อย่างที่คนไทยรู้กันดีว่า เหตุการณ์ตุลาวิปโยค หรือ 6 ตุลา 2519 นั้นมีความรุนแรงและมีสาเหตุมาจากอะไร แต่ใครจะรู้บ้างว่าระหว่างนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวของมวลชนในกลุ่มต่างๆ อย่างมากมาย สั่งสมจนที่สุดก็เดือดทะลักออกมาเป็นเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519
กลุ่มหนึ่งที่คนไทยอาจนึกไม่ถึงคือ “การเคลื่อนไหวของชาวนา” ที่ได้ตื่นตัวตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2516 ซึ่ง เป็นผลสะเทือนมาจากปัญหาความทุกข์ยากที่มีมาช้านาน เนื่องจากโครงสร้างหลักของประเทศยังเป็นภาคชนบท เกษตรกรที่เป็นชาวนาชาวไร่มีมากถึง 80 % ของประชากร
แต่ปรากฏว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจน ปัญหาหลักคือชาวนาไม่มีที่นาทำกิน เพราะถูกเจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ขูดรีด และฉ้อโกงไป ข้าวก็ขายไม่ได้ราคา ชาวนาต้องตกอยู่ภายใต้วัฏจักรแห่งความยากจน
ดังนั้น เมื่อเกิดการต่อสู้ในกรณี 14 ตุลาฯแล้ว ฝ่ายนักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะ ก็ได้สร้างผลสะเทือนแก่ชนชั้นชาวนาอย่างมาก การร้องทุกข์ของชาวนาเพิ่มทวีขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีนิสิตนักศึกษาเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับรัฐบาล
จนในที่สุดเมื่อวันที่ มีนาคม พ.ศ. 2517 ชาวไร่ชาวนาจึงได้ตัดสินใจเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหา ชาวนาที่มาชุมนุมมีจำนวนหลายพันคน จากหลายจังหวัดในภาคกลาง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ อยุธยา นครปฐม สระบุรี
ชาวนาเหล่านี้มาชุมนุมที่สนามหลวงแล้วเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเสนอแก่รัฐบาล มีสาระสำคัญให้รัฐบาลจัดการให้ชาวนาขายข้าวได้ในตลาดโลก ให้ประกันราคาข้าวแก่ชาวนา ควบคุมการส่งออก ลดค่าพรีเมียมข้าว และควบคุมราคา น้ำมันเชื้อเพลิงและปุ๋ยให้ถูกลง ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์ รับข้อเสนอ และสัญญาว่าจะหาทางแก้ไข
ต่อมาในระยะปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2517 ชาวนาจาก 6 จังหวัด ได้มาร้องเรียนต่อรัฐบาลเป็นครั้งที่สอง เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินและที่นาที่ถูกโกงด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น ในวันที่ 4 มิถุนายน รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประกาศใช้มาตรา 17 ช่วยเหลือชาวนา และได้ตั้ง คณะกรรมการสอบสวนตามคำร้องขอของราษฎรต่อความเป็นธรรมในเรื่องหนี้สิน (ก.ส.ส.) โดยมีนายประกอบ หุตะสิงห์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับเรื่องร้องทุกข์ แต่ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาได้
ในที่สุดวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๗ ชาวนาจำนวนมากจากจังหวัดต่างๆ ก็ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯอีกครั้ง และก็ได้จัดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเช่นเคย โดยร้องเรียนต่อรัฐบาลว่า การมาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจะคืนบัตรประชาชน และลาออกจากการเป็นคนไทย
วันที่ 2 กันยายน ตัวแทนของชาวนาย้ำว่า ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะคืนบัตรประชาชน และจะประกาศตั้งเขตปลดปล่อยตนเอง ห้ามราชการเข้าเกี่ยวข้อง รัฐบาลได้ขู่ว่า ถ้าชาวนาทำเช่นนั้นจะโดนข้อหากบฏ แต่กระนั้น ตัวแทนชาวนาจาก 8 จังหวัดก็รวบรวมบัตรประชาชนมากกว่า 2,000 ใบเพื่อคืนให้แก่รัฐบาล
ต่อมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 ชาวนาก็ได้จัดการชุมนุมขึ้นอีกครั้งที่ท้องสนามหลวง และยื่นข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ชาวนาได้วางยุทธศาสตร์ว่า จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเป็นอันดับแรก และถ้าไม่ได้ผลจะถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัผรัชกาลที่ 9) รัฐบาลได้รับข้อเสนอ 6 ข้อ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือชาวนาอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดการเดินขบวนใหญ่ของชาวนาในวันที่ 29 พฤศจิกายน
จากนั้น ชาวนาก็ได้ข้อสรุปว่าการตั้งตัวแทนแต่ละจังหวัดนั้น มิได้มีอำนาจต่อรอง กับรัฐบาลอย่างแท้จริง จึงได้นำมาสู่การก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยใช้ชื่อว่า “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” โดยมี นายใช่ วังตะกู เป็นประธาน หรือวันนี้เมื่อ 43 ปีก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ ความเคลื่อนไหวของชาวนาไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยการเคลื่อนไหวของชาวนานั้น มีผลให้รัฐบาลต้องยอมปรับปรุงนโยบายหลายประการ เช่น การตราพระราชบัญญัติการเช่านา พ.ศ.2517การจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการตั้งสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ใน พ.ศ.2518 เพื่อหาทางตั้งโครงการปฏิรูปที่ดินแก้ปัญหาชาวนา
หรือ นโยบายของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ.2518 ที่ผันเงินไปสู่ชนบทเพื่อสร้างการจ้างงาน เป็นต้น แต่ปรากฏว่าในระยะต่อมา มาตรการเหล่านี้ก็กลายเป็นเพียงมาตรการในการผ่อนปัญหา ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถแก้ปัญหาให้กับชาวนาได้อย่างแท้จริงเลย
ที่สุดแม้นับแต่วันนั้น จนถึงปัจจุบันขณะนี้ รัฐบาลหลายยุคสมัย จะมีโครงการ หรือนโยบายต่างๆ ให้กับชาวนา ทั้ง โครงการประกันราคาข้าว โครงการรับจำนำข้าว แต่ดูเหมือนว่า ชาวนาไทยจะยังวนเวียนอยู่กับความยากจนซ้ำซาก เหมือนว่ามันจะไม่มีวันที่ชาวนาจะได้ลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง…
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.2519.net/newsite/
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 6 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.