คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ขุนพินิจ
การสร้างเนื้อสร้างตัวทำธุรกิจของคนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะเกษตรกรในทุกวันนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคเงื่อนไขนานัปการ จึงยากที่จะเติบโตขึ้นมาแข่งขันได้ภายใต้กฎระบบ ระเบียบล้าสมัยที่มัดแน่นอยู่
ความยากดังว่าเริ่มต้นกันตั้งแต่การก่อตั้งกิจการในรูปแบบนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ซึ่งจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรในหลาย ๆ ด้านทั้งที่ดิน ทุน แรงงาน องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ การผลิต และการตลาดในยุคโซเชียลที่เปลี่ยนเทรนด์ไปอย่างรวดเร็ว แต่คนรากหญ้าก็ยังขาดโอกาสในสิ่งเหล่านี้
ดังนั้นแค่คิดจะทำมาค้าขาย หรือตั้งกิจการขยับฐานะจากเกษตรกรมาเป็นพ่อค้า แม่ค้า ประตูแห่งโอกาสก็ตีบตันเสียแล้ว
โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะที่ดิน ส.ป.ก.ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ไม่ได้ แม้ว่าจะครอบครองถูกต้องตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดินทุกประการก็ตาม เนื่องจากไปขัดกับระเบียบของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน ที่จะต้องมีหลักทรัพย์ที่มั่นคงไปการันตีขอกู้เงินมาลงทุน
โดยมีกรณีตัวอย่าง คือ กลุ่มเกษตรกรใจสู้หลายแห่งในภาคอีสาน ได้พยายามปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำซ้ำซาก โดยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อแปรรูปวัตถุดิบและรักษาสิ่งแวดล้อม หวังที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในชุมชน ไม่ใช่ขายแต่วัตถุดิบต้นน้ำ โดยรวบรวมสมาชิกในกลุ่มได้มากกว่า 200 ครอบครัว เรียกได้ว่ามีส่วนร่วมดูแล สร้างรายได้ให้ผู้คนในชุมชนดังกล่าวประมาณ 500-600 คน
ที่ผ่านมากิจการมีความเติบโต และได้รับรางวัลระดับประเทศหลายประเภท อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน แต่ก็ยังขาดเงินทุน และสภาพคล่องอยู่พอสมควร เพราะกลุ่มใหญ่ขึ้นต้องเปิดรับซื้อผลผลิตมาแปรรูปทุกวัน พร้อมทั้งจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งต้องใช้เงินทุนและนวัตกรรมใหม่ ๆ
เมื่อรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่สถาบันเกษตรกร และเอสเอ็มอีออกมา จึงได้ทำโครงการยื่นกู้ไปที่ธนาคารของรัฐ เรียกได้ว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจก็ทำครบครันหมดแล้ว แต่ติดปัญหาว่า สถานที่ผลิตตั้งอยู่บนที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งสถาบันการเงินระบุว่าจะต้องไปขออนุญาตจาก ส.ป.ก.มาก่อนจึงจะยื่นกู้ได้
ทั้งนี้หลักฐานการยื่นคำขอใช้ที่ดิน ส.ป.ก.มีประมาณ 10 ข้อใหญ่ แต่ประเด็นไฮไลต์ก็คือ กรณีผู้ขออนุญาตเป็นนิติบุคคลให้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแสดงการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งออกให้ไม่เกิน 6 เดือนพร้อมทั้งวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
ให้ส่งแผนงาน/โครงการ ประกอบไปด้วย ประเภทของกิจการ ประเภทของสิทธิที่ขอรับอนุญาต ทุนที่ใช้ดำเนินงานของโครงการ
รวมทั้งแผนการเพิ่มทุนในอนาคต ลักษณะของการดำเนินงานของโครงการโดยระบุลักษณะการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน แนวทางการบริหารและการจัดการโครงการ
รวมถึงผลตอบแทนโครงการ ระยะเวลาที่จะคืนทุนของโครงการ และเครื่องชี้วัดอื่น ๆ ที่แสดงโอกาสความสัมฤทธิผลของการประกอบกิจการ ประโยชน์ที่คาดว่าเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และ ส.ป.ก.จะได้รับ และให้ส่งแผนผังแบบแปลนการก่อสร้าง/แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งมาตราส่วน 1 : 4,000 สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบการ
เงื่อนไขสำคัญสุดท้ายก็คือ จะต้องมี “หนังสือยินยอม หรือหนังสือสละสิทธิ์ที่ดิน”
กฎระเบียบนี้ทำให้ที่ดินหลุดมือไปจากเกษตรกร เปลี่ยนจาก “เจ้าของ” ที่ดิน มาเป็น “ผู้เช่า” ในทันที
คำถามก็คือว่าจะต้อง “ยอมสละที่ดิน” ที่รุ่นปู่ย่า ตายาย พ่อแม่บุกเบิกสร้างหลักปักฐานไว้ให้ลูกหลานไปหรือ ทั้ง ๆ ที่กิจการดังกล่าวก็ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ไม่ได้นำไปใช้ทำโรงแรม รีสอร์ตเหมือนเช่นพื้นที่อื่น ๆ
นอกจากนั้นยังจะต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามราคาประเมินที่ดินให้แก่ ส.ป.ก. และต้องทำประกันภัยไว้ หากเกิดเหตุขึ้นทั้งน้ำท่วม ไฟไหม้ ส.ป.ก.จะเป็นผู้รับประโยชน์เองทั้งหมดอีกด้วย
ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลที่บอกให้แปรรูป ๆ เพิ่มมูลค่าสินค้านั้น จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เพราะถูกทำหมันตั้งแต่แรกแล้ว
หากไม่ลงมือแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าแท้จริงเหล่านี้ กลุ่มคนฐานรากก็ไม่อาจก้าวฝ่ากับดักราคาพืชผลการเกษตรไปได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 7 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.