เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
30 พฤศจิกายน 2560
1. มาตรา 16 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หรือ ‘กฎหมายแร่ 2560’ กำหนดให้ต้องมีฐานข้อมูล 5 ด้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ตามมาตรา 12 (1) ดังนี้
(1) พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองของประเทศ(2) การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่(3) การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจำกัด(4) ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว (จากข้อ (2) และ (3)) เพื่อการทำเหมืองในภาพรวมให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง(5) ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
คำถาม ‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ที่ คนร. กำลังดำเนินการจัดทำอยู่ในขณะนี้ มีฐานข้อมูล 5 ด้านดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร ?
2. มาตรา 17 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ 2560 กำหนดให้ คนร. จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้(1) การสำรวจทรัพยากรแร่(2) แหล่งแร่สำรอง
(3) การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่
(4) พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้
(5) พื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง (คำที่ขีดเส้นใต้น่าจะมีความหมายตรงกับ Mining zone)
คำถาม
หนึ่ง_มีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข หรือกำหนดนิยามในการจำแนกแยกแยะความหมายที่แตกต่างกันระหว่างข้อ (4) กับข้อ (5) ไว้อย่างไร ?
สอง_มีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข หรือกำหนดนิยามในการจำแนกแยกแยะความหมายของ ‘แหล่งแร่อุดมสมบูรณ์’ และ ‘แหล่งแร่มูลค่าทางเศรษฐกิจสูง’ ไว้อย่างไร ?
สาม_‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ มีการจำแนกแยกแยะรายละเอียดตาม 5 ข้อนี้หรือไม่ อย่างไร ?
3. ตามกฎหมายแร่ 2560 ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่จะต้องไม่เป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ กล่าวคือ พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคง แห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม
คำถาม ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ใน ‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ทับซ้อนพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ อย่างไร ?
4. มาตรา 19 วรรคแรก ของกฎหมายแร่ 2560 กำหนดให้การอนุญาตทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามมาตรา 17 วรรคแรกเสียก่อน “เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่ การอนุญาตให้ทําเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กําหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ และในกรณีที่แหล่งแร่ใดมีศักยภาพในการพัฒนา แต่เทคโนโลยีที่จะใช้ในการทําเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนยังไม่เหมาะสม ให้สงวนแหล่งแร่นั้นไว้จนกว่าจะมีเทคโนโลยี และมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสม ในกรณีการทําเหมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสูง ในการอนุญาตต้องกําหนดให้มีการจัดทําแนวพื้นที่กันชนการทําเหมือง และจัดทําข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย”
ประเด็น
หนึ่ง_ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นสาเหตุที่ คนร. พยายามเร่งรัดจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ให้เสร็จโดยเร็วเพื่อจะได้ทำให้บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ 2510 เปลี่ยนเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามมาตรา 189 ของกฎหมายแร่ 2560
สอง_เหตุที่บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ 2510 ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามกฎหมายแร่ 2560 โดยอัตโนมัติ ก็เพราะว่าถูกล็อคไว้สองชั้น ดังนี้ ชั้นแรก_มาตรา 189 ของกฎหมายแร่ 2560 บังคับให้บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ 2510 ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ 2560 เสียก่อน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่สำคัญมากก็คือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคแรก และชั้นที่สอง_มาตรา 188 ของกฎหมายแร่ 2560 บังคับเช่นเดียวกับมาตรา 189 คือให้ถือว่าบรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎหมายแร่ 2560 ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอตามกฎหมายแร่ 2560 แต่ให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแร่ 2560 เสียก่อน ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่สำคัญมากในมาตรา 19 วรรคแรก นั่นเอง
5. ต่อเนื่องจาก ข้อ 4. ในมาตรา 19 วรรคสองที่ระบุว่า “ภายใต้บังคับวรรคหนึ่ง ให้ คนร. มีอํานาจประกาศกําหนดให้การอนุญาตและการกําหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการออกประทานบัตรให้ทําเหมืองในพื้นที่และชนิดแร่ใดต้องได้รับความเห็นชอบจาก คนร. ก่อนการอนุญาต เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทําเหมือง มาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบสะสมต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน”
คำถาม คนร. ได้จัดทำ ‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ โดยกำหนดเงื่อนไขในการออกประทานบัตรให้ทำเหมืองในพื้นที่และชนิดแร่ใดต้องได้รับความเห็นชอบจาก คนร. ก่อนหรือไม่ อย่างไร ?
ถ้าไม่กำหนด เพราะอะไรถึงไม่กำหนด ?
