้วขายไม่ได้ จากนั้นก็มีแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะราย ต่างจากประเทศไทยที่แม้ว่าจะมีเก็บข้อมูลคนยากจนก็จริง แต่เป็นการสำรวจทางสถิติ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 4-5 หมื่นคนแล้วนำมากำหนดนโยบาย ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
“แม้กระทั่งการที่รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนคนยากจนก็มีจุดอ่อนอยู่ เพราะจากข้อมูลจะพบว่ามีคนจนอย่างมาก 5 ล้านคน แต่กลายเป็นว่ามีคนมาลงทะเบียนคนจนถึง 14 ล้านคน ในขณะที่การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ต้องจัดการในระยะยาว ทั้งเรื่องการพัฒนาการศึกษา การสร้างอาชีพ และการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะต้องลดอำนาจของกลุ่มคนรวย 1% ที่มีเส้นสายหรือได้สิทธิประโยชน์ผูกขาดทางเศรษฐกิจจากภาครัฐ ให้กลับเข้าสู่ระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมด้วย” ดร.นณริฏกล่าวในตอนท้าย
ในขณะที่รัฐบาลคสช.ยังต้องพึ่งพากลุ่มทุนขนาดใหญ่หรือกลุ่มคนรวยเพียง 1% เพื่อรักษาฐานอำนาจให้มั่นคงอย่างที่เป็นอยู่นี้ ทำให้การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
ทั้งหมดนี่ คือ สถานการณ์คนจนล่าสุด ภายใต้ยุคการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ที่ก้าวเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศใหม่ เวลาผ่านมา 2-3 ปี แล้ว
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 14 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.