ประเด็น โปรดดูข้อ 6. และข้อ 7. ที่ คนร. นำบทบัญญัติในมาตรา 19 วรรคสองมาใช้สำหรับแร่หลายชนิด รวมทั้งทองคำด้วย ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในวาระเริ่มแรก โดยละเว้นไม่ปฎิบัติตามกฎหมายแร่ 2560 ให้ครบถ้วน
6. ‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ หน้า 45 ข้อ 3) ที่ระบุว่า “กำหนดให้บรรดาพื้นที่ตามอาชญาบัตรและประทานบัตรที่ได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในวาระเริ่มแรก (ตามมาตรา 189 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560)”
ข้อ 4) ที่ระบุว่า “กำหนดให้บรรดาพื้นที่ตามคำขอต่ออายุประทานบัตรและคำขอประทานบัตรท่ีได้ยื่น ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในวาระเริ่มแรก (ตามมาตรา 188 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560)”
ข้อ 5) ที่ระบุว่า “กำหนดให้พื้นท่ีแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ประกาศก่อนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในวาระเริ่มแรก”
และข้อ 6) ที่ระบุว่า “กำหนดให้พื้นที่ประกาศกำหนดพื้นที่เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ที่ออกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ท่ีใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันท่ีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ยกเว้นพื้นท่ีประกาศที่กำหนดในพื้นท่ีตามมาตรา 17 วรรคสี่ เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือท่ีมีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นชนิดแร่เป้าหมายของการประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง กรณีหากผลสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือตามนโยบายของรัฐบาล โดยต้องเสนอให้คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติมอบหมาย พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นกรณีไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนด และเสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ” นั้นโดยรวมทั้งสี่ข้อก็เพื่อต้องการให้ (1) บรรดาพื้นที่ตามอาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่และประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ ที่ออกให้ก่อนวันที่กฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ (2) คำขอต่ออายุประทานบัตรและคำขอประทานบัตรชนิดแร่ต่าง ๆ ที่ได้ยื่นก่อนวันที่กฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ (3) แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง (รวมแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อกิจการปูนซีเมนต์ด้วย) ที่ประกาศไว้แล้วก่อนวันที่กฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ และ (4) พื้นที่ที่มีแร่โพแทชและเกลือหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประกาศไว้แล้วก่อนวันที่กฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ ให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกนั้น น่าจะเป็นการร่างยุทธศาสตร์และแผนแม่บทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ 2560 หรือเป็นการร่างยุทธศาสตร์และแผนแม่บทที่มีเนื้อหาเกินไปกว่าบทบัญญัติในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังนี้หนึ่ง_ถ้าอาชญาบัตร ประทานบัตร ใบอนุญาต หรือคำขออื่นใดที่ได้ออกให้ตามกฎหมายแร่ 2510 ก่อนที่กฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ อยู่ในพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ก็ยังจะถูกยกเว้นเช่นนั้นหรือ ?สอง_ตามมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 188 และมาตรา 189 ของกฎหมายแร่ 2560 ได้ระบุไว้ชัดว่า ไม่สามารถปล่อยให้พื้นที่ตามข้อ 3) ถึงข้อ 6) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกได้ เพราะต้องพิจารณาว่าเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองจะต้องไม่ทับลงไปบนพื้นที่อ่อนไหวหรือพื้นที่หวงห้ามที่ห้ามทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรคสี่ หรือไม่ อย่างไร เสียก่อนสาม_เหตุผลของการมีข้อ 3) ถึง ข้อ 6) ในหน้า 45 ของ ‘(ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ก็เพราะ คนร. มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการเปิดทางให้พื้นที่ตามข้อ 3) ถึงข้อ 6) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกได้โดยละเว้นหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่ มาตรา 19 วรรคแรก มาตรา 188 และมาตรา 189 ของกฎหมายแร่ 2560
ประเด็น
หนึ่ง_ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ หลายบริเวณของพื้นที่ตามข้อ 3) ถึงข้อ 6) เป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพื้นที่อ่อนไหวและหวงห้ามที่ห้ามทำเหมืองแร่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ของกฎหมายแร่ 2560 แต่ คนร. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสภาการเหมืองแร่พยายามปกปิดและไม่ต้องการให้ถูกรื้อใหม่เพื่อให้เข้ากฎเกณฑ์ตามกฎหมายแร่ 2560 เพราะเกรงว่าจะถูกงดเว้นการทำเหมืองในหลายบริเวณของพื้นที่เหล่านั้นสอง_ต้องรื้อพื้นที่ตามข้อ 3) ถึงข้อ 6) เพื่อกันบริเวณที่ทับซ้อนกับพื้นที่อ่อนไหวและหวงห้ามที่ห้ามทำเหมืองแร่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ของกฎหมายแร่ 2560 ออกมา
7. ในระหว่างที่ คนร. กำลังร่าง ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ตามกฎหมายแร่ 2560 อยู่ในขณะนี้ (ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ยุทธศาสตร์ฯและแผนแม่บทฯดังกล่าวก็ยังคงมีสถานะเป็น ‘ร่าง’ อยู่) แต่ในขณะเดียวกัน กพร. ได้ดำเนินการสองเรื่อง คือ หนึ่ง_ออก ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ’ ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน 2560 เพื่อเปิดทางให้เหมืองทองคำที่ถูกสั่งปิดและฟื้นฟูตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 กลับมาเปิดใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง สอง_ทำหนังสือถึงประธานกรรมการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของ Kingsgate Consolidated เจ้าของเหมืองทองคำชาตรีและชาตรีเหนือในเขตรอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ (หนังสือ กพร. ด่วนที่สุด ที่ อก 0502/ว 4763 ลงวันที่ 12 กันยายน 2560) เพื่อแจ้งมติ คนร. และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวแก่อัคราฯ โดยให้อัคราฯที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อทำเหมืองทองคำกลับมาประกอบกิจการได้
ประเด็น
หนึ่ง_แร่ทุกชนิด (ไม่ยกเว้นแม้แต่แร่ทองคำ) จะต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามกฎหมายแร่ 2560 ซึ่งต้องคำนึงถึงเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดอยู่ในมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่ มาตรา 19 วรรคแรก มาตรา 188 และมาตรา 189 เสียก่อน จะมาอ้างว่าได้รับอนุญาตจาก คนร. ตามมาตรา 19 วรรคสองแล้ว โดยละเว้นไม่พิจารณาตามมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่ มาตรา 19 วรรคแรก มาตรา 188 และมาตรา 189 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ต้องดำเนินการก่อนมาตรา 19 วรรคสอง ไม่ได้
หมายความว่า ในขณะที่ ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ยังคงเป็น ‘ร่าง’ อยู่ แล้ว ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ’ กลับถูกแยกส่วนเป็นประกาศออกมาใช้ก่อนได้อย่างไร ?
สอง-คนร. ต้องกำหนด ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ สำหรับแร่ทองคำให้เป็นไปตาม ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ที่ต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นตามมาตรา 12 (1) มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 19 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 188 และมาตรา 189 วรรคแรก เสียก่อน แต่ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ยุทธศาสตร์ฯและแผนแม่บทฯดังกล่าวยังคงเป็น ‘ร่าง’ อยู่
สาม_คนร. กพร. และสภาการเหมืองแร่รวมหัวกันผลักดันให้เหมืองทองคำที่ถูกสั่งปิดโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2560 กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการปลดล็อคให้อัคราฯที่ฟ้องรัฐบาล คสช. เรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาทตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย
ด้วยเหตุเพราะกลัวแพ้คดี จึงต้องออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นการออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ 2560 เพราะไม่อยู่ภายใต้ ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ที่ยังคงเป็น ‘ร่าง’ อยู่ในขณะนี้
สี่_ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลังจากที่ กพร. ออกประกาศกระทรวงฯฉบับดังกล่าวเพื่อหวังให้อัคราฯกลับมาประกอบกิจการเหมืองทองคำใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องหยุดไปจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 แต่อัคราฯก็ยังไม่สามารถกลับมาประกอบกิจการได้ เพราะยังติดเงื่อนไขของมาตรา 17 วรรคสี่ และมาตรา 19 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 188 และมาตรา 189 ที่ระบุไว้ชัดว่าการอนุญาตให้ทําเหมืองจะต้องไม่ทับพื้นที่อ่อนไหวและพื้นที่หวงห้าม และให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กําหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง’ เสียก่อน
หมายความว่า ตราบใดที่ยังจัดทำ ‘ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564’ ไม่แล้วเสร็จ ตราบนั้นพื้นที่ประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของอัคราฯที่ออกให้ตามกฎหมายแร่ 2510 ก่อนกฎหมายแร่ 2560 มีผลใช้บังคับ ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพื้นที่ประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำตามกฎหมายแร่ 2560
ซึ่งต้องตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ว่าเป็นข้อเท็จจริงเพียงใด เพราะชาวบ้านในละแวกรอบเหมืองได้ยินเสียงเครื่องจักรกลหนักทำงานทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนอยู่ในขณะนี้
ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ธ.ค. 2560
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.